บ้านทรงสามเหลี่ยมหลังเล็กๆ ท่ามกลางพื้นที่โล่ง ห่างจากมหาลัยวาเกนนิงเกน (Wageningen University) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นที่พักของ โรบิน โรเซนดาห์ล (Robin Rosendahl) และอแมนดา ไครจส์แทน (Amanda Krijgsman) คู่รักนักศึกษาปริญญาโทจากคณะบริหารจัดการผืนดินและน้ำนานาชาติ (International Land and Water Management)
ความเป็นมาของบ้านหน้าตาเอาท์สแตนดิ้งเริ่มต้นขึ้นในปี 2015 เมื่อผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคน เดินทางมายังประเทศเล็กๆ และพวกเขาต่างต้องการที่พักอาศัย ด้านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงหาหนทางแก้วิกฤตดังกล่าวด้วยการเปิดตัวการแข่งขันด้านการออกแบบที่ชื่อว่า ‘A Home Away From Home’ โดยให้สถาปนิกผู้เข้าร่วมโครงการมาออกแบบบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัย
กระท่อมเล็กๆ ทรงสามเหลี่ยมเป็นแบบบ้านคอนเซ็ปต์น่ารักๆ ที่ชนะการประกวด ส่งผลให้บ้านเลขที่ 72 ในเมืองวาเกนนิงเกน กลายเป็นโปรโตไทป์บ้านพักอาศัยราคาประหยัด สร้างเสร็จเร็วภายใน 1 วัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยร่วมจัดแสดงในเทศกาลดัตช์ ดีไซน์ วีค (Dutch Design Week) ในเมืองอัมสเตอร์ดัมเมื่อปี 2016 มาแล้ว
ตัวบ้านโดดเด่นด้วยการติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์บนหลังคาเอียงทำมุม 45 องศา ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้ในได้มากเกินกว่าความจำเป็น นอกจากจะลดรายจ่ายแล้ว ขณะเดียวกันมันยังสามารถสร้างรายได้ให้ผู้อยู่อาศัยด้วย หากเกิดการขายไฟฟ้ากลับสู่ชุมชน
โครงสร้างบ้านเป็นไม้ 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ 32 ตาราเมตร หน้ากว้าง 3.5 เมตร ยาว 9 เมตร ออกแบบพื้นที่อย่างชาญฉลาด สามารถถอดประกอบ เคลื่อนย้าย ทำให้เหมาะทั้งการอยู่อาศัยชั่วคราว และถาวร โดยบริเวณชั้นล่างแบ่งเป็นห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องน้ำสำเร็จรูป ส่วนชั้นบนออกแบบเป็นห้องนอน พร้อมด้วยหน้าต่างบานใหญ่มองเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติรอบนอกได้ชัดเจน
โรบินกับอแมนด้าอาศัยในโปรโตไทป์ทรงสามเหลี่ยมมานานเกือบ 2 ปี หลังจากพวกเขาสมัครเข้ารับการคัดเลือก และแนะนำตัวเองกับบริษัทผู้ผลิตบ้านหลังดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทั้งคู่คาดการณ์เหตุผลของการถูกเลือกว่า “อาจเป็นเพราะพวกเราอาศัยอยู่ด้วยกัน 2 คน และบ้านหลังนี้ก็เหมาะกับการอยู่ 2 คนมากกว่าคนเดียว”
เหตุผลที่บ้านต้องเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม เนื่องจากความชันของการติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์เป็นสิ่งที่ทางผู้ผลิตคำนวณมาแล้วว่า มันสามารถรับแสงอาทิตย์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ดีเยี่ยม
“มันเป็นเหมือนการทดลอง ตอนย้ายเข้ามาอยู่ช่วงปีแรก พวกเราต่างมีข้าวของส่วนตัวกันเยอะมากๆ เลยต้องพยายามมองหาพื้นที่เก็บ ทำให้ต้องตกแต่งบ้านเพิ่มเติม เช่น ชั้นวางหนังสือ ชั้นวางรองเท้า ซึ่งมันถือเป็นประสบการณ์อันยอดเยี่ยม
