วันที่ 28 พ.ค. งามสัมมนาออนไลน์ภายใต้ชื่อ "หลากชีวิต หลายผลกระทบ : แนวทางการศึกษาปฐมวัยสู่วัยรุ่น" ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CRISP) ที่มีวิทยากรสำคัญ 2 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนความสำคัญอย่างชัดเจนของการเปิดภาคการศึกษาให้เด็กกลับเข้าสู่โรงเรียนและความยืดหยุ่นของนโยบายการศึกษาที่มองให้ลึกกว่าค่าเฉลี่ยไปยังประชากรทุกกลุ่มและปัญหาในทุกมิติ
รศ.ดร.วีระชาติ อธิบายว่าผลกระทบโดยตรงที่เด็กประถมวัยจะได้รับจากการปิดเทอมที่กินระยะเวลาเกินปกตินั้นอาจไม่ได้ชัดเจนหรืออีกนัยหนึ่งเด็กอาจจะไม่ได้สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ด้านวิชาการมากขนาดนั้น อย่างไรก็ตามผลกระทบโดยอ้อมที่ตามมานั้นกลับมีความรุนแรงมากกว่ามาก
งานวิจัย 2 ฉบับถูกหยิบยกขึ้นมาระหว่างการอธิบายประเด็นดังกล่าว โดยงานแรกอ้างอิง Heckman and et al. (2013) ซึ่งสะท้อนว่า เด็กที่เติบโตมาโดยมีการพัฒนาทักษะด้านพฤติกรรม (non-cognitive skills) มีส่วนช่วยให้ใช้ชีวิตยามโตขึ้นได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีทักษะเหล่านี้ ซึ่งการเรียนการสอนออนไลน์ของไทยยังไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถช่วยเด็กพัฒนาทักษะดังกล่าวในระดับเดียวกับการที่เด็กได้พบปะเพื่อนฝูงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับครูในห้องเรียน
นอกจากนี้ ในงานวิจัยอีกฉบับจาก Kuhl, Tsao and Liu (2003) มีการทดลองสอนภาษาต่างประเทศให้กับเด็กผ่าน 2 ช่องทาง คือการเรียนการสอนแบบพบหน้ากันปกติและการเรียนการสอนผ่านเทปวิดีโอที่มีผู้สอนเป็นคนคนเดียวกัน ผลลัพธ์ปรากฏว่าเด็กที่เรียนผ่านคลิปวิดีโอแทบไม่ได้มีความรู้ที่แตกต่างกับเด็กที่ไม่ได้เรียนภาษาเลย
ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.วีระชาติ จึงย้ำว่า อยากจะให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทุ่มทรัพยากรที่มีทั้งหมดเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดเทอมกลับมาสอนให้ได้ แล้วค่อยไปหาเหตุผลกับบางโรงเรียนที่อาจจะยังมีสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้เปิดเป็นรายกรณีไป
ด้าน ดร.ไกรยส หยิบยกประเด็นเรื่องความหลากหลายของปัญหาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการเรียนการสอนขึ้นมาอธิบายว่า ปัญหาสำคัญที่เด็กต้องเผชิญมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวครอบครัวของเด็กเอง ทั้งรายได้ในครัวเรือนที่ลดลง ความยากลำบากในการอาศัยในเมืองใหญ่จนเป็นเหตุให้ต้องอพยพกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม ไปจนถึงข้อบกพร่องหรือเงื่อนไขทางร่างกายและจิตใจของตัวเด็กเอง
ผลกระทบที่ ดร.ไกรยส อยากให้หลายฝ่ายเตรียมพร้อมทั้งในระยะปัจจุบันที่ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอนไปจนถึงช่วงที่มีการเปิดเทอมแล้ว มี 3 ประการ คือ ผลกระทบจากการขาดเรียนในระยะยาว (Learning Loss), ผลกระทบต่อโภชนาการและสุขภาพ (Nutrition & Health Impact) และ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวเด็ก (Economic Impact)
ดร.ไกรยส ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นว่า หากนับวันแรกที่เริ่มเปิดเทอมคือ 1 ก.ค.แล้วปรากฏว่าเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วเด็กก็ยังไม่มาเรียน ทีมสถานศึกษาอาจต้องประเมินแล้วว่าเด็กคนนี้หายไปไหน เป็นไปได้ไหมที่เด็กเหล่านี้จะถูกอพยพกลับภูมิลำเนา โดยที่พ่อแม่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมายังถิ่นฐานที่ทำงานเดิมเพราะยังไม่มีลู่ทางหรือไม่เห็นความแน่นอนในการดำรงชีวิต ซึ่ง ดร.ไกรยส ตั้งข้อสังเกตุว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นในแทบจังหวัดที่มีการอพยพเข้ามาทำงานของคนต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ
ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งไปซ้ำเติม ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของประเทศที่มีอยู่ก่อนหน้าจะมีวิกฤตโรคระบาดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทักษาด้านการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ที่สะท้อนว่าทักษาด้านการเรียนรู้ของเด็กในตัวเมืองกับเด็กในพื้นที่ห่างไกลต่างกันถึง 2 ปีการศึกษา อีกทั้งก่อนหน้าจะมีโควิด-19 ตามข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ UNICEF ยังมีตัวเลขเด็กนักเรียนที่หลุดอาจจะระบบการศึกษากว่า 360,000 คน
ปัญหาดังกล่าวยังสะท้อนสภาวะยากลำบากที่ครอบครัวของเด็กต้องเผชิญอันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดร.ไกรยส ชี้ว่า ตามปกติแล้ว ผู้ปกครองของกลุ่มเด็กเปราะบางเหล่านี้มีความยากลำบากด้านการเงินอยู่ก่อนแล้ว เช่น ในกรณีช่วงเปิดเทอมที่ต้องนำสิ่งของต่างๆ ไปจำนำ และที่ผ่านมาเด็กยากจนส่วนมากก็ไม่ได้ทานอาหารเช้าและมีภาวะขาดสารอาหารอยู่ก่อนแล้ว สถานการณ์ตอนนี้จึงยิ่งดูจะเลวร้ายลงไปอีก
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้ง 2 คน พูดเหมือนกันคือการเปิดโรงเรียนกลับมาจะช่วยสถานการณ์และปัญหาได้หลายอย่าง ทั้งนี้ การเปิดโรงเรียนเองก็ไม่จำเป็นจะต้องทำให้อยู่ในเงื่อนไขที่โรงเรียนทั่วประเทศเปิดพร้อมกันภายในวันเดียว เพราะโรงเรียนบางพื้นที่ก็มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดน้อยกว่าบางโรงเรียนจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอเปิดให้พร้อมกัน
รศ.ดร.วีระชาติ ชี้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่คนมองข้ามกันไปคือความแตกต่างระหว่างบุคคลมันมีอยู่ และมีอยู่มาก คนที่อยู่ในระดับที่ดีกว่า มีหลายอย่างให้สูญเสียกว่า ก็จะรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า ในทางตรงกันข้ามประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่า มีปัญหามากกว่า ก็จะต้องถูกบีบให้รับความเสี่ยงได้มากกว่า ดังนั้น "นโยบาย one size fits all จึงไม่มีเหตุผล" สิ่งที่ควรทำคือการปรึกษากันในชุมชน ในพื้นที่ ในกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิดโรงเรียน แล้วหาวิธีให้โรงเรียนกลับมาเปิดได้ด้วเยงื่นไขที่แตกต่างกันออกไป
หนึ่งในวิธีที่ รศ.ดร.วีระชาติ นำเสนอคือการเปิดเทอมไม่พร้อมกัน โดยชี้ประเด็นว่า โรงเรียนที่อยู่ตามชนบทนั้นอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และด้วยความเป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ก่อนแล้วเอื้ออำนวยให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ก่อนโรงเรียนในเมืองที่มีเด็กนักเรียนแออัดกว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้เปิดพร้อมโรงเรียนในเมือง ทั้งจะเป็นการเอื้อประโยชน์เล็กๆ ให้เด็กในชนบทได้มีเวลาเรียนตามเด็กในเมืองให้ทันมากขึ้นด้วย
สอดคล้องกับ ดร.ไกรยส ที่อยากให้การตัดสินใจเปิดโรงเรียนด้วยวิธีการต่างๆ เป็นหน้าที่ของบอร์ดบริหารโรงเรียนซึ่งก็รวมมาจากผู้นำชุมชนหรือสมาคมผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องให้ได้มีข้อมูลในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายที่จะเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด
"ให้ผู้บริหารได้บริหาร ให้ผู้อำนวยการเขตได้ดูโรงเรียนในสังกัด" ดร.ไกรยส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.ไกรยส อธิบายว่า เงื่อนไขการเปิด-ปิดภาคเรียนนั้นจะส่งผลกระทบกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการเปลี่ยนชั้นปีหรือการเปลี่ยนสถานที่ศึกษาต่อจึงเป็นเหตุผลที่คำสั่งต่างๆ จะต้องรอให้ออกมาจากส่วนกลางหรือกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ร้องขอให้มีการมองเห็นความแตกต่างและหาทางออกที่ยืดหยุ่นเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายร่วมกัน