ไม่พบผลการค้นหา
เป็นประเด็นทุกที เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 โลกโซเชียลวิจารณ์กันขรมเรื่องความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้นำ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นตัวอย่างชั้นดีที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทยส่วนใหญ่

Education First จัดทำดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ หรือ EF English Proficiency Index 2021 สำรวจ 112 ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้อังกฤษเป็นภาษาหลัก โดยแบ่งความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของประเทศต่างๆเป็น 5 กลุ่มคือ Very high proficiency / High proficiency / Moderate proficiency / Low proficiency และ Very low proficiency

เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษดีที่สุด รองลงมาคือ ออสเตรีย เดนมาร์ก สิงคโปร์และนอร์เวย์ ซึ่งประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Very high proficiency มี 13 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประเทศในยุโรป 11 ประเทศ ส่วนอีก 2 ประเทศคือ สิงคโปร์(อันดับ 4) และ แอฟริกาใต้(อันดับ 12)

ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม High proficiency มี 18 ประเทศ อาทิ โปแลนด์(อันดับ 16) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 18) สวิตเซอร์แลนด์(อันดับ 25) มาเลเซีย(อันดับ 28) และ ฝรั่งเศส(อันดับ 31)

กลุ่มที่อยู่ระดับกลางๆ หรือ Moderate proficiency มี 27 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง(อันดับ 32) เกาหลีใต้(อันดับ 37) คิวบา(อันดับ 43) อินเดีย(อันดับ 48) จีน(อันดับ 49) รัสเซีย(อันดับ 51) และอิหร่าน(อันดับ 58)

กลุ่มทักษะต่ำ Low proficiency มี 28 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียและอเมริกาใต้ อาทิ บราซิล(อันดับ 60) เวียดนาม(อันดับ 66) U.A.E(อันดับ 69) เวเนซุเอลา(อันดับ 73) ญี่ปุ่น(อันดับ 78) อินโดนีเซีย(อันดับ 80) อียิปต์(อันดับ 85)

กลุ่ม Very low proficiency มี 26 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน(อันดับ 87) พม่า(อันดับ 93) ประเทศแคเมอรูน ในแอฟริกากลาง(อันดับ 94) กัมพูชา(อันดับ 97) ไทย(อันดับ 100) ต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียนและอยู่ในอันดับ 22 จาก 24 ประเทศของทวีปเอเชีย อิรัก (อันดับ 107)และ เยเมน ในตะวันออกกลาง อยู่ในอันดับสุดท้าย(อันดับ 112)

 การจัดอันดับความสามารถภาษาอังกฤษคนไทย ต่ำลงต่อเนื่อง 5 ปี

หากย้อนไปดูการจัดอันดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของ Education First ตั้งแต่ปี 2554 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Very low proficiency มาตลอด มีเพียงปี 2560 และ 2561 ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Low proficiency โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากปี 2560-2564 อันดับของประเทศไทยต่ำลงต่อเนื่อง จากอันดับ 53 เป็นอันดับ 64 อันดับ 74 อันดับ 89 และปีนี้อยู่ที่อันดับ 100

สำหรับ ระดับ Very low proficiency ระบุว่า สามารถแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ เช่น ชื่อ อายุ ประเทศได้ เข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ แบบง่ายๆ และสามารถแนะนำเส้นทางให้กับนักท่องเที่ยวได้แบบง่ายๆ

เมื่อเทียบข้อมูลพื้นฐานของไทยกับประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีกว่าอีกหลายประเทศมาก เช่น ข้อมูลจาก World bank 2021 ระบุว่า ประเทศไทยมี GNI per capita  หรือ รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 4,944.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 162,000 บาทต่อปี ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 66.65% ข้ออมูล UN Human Dev. Programme, 2021 ระบุ ประชากรมีจำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษา 7.6 ปี

หากเปรียบเทียบกับ อินโดนีเซียที่ได้อันดับ 80 และอยู่กลุ่ม Low proficiency มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 3,224.48 ดอลลาร์สหรัฐ ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 47.69% และประชากรมีจำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษา 7.98 ปี (อินโดนีเซียเคยเป็นเมืองขึ้นของเนเธอแลนด์ ราว 300 ปี)

เวียดนามอยู่ในอันดับ 66 ในกลุ่ม Low proficiency มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 1,737.91 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 68.70% และประชากรมีจำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษา 7.60 ปี

EF ยังได้ให้ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทำให้เห็นว่าแต่ละปีรัฐบาลไทยใช้จ่ายงบประมาณประจำปีในด้านการศึกษาถึง 20.7%ขณะที่อินโดนีเซียใช้งบประมาณด้านการศึกษา 18.1% และเวียดนามใช้จ่ายด้านการศึกษา 21.4% ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึง พม่า และ กัมพูชา ซึ่งพื้นฐานของประเทศไทยดีกว่ามาก

ครูสอนภาษาอังกฤษชั้นประถมกว่า 80% ไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษ ถือได้ว่าเป็นภาษาต่างประเทศที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นภาษากลางที่ใช้สื่อความหมายไปเกือบทั่วโลก ปัจจุบันมีคนทั่วโลกใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสารมากกว่า 2,000 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก จำเป็นที่ต้องใช้ในการสื่อสาร หาความรู้ และการประกอบอาชีพ ตลอดจนการเจรจาต่อรองสำหรับการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมในเวทีสากล

ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลพยายามที่จะเพิ่มขีดความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษให้กับเด็กนักเรียน แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น เห็นได้จากผลการประเมินการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ในหลายๆ ปีการศึกษา ที่ผ่านมาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากผลสอบ O-NET หรือ GAT พบว่ามีคะแนนแทบจะต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ

ขณะเดียวกันเมื่อไปดูที่ครูสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษา พบว่า กว่า 80% ไม่ได้จบวิชาเอกภาษาอังกฤษ และมีภาระงานต้องสอนหลายวิชา รวมทั้งมีภาระงานอื่นที่นอกเหนือจากการสอนอีกด้วย เช่นกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ ในโซเชียลมีการแชร์เรื่องราวของครูผู้ช่วยสาวคนหนึ่งที่รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่ 2 คน และผู้ช่วยคนนี้ก็พึ่งจะบรรจุเป็นข้าราชการครูเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยเธอยังต้องเซ็นต์หนังสือแต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้ากลุ่มงานธุรการอีก 4 ตำแหน่ง

จากผลการประเมินความสามารถครูสอนภาษาอังกฤษของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. พบว่า ครู 51.91% มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่ต้องปรับปรุง

ในปี 2564 สพฐ.มีเป้าหมายยกระดับภาษาอังกฤษของข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในสังกัด โดยกำหนดว่า ครูผู้สอนทุกคนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในวิชาภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับ A ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษในระดับ B ตามตัววัดของมาตรฐานสากล หรือ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ของ Education First ที่เรียกว่า EF SET ซึ่งจะมีการอบรมและทดสอบผ่านระบบออนไลน์ ซึ่ง สพฐ.ยังให้นำภาษาอังกฤษมาเป็นตัวกำหนดและค่าคะแนนที่ให้ครูใช้เพื่อเลื่อนวิทยฐานะอีกด้วย