คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมเวทีเสวนา “ลวดลายอัตลักษณ์จากสายธารแร่ทองคำ” ภายในงานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023) เพื่อบ่มเพาะให้เยาวชนนักศึกษาเห็นคุณค่าของตนเองสู่ความฝักใฝ่ มีความรู้สึกต่อตัวเองในแง่บวก ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวตนว่าเป็นผู้มี 'ศักยภาพ' ตลอดชีวิต
โดยหลังจากที่คณาจารย์และนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการออกแบบผ่านกิจกรรมกระตุ้นให้ชุมชนผ่านแนวคิด 'คิดเป็น' และค้นพบจุดเด่น-จุดด้อย ตลอดจนความสามารถ ความต้องการและความสนใจ เพื่อได้เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงที่ต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาควบคู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน และสู่การเป็นต้นแบบที่นำไปสู่ชุมชนอื่นๆ เกิดแนวปฏิบัติที่ดีนำไปสู่การเรียนรู้ตนเองตลอดชีวิต
งานนี้นำโดย ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU), ผศ.กมลวรรณ พัชรพรพิพัฒน์ สารสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU), ผศ.นิติพล ธาระรูป อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU), นางสาวอังศนา มะหะหมัด หัวหน้าชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อม เพียง พอ ดี และ นายมังกร นุชแนวศรีดี คณะกรรมการป่าชุมชน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ณ บ้านฝ่ายท่า หมู่ที่ 1 ต.พงศ์ประศาสน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ สถานที่กำเนิดของคลองปากปิด ผืนป่าโกงกางที่นอกจากเป็นที่รู้ทั่วกันดีในเรื่องความงามของระบบนิเวศธรรมชาติที่หลากหลายและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ภายในสายน้ำแห่งนี้ยังมีการผลิตสินค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากเปลือกโกงกาง 'สีน้ำตาลอมชมพู' อันเป็นอัตลักษณ์โดดเด่นที่เรียกได้ว่าที่เดียวในโลก จากสายที่น้ำไหลพาดผ่านต้นโกงกางซึ่งเชื่อมต่อจากเหมืองแร่ทองคำโบราณจากจังหวัดระนอง
และโดยอัตลักษณ์ดังกล่าวนี้ คณะกรรมการป่าชุมชน จ.ประจวบฯ “คุณมังกร” บอกว่าได้นำไปสู่การเดินทางของเรื่องเล่าที่น่าสนใจและกลายมาเป็น 'ผลิตภัณฑ์' ชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อม 'เพียง พอ ดี' แบรนด์ที่นำทรัพยากรจากต้นโกงกางที่มีในชุมชนมาสร้างรายได้ให้กับผู้คน อาทิ เสื้อยืดชาย-หญิง หมวกและถุงผ้าทั่วไป ในปี 2562
“สายน้ำแห่งทองคำ คือ คลองทั้งสามสาย ได้แก่ คลองทนาน คลองยางขวางและคลองลอย ซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรีและไหลมารวมกันสู่คลองทองของบ้านป่าร่อน ทีนี้ในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำได้เบิกหน้าดินสู่ชั้นดินที่มีทองนพคุณได้ถูกสายน้ำพัดพาลงสู่คลองบางสะพาน และด้วยลักษณะภูมิศาสตร์คลองปากปิดซึ่งเป็นคลองสาขาของคลองบางสะพานเป็นเหมือนแก้มลิงเก็บน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล พื้นที่บริเวณโดยรอบที่เป็นป่าชายเลนนี้จึงเป็นแหล่งตกตะกอนของทองคำ ส่งผลให้เหล่าต้นโกงกางดูดซับคุณสมบัติของทองและทำให้สีที่ได้จากเปลือกโกงกางที่ส่องประกายดั่งสีทอง และเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ กลายเป็นของดีของที่มีความสำคัญของชุมชน
“และซึ่งโดยความเชื่อในเรื่องของทองบริสุทธิ์ 99.99% หรือในอีกชื่อเรียกหนึ่งของทองนพเก้า เรามีความเชื่อกันว่าผู้ที่ได้ครอบครองจะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนาถึงจะได้มาซึ่งทรัพย์แผ่นดินที่ล้ำค่า เราจึงได้พัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ สร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องป่าชายเลน และศูนย์การเรียนรู้การเขียนโคลน รวมไปถึงการสร้างอาชีพผ้ามัดย้อมและทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นของฝากที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว จากแต่เดิมที่เราเอาไว้ย้อมแห ย้อมอวน ย้อมเชือกและทำผ้าใบสำหรับเรือใบเพียงเท่านั้น”
ผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจาก 'สายธารแร่ทองคำ' คลองปากปิด ไม่เพียงสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น อิริยาบถสายน้ำที่ไหลพาดผ่านยังคงทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งเสมอมาและก่อให้เกิดเป็น 'ต้นแบบ' และ 'แนวปฏิบัติที่ดีนำไปสู่การเรียนรู้' ที่ดีที่นำไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยเริ่มตั้งแต่การบ่มเพาะให้เยาวชนนักศึกษาเห็นคุณค่าของตนเองสู่ มีความรู้สึกต่อตัวเองในแง่บวก มีความเชื่อมั่นในตัวตนว่าเป็นผู้มี 'ศักยภาพ' ตลอดชีวิต และการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการออกแบบกิจกรรมกระตุ้นให้ชุมชนผ่านแนวคิด 'คิดเป็น' พบจุดเด่นกับจุดด้อย รู้ความสามารถ ความต้องการและความสนใจ การใช้กระบวนการงานวิจัยสร้างความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาควบคู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน
อาจารย์กมลศิริ จาก DPU เล่าจุดเริ่มต้นว่า โปรเจคนี้เกิดจากความร่วมมือผนึกกำลังกันทั้งหมด 4 ภาคส่วน ได้แก่ โครงการ eisa (Education Institute Support Activity) ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประจวบคีรีขันธ์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และเชื่อมโยงมายังหน่วยงานทางการศึกษาทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อดึงอัตลักษณ์ของชุมชนคลองปากปิดมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยที่สร้างความตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนำทุนทางทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้อย่างคุ้มค่าสูงสุดแก่คนในชุมชน
“หลังจากที่ได้ทำการพูดคุยและประสานงานเรื่องรายละเอียดต่างๆ ทางคณะจึงได้ไปเชิญคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU มาร่วมลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูล ค้นหาผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้สำหรับใช้ในการวิเคราะห์แนวเรื่องอัตลักษณ์ และดึงชุมชนมีส่วนร่วมควบคู่กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการวิจัย เพื่อให้งานออกแบบตรงสำเร็จผลมากที่สุด ซึ่งเมื่อเราได้ข้อมูลครบถ้วนก็ร่วมกันกับคนในชุมชนเพื่อช่วยกันประยุกต์และต่อยอด”
