นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ เชื่อว่าการย้ายพรรคการเมือง ของนักการเมืองที่เคยอยู่ฝั่งประชาธิปไตยเกิดจากการถูกบีบคั้น และมีความจำเป็นส่วนตัว จึงต้องละทิ้งสิ่งที่ทำอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา หรือลดความเดือดร้อน โดยเห็นว่า กระบวนการเหล่านี้ จะเป็นการคัดกรองคน เพราะบางส่วนก็เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วงหนึ่ง และเมื่อมาอีกช่วงหนึ่งก็อาจมีความคิดจิตใจที่เปลี่ยนไป แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องของการบีบคั้น
นอกจากนี้ยังเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง นักการเมือง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมืองที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ การที่ผู้มีอำนาจและ คสช. เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญออกแบบกติกา เพื่อทำลายพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมือง ทำให้อ่อนแอ และสืบทอดอำนาจต่อไป พร้อมตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมาในรัฐบาล และใช้วิธีการในทุกวิถีทาง ใช้วิธีการสารพัดวิชามาร เพื่อให้ได้นักการเมืองเข้าไปร่วมโดยไม่คำนึงว่านักการเมือง นั้นจะเป็นใครอย่างไร
ซึ่งเป็นผลให้ภาพของพรรคการเมืองระบบพรรคการเมืองเสียหาย เป็นเรื่องที่ทำการเมืองแบบย้อนยุค ขัดและตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ได้พูดว่าจะเข้ามาปฏิรูปการเมืองให้ระบบการเมืองดีขึ้น การเลือกตั้งดีขึ้น
"นี่จึงเป็นบทสรุปขั้นหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า คสช.กับพวก ได้ทำลาย ปู้ยี่ปู้ยำ ระบบการเมืองของประเทศไทยอย่างไร"
จนถึงวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุด เงื่อนไขตามกฎหมายหากจะสมัครสมาชิก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเห็นว่าการเมืองได้ถูกทำลายไป ทั้งก่อนการยึดอำนาจ และหลังการยึดอำนาจ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ต้องช่วยกันเพื่อคิดว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้ผู้มีอำนาจ ประสบความสำเร็จ ในการสืบทอดอำนาจด้วยวิธีการ ที่มาทำลายระบบการเมือง
นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีว่าจะไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะเข้าไปนั่งในบัญชีนายกฯ เลยนั้นว่า เป็นช่องทาง ที่ตัวนายกรัฐมนตรีต้องการจะดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งได้เขียนรัฐธรรมนูญไว้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นคนนอกก็ได้นั่นเอง
"เมื่อเข้ามาแล้ว เมื่อลุยโคลนก็ต้องเปื้อนโคลน หมายความว่า รวมเอานักการเมืองสารพัดแบบ เข้าไปรวมอยู่ด้วยกัน เพียงแต่หวังว่าจะให้เป็นพรรค เพื่อสนับสนุนตนเอง เป็นนายกฯ ตนเองก็จะต้องรับผิดชอบทางการเมือง จากนี้ไปพอปลดล็อค พอไม่มีมาตรา 44 เราก็จะได้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะทุลักทุเลขนาดไหน จะสึกหรอขนาดไหน อย่างรวดเร็ว "
เพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่ ตรงข้ามกับสิ่งที่โฆษณามาตลอด 4-5 ปี เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับที่พูดตลอด นายจาตุรนต์ เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นประชาชน จะให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล เพราะการเมืองไทยได้พัฒนามาไกล คนได้รู้จักพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองที่สร้างขึ้นมาในลักษณะเช่นนี้ประชาชนจะเห็นชัดว่าเมื่อเลือกพรรคการเมืองแบบนี้ประเทศก็จะเป็นอย่างที่เกิดขึ้นตลอด 4-5 ปี ทั้งนี้เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะถึงประชาชนจะแบ่งการตัดสินใจเป็น 2 ทาง คือฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์
ไม่หนักใจมี 4 คดี ที่เกิดจากการแสดงความเห็นทางการเมืองติดตัวในช่วงการเลือกตั้ง
นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความนายจาตุรนต์ เปิดเผยภายหลัง กระบวนการสืบพยานฝ่ายโจทก์ ในคดีที่นายจาตุรนต์ เป็นผู้ต้องหา กรณีขัดคำสั่งคสช. ฉบับที่ 41/2557 และได้ปาฐกถาพิเศษ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดยระบุว่า วันนี้เดินทางมาขอเลื่อน กระบวนการทางคดีออกไปเป็นวันที่ 29 พ.ค. 2562 เวลา 08.00 น.โดยชี้แจงต่อศาลว่า ในช่วงระหว่างการเลือกตั้งจะต้องมีภารกิจที่ต้องเร่งทำในหลายเรื่อง
ด้านนายจาตุรนต์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีคดีติดตัว จำนวน 4 คดีประกอบด้วย คดีที่ปาฐกถาพิเศษที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คดีที่ร่วมแถลงข่าวกับพรรคเพื่อไทย กรณี 4 ปีการทำงานของรัฐบาล คสช. ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการ โดยเป็นคดี ที่ถูกกล่าวหาว่าห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนและมีพฤติกรรมที่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
นอกจากนี้ยังมีที่นายจาตุรนต์ ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กรณีอายัดธุรกรรมทางการเงินเป็นเวลากว่า 4 ปี ซึ่งศาลปกครองได้รับไว้พิจารณาแล้ว
ขณะเดียวกันได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรณีการอายัดธุรกรรมทางการเงิน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่ง จะได้ชี้แจงสาระสำคัญให้ทราบต่อไป ทั้งหมดเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ มั่นใจว่า คดีความที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นภาระโดยเฉพาะในแง่ของจิตใจ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เชื่อว่าคดีที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่หนักใจ และจะตั้งใจสู้คดีต่อไป