นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนภาคประชาชน เพื่อพิจารณาถึงปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเมืองไทย ว่า ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า กรมสรรพสามิต พร้อมเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเต็มที่ เพื่อให้การนำเข้ามาบริโภคในไทยเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย โดยตามหลักการแล้วภาษีของตัวบุหรี่ สามารถเก็บได้ในอัตราสูงสุด ที่เก็บอยู่ในปัจจุบันที่เก็บภาษีตามปริมาณมวนละ 1.20 บาท และตามมูลค่าขายปลีก 40% ส่วนตัวเครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเก็บภาษีได้อยู่ที่ประมาณ 30% ของราคาขายปลีก
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีบุหรี่ไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.บุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ยาสูบคล้ายบุหรี่ซิกาแรต เติมน้ำยาไม่ได้ สูบได้จำกัดครั้งแล้วต้องทิ้ง 2.บุหรี่ไฟฟ้าแบบเติมน้ำ มีตัวน้ำยาและเครื่องไฟฟ้าที่ใช้สูบ และ 3.บุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ยาสูบคล้ายบุหรี่ซิกาแรต ใช้นวัตกรรมให้ความร้อน ซึ่งมีตัวมวนยาสูบ และเครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า
โดยการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าประเภทที่ 1 และ 3 ทำได้ง่าย เพราะมีความชัดเจนเป็นมวน แต่สำหรับประเภทที่ 2 ที่เป็นแบบน้ำ อาจต้องให้หน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาช่วยดูว่าส่วนประกอบของน้ำผสมด้วยสารอะไรบ้าง เพื่อทำการเก็บภาษีให้ถูกต้อง รวมถึงต้องศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพด้วย
นายพชร กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าที่ทั่วโลกบริโภคอย่างถูกกฎหมาย โดยการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากทำให้ผู้บริโภคในประเทศไม่ผิดกฎหมายแล้ว ยังมีผลดีต่อการท่องเที่ยวด้วย เพราะที่ผ่านมาได้มีสถานทูตร้องเรียนเข้ามาที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรณีนักท่องเที่ยวถูกจับเพราะนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในไทย เนื่องจากชาวต่างชาติไม่รู้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายในไทย แตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ผิดกฎหมาย
"กรมสรรพสามิตพร้อมเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าที่ถูกต้อง เพราะถือว่าไม่ได้เป็นยาเสพติด แต่ยังติดกฎของกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้า และกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่อยากให้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดปัญหาทั้งผู้บริโภคในประเทศที่ลักลอบซื้อมาสูบอย่างไม่ถูกต้อง และกระทบกับนักท่องเที่ยวที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวัน" อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว
จ่อรีดภาษีของเค็ม-ไขมัน
นอกจากนี้ นายพชร ยังกล่าวด้วยว่า มีแผนปรับเปลี่ยนจากการเป็นกรมเก็บภาษีบาป สุรา ยาสูบ เป็น กรมที่เก็บภาษีที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยที่ผ่านมามีการเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่มีน้ำตาลมากและต่อไปจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบเก็บภาษีอาหารที่มีไขมันและความเค็มผสมอยู่ด้วย เพราะเป็นอีกต้นเหตุสำคัญในการทำลายสุขภาพ เบื้องต้นการเก็บภาษีไขมันและความเค็มในสินค้า จะยึดรูปแบบกับการเก็บภาษีความหวาน โดยมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว เช่น ให้เวลา 5 ปี ซึ่งหาก ผู้ประกอบการลดไขมันหรือความเค็มได้เลยจะได้อัตราภาษีลดลง.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :