ไม่พบผลการค้นหา
การทำประมงไทยแบบใช้อวนลาก ก่อให้เกิดความเสียจากสมดุลทะเลอย่างมาก แม้จุดประสงค์ของการใช้อวนคือ การจับสัตว์ทะเลมูลค่าสูงในปริมาณมาก แต่สิ่งที่ติดมาด้วยคือ สัตว์น้ำชนิดเล็ก ซึ่งรวมไปถึงลูกปลาน้อยจำนวนมหาศาลด้วย

อวนลาก เป็นเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำอย่างไม่เลือกจับในอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ นอกจากจะจับสิ่งมีชีวิตที่เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคแล้ว ยังได้สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีขนาดเล็ก ราคาต่ำ เรียกว่าสัตว์ที่ถูก ‘พลอยจับ’ หรือ ‘ปลาเป็ด’ (ปลาเล็กๆ มักถูกนำไปทำอาหารสัตว์ เช่น อาหารเป็ด)

สัตว์พลอยจับส่วนหนึ่ง เป็น ‘ลูกปลา’ ซึ่งในระยะหลัง นักเคลื่อนไหวทางด้านท้องทะเล พยายามรณรงค์อย่างหนัก ไม่ให้มีการจับลูกปลาขึ้นมา รวมถึงการไม่รับประทานลูกปลาเล็กที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะเป็นการตัดทอนโครงสร้างนิเวศทางทะเลอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ปลาทูเนี่ย อย่างดี 12 ตัว หนึ่งกิโล ขายโลร้อยกว่าบาท แต่ผมเคยไปดูลูกปลาทู 1,200 กว่าตัว ขายแค่ 50 บาทเอง การที่เราไปจับพันตัวเป็นกิโลเนี่ย สังคมไทยต้องเข้าใจว่าปลาวัยอ่อนกินได้แต่ไม่ใช่ทุกชนิด อย่างลูกปลาอินทรีย์ตัวเท่าแม่โป้ง จะไปจับได้ยังไง เขาตัวโตเป็นกิโลฯ” บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง


ปลาเด็กกินได้แต่ไม่ใช่ทุกชนิด


วิโชคศักดิ์ รักษ์ทะเลไทย.PNG
  • บรรจง นะแส

ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทยบอกว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปลาเด็กบางชนิดกินได้ เช่น ปลากะตัก หรือแอนโชวี ซึ่งมีเยอะ และเหลือจากการเป็นอาหารในระบบนิเวศ และจะว่ายน้ำรวมกลุ่มกัน

ในอดีต ชาวบ้านล้อมจับปลากะตักมาต้ม ตาก วางขาย โดยเฉพาะในฝั่งอันดามันที่มีอยู่จำนวนมาก แต่ในตอนหลัง ปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น ชาวประมงจึงใช้วิธีจับที่ใหม่ขึ้นคือใช้แสงไฟล่อ และจับโดยไม่รอให้เยอะก่อน

อย่างไรก็ตาม การใช้แสงไฟล่อไม่ได้มีแค่แอนโชวีอย่างเดียวที่มาติดอวน แต่ยังรวมถึงปลาชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ลูกปลาซาดีน ลูกปลาทู ลูกปลาหลังเขียว มาเล่นแสงไฟ ซึ่งถูกจับขึ้นมาพร้อมกันหมด ขณะที่ปลาใหญ่จะหนีการล่อแสงไฟได้ทันเพราะความไวมีมากกว่า

บรรจงจึงมองว่า ปัญหาการบริโภคลูกปลาจิ๋ว คือปัญหาที่มีมิติหลากหลาย แต่สำคัญที่สุดคือเรื่อง ‘วิธีการการจับปลา’ 

“นี่คือปัญหาของประเทศไทย ปัญหาคือเครื่องมือในการจับพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน เราไม่ควรใช้แสงไฟ มันเคยยกเลิกไปเลยสมัย พ.ศ.2526 เรือปั่นไฟหมดไป แต่กลับมาอีกตอนปี พ.ศ.2539 ให้ใช้ช้อน ครอบ ยกได้ สิ่งที่เราเห็นคือเราเห็นลูกปลาทูเยอะมาก ต้ม ตาก ขาย กันเกลื่อนเลย”

“นอกจากปลากะตักแล้วเราไม่ควรกินเลย อย่างลูกปลาทูเราจะไปกินได้ยังไง เค้าควรได้โตตามขนาดของเขา มันอยู่ที่วิธีการจับ”

ในอดีต ปลาที่ถูกพลอยจับมา จะถูกโยนทิ้งในทะเล แต่ปัจจุบันด้วยความหัวใสของผู้ประกอบการเห็นช่องทางการทำธุรกิจ ปัจจุบันจึงมีการนำสัตว์เล็กๆ รวมถึงลูกปลาน้อยใหญ่เหล่านี้มาแปรรูปในอุตสาหกรรมเลี้ยงอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมปลาป่น

การที่ปลาเล็ก ปลาน้อย ถูกจับขึ้นมาก่อนที่จะโตเต็มวัย ส่งผลให้ท้องทะเลเสียสมดุลไปอย่างมาก


ประมงพื้นบ้านบางส่วนตื่นรู้

จากประสบการณ์การดำเนินงานเคลื่อนไหวด้านทะเลมากว่า 20 ปี บรรจงมองว่า ปัจจุบันทะเลไทยดีขึ้นกว่าในอดีตที่เขาเริ่มทำงานราว 20 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะดีขึ้นในอนาคต