“แล้วพอเข้าสู่ช่วงปีสองพวกเราพบว่า ไม่สามารถซื้อสิ่งของที่ชอบได้อีกแล้ว (หัวเราะ) เนื่องจากไม่มีพื้นที่จะวาง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดีมากหากคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน เพราะตอนนี้เวลาจะซื้ออะไรสักอย่างเราก็ต้องคิดกันเยอะมากยิ่งขึ้น” อะแมนด้าเล่า
นอกจากบ้านจะตอบโจทย์เทรนด์การออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืน ไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย โดยในบ้านจัดการคัดแยกกันแบบละเอียดสุดๆ ตั้งแต่เปลือกผัก ผลไม้ ตอนทำกับข้าว แพคเกจจิิ้ง ถุงพลาสติก กระดาษ แล้วค่อยหอบไปทิ้งตอนเช้า
โรบินเสริมว่า จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่คนในเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ทำกัน โดยรัฐบาลส่งเสริมเรื่องการคักแยกขยะ และการรีไซเคิล ซึ่งการคัดแยกขยะจะแบ่งออกเป็น 4 ชนิดคือ กระดาษ พลาสติก ขยะทั่วไป และขยะออร์แกนิก
“สำหรับฉัน ฉันคิดว่ามันเป็นหน้าที่ และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคอยดูแลสิ่งแวดล้อม ตอนอยู่เมืองไทยมันเป็นคัลเจอร์ช็อกครั้งใหญ่ของฉันเลยนะ เมื่อเห็นว่าคนไทยไม่แยกขยะกันเลย” อะแมนด้าเน้นย้ำ มากไปกว่านั้น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งคู่เลือกใช้จักรยานเป็นพาหนะช่วยเรื่องเดินทางไปมหา'ลัย ซึ่งใช้เวลาปั่นประมาณ 15 นาที
ส่วนประเด็นค่าใช้จ่ายคู่รักเล่าว่า ช่วงปีแรกพวกเขาอยู่ฟรี ส่วนปีต่อต้องเสียค่าใช้จ่ายร่วมทุกอย่างแล้ว 400 ยูโร หรือประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับการเช่าคอนโดสูงๆ ย่านรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าถูกกว่ากันเยอะมาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นนักศึกษาปริญญาโท และสนใจประเด็นในประเทศไทย ทำให้เมื่อปีก่อนทั้งคู่มีโอกาสเดินทางมาเก็บข้อมูลทำธีสิสในประเทศไทยเป็นเวลานาน 3 เดือน โดยเลือกเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ย่านสามเสน สนนราคาค่าเช่าหมื่นกว่าบาทต่อเดือนเป็นที่พัก
“ค่าเช่าบ้านถือว่าถูกมากๆ เมื่อเทียบกับการเช่าห้องพักทั่วไปในเนอเธอร์แลนด์ ซึ่งราคาตกอยู่ประมาณ 300-350 ยูโรต่อเดือน ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบกับการเช่าคอนโดราคาสูงๆ ในกรุงเทพฯ เราก็คงสู้ไม่ไหว เพราะพวกเรายังเป็นนักศึกษา ยังไม่มีเงินเดือน
“จริงๆ แล้วทางผู้ผลิตก็ต้องการขายบ้าน แต่ยังไม่มีคนสนใจ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์มีข้อกฎหมายเยอะมากเกี่ยวกับการสร้างบ้าน นั่นอาจกลายเป็นเรื่องยากของคนอยากสร้างบ้านเอง บวกกับเรื่องการจัดการที่ดินในเนอเธอร์แลนด์ ซึ่งต้องเป็นที่ดินเฉพาะอยู่อาศัยเท่านั้นถึงจะสร้างบ้านได้ และถ้ามันยิ่งใกล้เมืองมากเท่าไหร่ ราคาก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ” โรบินกล่าว
ทั้งคู่ให้ข้อมูลเสริมว่า ผู้ผลิตกำหนดราคาขายบ้านทรงสามเหลี่ยมไว้ที่ 70,000 ยูโร หรือประมาณ 2,613,788 บาท ซึ่งเป็นราคารวมแผงโซลาร์เซลล์แล้วด้วย
ต้องยอมรับว่า กระท่องเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาตินับเป็นการออกแบบที่น่าพอใจ เนื่องจากเป็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างสุดซึ้ง นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดของประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย