นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รอยสักที่ผิวหนังอาจทำให้ผู้สักมีความพึงใจหลงใหล ในความสวยงามของสีสันและลวดลาย จนลืมไปว่ารอยสักนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งมีอันตราย เช่น อันตรายการแพ้สีที่ใช้ในการสัก เครื่องมือที่ใช้ไม่สะอาดเพียงพอ ตลอดจนการดูแลตนเองหลังจากการสัก เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ทั้งทางผิวหนังและระบบต่างๆ ของร่างกาย ภาวะแทรกซ้อนของการสักที่พบบ่อย คือ อาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส จากเข็มที่ไม่สะอาด/กระบวนการดูแลแผลหลังการสัก โดยเชื้อโรคที่พบบ่อย มีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบี/ซี เชื้อ HIV เป็นต้น
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเรื่องการติดเชื้อจากการสักพบมากขึ้น เนื่องจากมีความนิยมสักในตำแหน่งที่ผิวหนังบอบบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และดูแลแผลหลังการสักยุ่งยากมากขึ้น เช่น บริเวณริมฝีปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบผลข้างเคียงด้านอื่น อาทิ การเกิดแผลเป็นการเกิดก้อนแกรนูโลมาของผิวหนัง การติดเชื้อในกระแสเลือด
ก่อนตัดสินใจสักผิวหนังควรคำนึงถึงผลดีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการสัก รวมทั้งหาข้อมูลสถานประกอบการที่เชื่อถือได้ก่อนรับบริการ เพราะเมื่อสักผิวหนังไปแล้ว เกิดไม่ชอบใจรูปที่สักไว้ภายหลัง และต้องการลบรอยสักออกจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายอีกมาก โดยค่าใช้จ่ายสำหรับการลบรอยสักมากกว่าการสักหลายเท่า เช่น เราอาจจะเสียค่าสักเพียง 1,000 บาท แต่การลบรอยสักอาจเสียค่าใช้จ่ายแพงถึง 5,000-20,000 บาท การรักษาส่วนใหญ่ต้องทำหลายครั้งอย่างต่อเนื่องทำให้เสียเวลาเสียเงิน เช่น การลบรอยสักโดยการใช้เลเซอร์ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น