และกลายเป็น 'แม่แบบ บล็อกไม้' จากลวดลายอัตลักษณ์ชุมชน ส่งมอบให้แก่ชุมชนเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ไม่เพียงให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมการรับมอบลายผ้า ท่านยังให้ได้มีการดำเนินการสนับสนุนแบบพุ่งเป้าเพื่อดันผ้ามัดย้อมของกลุ่มผ้ามัดย้อม 'เพียง พอ ดี' ขึ้นเป็น 'ผ้าตัวแทน' ประจำจังหวัด
โดย ณ ขณะนี้เริ่มดำเนินการผลักดันประชาสัมพันธ์แก่หน่วยงานราชการในการนำผ้ามาตัดเย็บเป็นชุด ซึ่งเชื่อมกับกิจกรรมที่ได้น้อมนำแนวพระดำริ 'ผ้าไทยใส่ให้สนุก' มาเป็นแนวทางร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และกำหนดแผนรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นและผ้าลายประจำจังหวัด ที่ทางจังหวัดได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้รองผู้ว่าฯ ยังได้เสนอแนะนำความรู้และผลักดันให้ทางชุมชนในเรื่องของงบประมาณ เพื่อสานต่อและสนับสนุนในการเผยแพร่อบรมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพียงพอ และพร้อมกันนั้นยังเพื่อสำหรับให้ชุมชนได้กระจายองค์ความรู้ต่างๆ จากความร่วมมือในครั้งนี้ นำไปใช้พัฒนาชุมชนของแต่ละพื้นที่เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การบริหารจัดการกลุ่มและองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตรงตามความต้องการของชุมชนและเกิดประโยชน์ด้านอาชีพ-รายได้-เศรษฐกิจชุมชน
การดึง 'อัตลักษณ์' ชุมชนของ ผศ.นิติพล อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU ที่ได้ทำลงพื้นที่โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อวิเคราะห์อัตลักษณ์และสร้างระบบการจัดการที่มีระบบอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ 1.กลุ่มหน่วยงานภาครัฐสังกัดการบริหารราชการส่วนภูมิภาค 2.หน่วยงานภาครัฐสังกัดการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น 3.ธุรกิจเพื่อสังคม4.ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนคลองปากปิด ที่มีมาแต่เดิม 5.สมาชิกในชุมชนที่อยู่ในบริเวณของโรงย้อมผ้า
จากนั้นทำการสกัดข้อมูลเพื่อวิเคราะห์อัตลักษณ์และสร้างระบบการจัดการที่มีระบบอย่างมีส่วนร่วม ผ่านการสัมภาษณ์ทั้งเดี่ยวและกลุ่มอย่างละเอียด โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์แก่นสาระ (Thematic analysis) ซึ่งจะตอบโจทย์ธีมที่สะท้อนอัตลักษณ์ 'ชุมชนคลองปากปิด' จนสร้างเป็นลวดลายอัตลักษณ์ชุมชนทั้งหมด 6 ลาย คือ 1.ดอกโกงกางบังใบ 2.โกงกางเฉลียงบนอวนปลา 3.โกงกางใบพัด 4.โกงกางในป่า 5.ระลอกคลื่น 6.สายน้ำต้องแสง
และสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่ตอบสนองความต้องการและรูปแบบการดำเนินชีวิต ในรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทเดิมของชุมชนในลักษณะสินค้าลำลองกึ่งกีฬา จึงเกิดเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อเชิ้ต เสื้อฮาวาย ชุดเดรส และBIKINI รวมไปถึงเครื่องประดับตกแต่ง กระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ และสิ่งของภายในบ้าน ซึ่ง “ผศ.กมลวรรณ” อาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้ทำการสกัดคีย์เวิร์ดคำสำคัญ 'สายธารแร่ทองคำ' และคำว่าดอกโกงกาง, เปลือกโกงกาง, ใบโกงกาง สร้างออกมาเป็น Mood boardภาพรวมอัตลักษณ์ชุมชนร่วมกับคนในพื้นที่
