ไม่พบผลการค้นหา
ก.ล.ต.สหรัฐฯ ตั้งข้อหาฉ้อโกง สั่งปรับซีอีโอ 'เธรานอส' อดีตดาวรุ่งธุรกิจสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีการแพทย์ รวมถึงต้องคืนเงิน 18.9 ล้านดอลลาร์ให้ผู้ร่วมลงทุน หลังพบอุปกรณ์ตรวจเลือดเอนกประสงค์ที่อ้างจะผลิต ไม่มีคุณสมบัติตามกล่าวอ้าง

'เอลิซาเบ็ธ โฮล์มส์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเธรานอส (Theranos) ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ ตั้งข้อหาฉ้อโกงและสั่งปรับเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ สืบเนื่องโฮล์มส์หลอกลวงผู้ถือหุ้นให้ร่วมลงทุนในการผลิตอุปกรณ์ตรวจเลือดด้วยตัวเอง ซึ่งแอบอ้างว่าสามารถตรวจสุขภาพของผู้ใช้งานได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ใช้ตัวอย่างเลือดเพียงไม่กี่หยด และตรวจหาสัญญาณบ่งชี้โรคต่างๆ ได้ รวมถึงเบาหวานและมะเร็ง

อย่างไรก็ดี บริษัท เธรานอสก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 และเปิดระดมทุนในฐานะบริษัทสตาร์ทอัปหน้าใหม่ในซิลิคอนแวลลีย์สหรัฐฯ ซึ่งการระดมทุนประสบความสำเร็จ มีผู้สนใจร่วมลงทุนด้วยเป็นจำนวนมาก และนิตยสารฟอร์บสยกย่องโฮล์มส์เป็นมหาเศรษฐีอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ประสบความสำเร็จอย่างน่ายกย่องเมื่อปี 2557 โดยเธอเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 50 ในเธอรานอส ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน สื่อหลายแห่งเรียกเธอว่า 'สตีฟ จ็อบส์ คนต่อไป' ผู้วางรากฐานด้านธุรกิจเทคโนโลยีที่จะเติบโตได้อีกไกลในอนาคต

กระทั่งเดือน ต.ค. 2558 หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัล สื่อด้านธุรกิจของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานพิเศษวิเคราะห์ว่าอุปกรณ์ตรวจเลือดล้ำสมัยที่เธรานอสกล่าวอ้าง ไม่น่าจะผลิตได้จริง หากอาศัยเทคโนโลยีเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

ประกอบกับบทสัมภาษณ์อดีตพนักงานเธรานอสระบุว่าบริษัทใช้เทคโนโลยีการตรวจเลือดแบบเดียวกับที่ห้องแล็บและหน่วยงานการแพทย์ต่างๆ ใช้ในการเก็บตัวอย่างและประเมินผลตรวจเลือด ขัดแย้งกับคำแถลงของโฮล์มส์และราเมช บาลวานี ผู้ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร

THERANOS

(ก่อนที่บริษัทเธรานอสจะถูกตรวจสอบ โฮล์มส์ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุมเศรษฐกิจหลายครั้ง)

หลังจากวอลสตรีทเจอร์นัลเผยแพร่รายงานดังกล่าว สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และเธรานอสไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของอุปกรณ์ตรวจเลือด 'เอดิสัน' ที่อ้างว่ากำลังพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง ส่งผลให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของสหรัฐฯ สั่งระงับใบอนุญาตของศูนย์ปฏิบัติการเธรานอสที่ใช้เก็บตัวอย่างเลือดและตรวจผลเลือดในเดือน ก.ค. 2559 ส่งผลให้เธรานอสต้องปลดพนักงานกว่า 340 คน ในปีนั้น

การสั่งระงับใบอนุญาตทำให้ ก.ล.ต.สหรัฐฯ สั่งตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทอย่างจริงจัง และราเมช บาลวานี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งช่วงกลางปี 2559

ฟอร์บส์ปรับลดมูลค่าตลาดของบริษัทเหลือเพียง 0 ดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมานิตยสารฟอร์บส์ปรับผลประเมินมูลค่าตลาดของเธรานอสจาก 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 0 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เครือบริษัทและกองทุนที่เคยร่วมลงทุนประกาศถอนหุ้น และบางบริษัทตัดสินใจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเธรานอส 

การสอบสวนดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง ก.ล.ต.ตั้งข้อหาโฮล์มส์และบาลวานีด้วยข้อหา 'ฉ้อโกง' เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) พร้อมมีคำสั่งให้โฮล์มคืนเงิน 18.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเธอได้รับขณะดำรงตำแหน่งซีอีโอของเธรานอสให้แก่ผู้ร่วมลงทุน ทั้งยังสั่งห้ามโฮล์มส์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ หรือกรรมการผู้จัดการบริษัทมหาชนใดๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ส่วนขั้นตอนต่อไปคาดว่าจะเป็นการดำเนินการยึดทรัพย์และบังคับขายบริษัท โดยที่โฮล์มจะไม่ได้รับส่วนแบ่งใดๆ

กรณีของโฮล์มส์ทำให้สื่อสหรัฐฯ รายงานว่าธุรกิจสตาร์ทอัปอีกเป็นจำนวนมากสมควรถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง หลังจากที่มีการระดมทุนได้เงินเป็นจำนวนมหาศาล มิเช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยโฮล์มส์ขึ้นอีกได้

ทั้งนี้ โฮล์มส์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดที่เลิกเรียนกลางคันเพื่อออกมาตั้งบริษัทเธรานอสเมื่อปี 2546 ขณะมีอายุเพียง 19 ปี และการเสนอโครงการเพื่อผลิตอุปกรณ์ตรวจเลือดเอดิสันได้รับความสนใจจากสาธารณชนและกองทุนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นแรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง

นอกจากนี้ โฮล์มยังเป็นที่รู้จักในฐานะ 'ผู้หญิงเก่ง' ซึ่งรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองได้ดี ในฐานะผู้สนับสนุนสิทธิสตรี ทั้งยังแต่งกายด้วยเสื้อคอเต่าสีดำที่ดูสุภาพและเรียบง่ายจนเป็นเอกลักษณ์คล้ายคลึงกับ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลผู้ล่วงลับ รวมถึงเป็นผู้รณรงค์เรียกร้องสิทธิของประชาชนในการดูแลสุขภาพตัวเอง แต่เมื่อถูก ก.ล.ต.ตรวจสอบ โฮล์มก็เงียบหายจากงานกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ไป

ที่มา: Times/ABC News/CNN Money/LA Times