แม้ว่าประมงพาณิชย์จะยังคงใช้อวนลากเพราะได้ปริมาณที่มากกว่า แต่ประมงพื้นบ้านเริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทำประมงยั่งยืน

fish.PNG

“แต่ก่อนท้องทะเลไทยเสียหายหนักมาก ชาวประมงต้องอพยพไปนอกชุมชนเพราะหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ แต่สิบกว่าปีให้หลังเขาลุกขึ้นมาสู้ กูไม่ยอมแล้ว แถวสามยอดแต่ก่อนใครลากอวนเข้ามาเขาก็เอาปืนไปยิง เคยได้ยินข่าวใช่ไหมล่ะ”

“ชาวประมงรู้ว่าถ้าหยุดอวนลุนได้ 1 เดือนทะเลก็ฟื้นแล้ว เขารู้ว่าถ้าทำธนาคารปู ปล่อยแม่ปู 1 ตัวลงทะเล แม่ปูมีไข่ 700,000 ฟอง ถ้ารอดแค่สัก 10 เปอร์เซ็นต์ก็ได้แล้ว”

โลกเทคโนโลยีก็ช่วยเชื่อมโยงความรู้ของชาวประมงต่างพื้นที่เข้าด้วยกัน

“ชาวบ้านได้ยินข่าวหมู่บ้านนั้นทำธนาคารปลา ธนาคารปู แล้วเห็นผล เขาถ่ายคลิปลง ก็เกิดการเลียนแบบว่าแบบนี้มันอยู่รอดนี่หว่า ไม่ต้องออกไปหางานทำนอกบ้าน เดี๋ยวนี้ระบบสื่อสารมันอยู่ในมือประชาชน”


หวังคนนอกยื่นมือช่วยฟื้นมูลค่าท้องทะเลไทย

“ปลาป่น 1 กิโลใช้ปลาเล็ก 4 กิโล”

ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชูตัวเลขเล่าให้ฟัง เพิ่มความน่าสนใจ พร้อมตั้งคำถามว่า รู้แบบนี้แล้วทำไมไม่ปล่อยให้ปลาโต ปลาโตก็ยังเอามาทำปลาป่นได้ มูลค่าโดยรวมมากกว่าด้วย

นอกจากนี้ “กินปลาทั้งตัวได้แคลเซียม” วาทกรรมดังกล่าวทำให้คนหันมากินปลาเล็กกันมากขึ้น เพราะเคี้ยวได้ทั้งตัว โดยบางทีอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ปลาเล็กที่รับประทานนั้น คือลูกปลา ซึ่งยังไม่โตเต็มวัย

“สำหรับผู้บริโภค เขาแยกลูกปลาทูกับลูกปลากะตักไม่ออก นี่เป็นปัญหาทางการศึกษาของไทย โดยโครงสร้าง โดยระบบ เด็กในสังคมไทยไม่รู้หรอกว่าปลาทูเป็นยังไง อินทรีย์เป็นยังไง เห็นแต่เนื้ออย่างเดียว”

ที่ปรึกษาแห่งสมาคมรักษ์ทะเลไทยเชื่อว่า พลังจากผู้บริโภคจะช่วยกันกอบกู้ท้องทะเลไทยให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ เขามองว่า ปัจจุบันประมงไทยมีปัญหากับรัฐอยู่ เพราะรัฐอิงกับทุน

“เราปล่อยให้ชาวประมง คนจับปลา สู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ถ้าคนกินปลาเห็นว่าทะเลฟื้นได้ ถ้าวันหนึ่งคนกินปลาตื่นรู้ ร่วมมือกับชาวประมง แล้วบอกว่ารัฐบาลทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว แล้วช่วยกันกดดันรัฐบาลบอกว่าคุณทำประมงกันแบบนี้ได้ยังไง ประมงพาณิชย์แม้จะคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ของประมงทั้งหมดแต่เรือใหญ่ลำละ 15-20 ล้าน มี 40 ลำ ในทางการเมืองเขาก็มีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาล”

000_Hkg1195137.jpg

ทั้งนี้ งานวิจัยฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสัดส่วนการจับปลาเป็ดในการประมงขนาดใหญ่ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอ็อกแฟมในประเทศไทย ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลเรือประมง 9 ระหว่าง ธ.ค.60 – ม.ค.61 พบว่า เรือทั้ง 9 ลำจับสัตว์น้ำได้ 57,992 กิโลกรัม มีสัดส่วนปลาเป็ด 34.81%

หากนำสัตว์น้ำเด็กจากทั้ง 9 ลำมาขายในรูปแบบปลาเป็ด จะได้มูลค่า 14,096.94 บาท หรือ 5.50 บาท/กิโลกรัม

แต่หากปล่อยให้สัตว์น้ำเด็กเติบโตจนได้ขนาดตลาดต้องการ จะมีมูลค่าต่ำสุด 198,870.34 บาท และสูงสุด 331,683.34 บาท

ปลาที่สูญเสียโอกาสในการเจริญเติบโตที่พบ มีทั้งปลาอินทรีบั้ง ปลาทรายแดง ปลา ทรายขาว ปลาตาหวาน ปลาสาก ปลาปากขลุ่ย หมึกต่างๆ หอยเชลล์ กั้งกระดาน

On Being
198Article
0Video
0Blog