“ในขั้นการทำลวดลาย เราค่อยๆ ร่วมกันการสร้าง ซึ่งแม้ชุมชนอาจจะไม่มีพื้นฐานการวาดภาพมากไม่เป็นไร แต่เขามองดอกโกงกางเป็นรูปแบบไหนและลองวาดออกมา จากนั้นเราตัดทอนด้วยรูปทรงเรขาคณิตและกลายมาเป็นลวดลาย คนในชุมชนก็มีไอเดียต่างๆ เช่น หยิบดอกโกงกางมาวางกับอวนปลาหน้าบ้าน มันก็น่ารักดี ลองวาดออกมาเป็นภาพผลงานศิลปะที่เราเอามาร่วมกับนักศึกษาพัฒนาได้เป็นลาย 'โกงกางเฉลียงบนอวนปลา' และสร้างเป็นแม่แบบบล็อกไม้กันขึ้นมาพิมพ์ลายต้นแบบลงบนพื้นผ้า”
“ทีนี้การลงพื้นที่ก็จะมีทั้งชุมชนข้างเคียงเข้ามาดูงาน ดึงเอาอัตลักษณ์ออกมาสร้างเป็นผลงานศิลปะมันสามารถขายได้ สร้างรายได้ชุมชนได้อย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และมีเยาวชนในเข้ามาร่วมทดลองทำให้เด็กๆ ที่ได้หัดออกแบบใน iPad ได้ค้นแบบความชอบตัวเองในด้านต่างๆ ทั้งทางศิลปะหรือการเดินแบบ ที่วันนี้นักเรียนของโรงเรียนบางสะพานวิทยามาร่วมเป็น 1 ในนางแบบเดินแฟชั่นโชว์ ก็นับเป็นสิ่งที่เราทำไม่เพียงพาชาวบ้านพบอัตลักษณ์ในชุมชนเกิดเพียงความภาคภูมิใจเท่านั้น”
“น้ำตาไหลเลย มันเกิดเป็นภาพนี้ขึ้นจริง” คุณอังศนา หัวหน้าชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อม 'เพียง พอ ดี' กล่าวถึงเสียงของคนในชุมชนเมื่อได้เห็นเหล่าแฟชั่นบนเวที จากในอดีตที่ชุมชนผลิตภัณฑ์มีแค่ลายอิสระซึ่งไม่ทำให้ต่างไปจากผ้ามัดย้อมทั่วๆ ไปในท้องตลาด
“เวลากว่า1-2 ปี เราเห็นงานต้นแบบจริงแล้ววันนี้ เรารู้สึกภูมิใจมากและกล้าที่จะบอกใครๆ ว่าฉันมาจากบ้านบางสะพาน กล้าที่จะบอกให้ทุกคนในชุมชนได้เห็นว่าจากสิ่งเล็กๆ ภูมิปัญญาจากต้นโกงกางที่เราใช้อย่างรู้คุณค่า ในลักษณะความกว้าง 2 นิ้ว ยาวไม่เกิน 5 นิ้ว เพื่อเปลือกต้นไม้จะได้สมานแผลเองได้อย่างยั่งยืน เพราะนอกจากมันจะมีคุณค่าทางจิตใจ มันยังสามารถสร้างมูลค่า สร้างคุณค่าให้กับเราและชุมชนพื้นที่
“ที่สำคัญคือเยาวชน แต่ก่อนคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันอยู่ห่างไกลเขา มันไม่มีตัวตนสำหรับเขาและไม่สามารถที่จะสัมผัสได้ วันนี้เขาได้เริ่มเข้ามาใกล้ขึ้นและมองเห็นมากขึ้น และจะไปเรียนต่อเพื่อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ก็ดีใจมาก ดีใจที่สุด น้องๆ พร้อมที่จะมารับไม้ต่อและก้าวเดินกันต่อไป
“พรุ่งนี้เราจะเริ่มก้าวแรกหลังจากที่เมื่อวานเราอัปเดตในเพจเฟซบุ๊ก ลูกค้าโทรมาสอบถามและสนใจสั่งกันทันที ตอนนี้ก็จะเริ่มเปิดรับยอดโดยเริ่มทำจากเป็นผืนผ้าก่อนเพื่อตัดเป็นชุดข้าราชการตามที่มีการสั่งเข้ามา ส่วนเดือนหน้าเร็วๆ นี้ก็เตรียมที่จะพูดคุยรายละเอียดทำเป็นของขวัญปีใหม่กับทาง เครือสหวิริยา ที่จ.ประจวบฯ จากนั้นจะเผยแพร่องค์ความรู้และดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสืบสาน เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งเรามั่นใจว่าจะได้รับการสืบทอดต่อไปและมีความยั่งยืนยาวนานต่อไป”
และนี่ก็คือเรื่องราว 'บางสะพาน' ที่ไม่ใช่เพียงแค่ 1 อำเภอหรือแค่ 1 ประตูสู่ทะเลภาคใต้ประเทศไทย หากแต่ 'บางสะพาน' ที่นี่คือ ก้าวสำคัญก้าวหนึ่ง บันไดเริ่มต้นที่จะต่อเติมชีวิตและลมหายใจ 'ผู้คน' ควบคู่ไปกับความยั่งยืน 'โลก' และทอดสะพานเรื่องราวต่างๆ สำหรับพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต