ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 (อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก) เกิดพลิกโผเล็กน้อย เมื่อตัวเต็งในพื้นที่อย่าง 'พรรคเพื่อไทย' ไม่ส่งผู้สมัครลงชิง ส.ส.
ทั้งที่ก่อนหน้าเป็นเจ้าของพื้นที่ 'ตระกูลจันทรสุรินทร์' ครองฐานเสียงมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปี 2544 จนมาอยู่พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยก็ยังยึดฐานที่มั่น ส.ส. ใน จ.ลำปาง ไม่เคยสอบตกมาเกือบ 20 ปี
แต่ด้วยเหตุไม่คาดคิด 'อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์' ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย เสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2563
ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคาะระฆังวันเลือกตั้งให้วันเสาร์ที่ 20 มิ.ย. 2563 เป็นวันเลือกตั้ง
โดย กกต.ได้สรุปผลการเปิดรับสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ลำปาง มีผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 5 คน จาก 5 พรรคการเมืองประกอบด้วย
นายวัฒนา สิทธิวัง ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 1
ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ จากพรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 2
นายอำพล คำศรีวรรณ พรรคพลังท้องถิ่นไท หมายเลข 3
นายองอาจ สินอนันต์เศรษฐ์ พรรคไทรักธรรม หมายเลข 4
น.ส.ปทิตตา ชัยมูลชื่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ หมายเลข 5
5 พรรคการเมืองไม่มีเงาของ 'พรรคเพื่อไทย'
5 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ชิงเก้าอี้ ส.ส.ลำปาง ครั้งนี้ มีพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวคือ 'เสรีรวมไทย'
ขณะที่ 4 พรรคการเมืองอยู่ในซีกของพรรคร่วมรัฐบาล
ก่อนหน้าที่ กกต.จะกำหนดวันรับสมัคร 22-26 พ.ค. 2563 เดิมที 'พรรคเพื่อไทย' รับรองให้ส่ง 'พินิจ จันทรสุรินทร์' บิดาของ 'อิทธิรัตน์' ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงอดีตรัฐมนตรี
กระบวนการขั้นตอนไพรมารีโหวตเรียบร้อย 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลงนามรับรองมั่นใจว่าศึกครั้งนี้มีชื่อ 'พินิจ' ลงทวงคืนเก้าอี้ ส.ส.กลับมาได้
22 พ.ค. 2563 แกนนำภาคเหนือพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า 'พินิจ' จะเปิดตัวเดินทางไปสมัคร ส.ส.วันแรก แต่สุดท้ายก็ยังไม่สมัคร
จนถึงวันสุดท้าย 26 พ.ค. 2563 คืนก่อนหน้าวันสมัครวันสุดท้าย 'พินิจ' แจ้งกับทางผู้บริหารพรรคเพื่อไทย ขอ "เว้นวรรค" ไม่ลงเลือกตั้ง ส.ส.แทนบุตรชายในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่ายังเสียใจที่สูญเสียบุตรชายอยู่
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตกใจให้กับ ส.ส.ภายในพรรคเพื่อไทย ทำให้ ส.ส.บางคนถึงขั้นระบุว่า งงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ว่ากันว่า ส.ส.ในพรรคถึงขั้นซุบซิบและคาดว่าเป็นการหักดิบพรรคเพื่อไทย เป็นผลให้ทางพรรคเพื่อไทยไม่สามารถหาตัวผู้สมัครคนใหม่ได้ทันตามกรอบเวลา
นั่นจึงเป็นที่มาที่ พรรคเพื่อไทยหาคนลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้ และหาไม่ทัน และต้องสูญเสีย ส.ส.ไป 1 ที่นั่งแบบฟรีๆ เหลือยอด ส.ส.เพียง 134 เสียง
ขณะที่ 'พินิจ' มีกระแสข่าวว่าจะลงเลือกตั้งท้องถิ่น ใน จ.ลำปาง จึงเป็นอีกเหตุผลที่ขอเว้นวรรค สละฐานที่มั่น ส.ส.ลำปาง ท่่ามกลางความมึนงงของ ส.ส.หลายคนในพรรคเพื่อไทย
ย้อนไปในศึกเลือกตั้ง ส.ส.ลำปาง เขต 4 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 แม้ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง จะมีข่าวว่า ตระกูลจันทรสุรินทร์ อาจเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่นั่นก็เป็นเพียงกระแสข่าวและสุดท้ายยังคงสวมสีเสื้อพรรคเพื่อไทย กวาด ส.ส.ทุกเขตใน จ.ลำปางเข้าสู่สภา
ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ เพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 42,984 คะแนน
อันดับ 2 นายวัฒนา สิทธิวัง พลังประชารัฐ 30,368 คะแนน
อันดับ 3 น.ส.พิมดารา ศิริสลุง อนาคตใหม่ 26,471 คะแนน
อันดับ 4 นางสุนี สมมี ภูมิใจไทย 4,243 คะแนน
อันดับ 5 นายญาณวรุตม์ ธรรมชาติ ประชาธิปัตย์ 2,469 คะแนน
อันดับ 6 ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ เสรีรวมไทย 2,466 คะแนน
เมื่อวิเคราะห์ฐานคะแนนเสียงครั้งก่อน จึงต้องจับตาเสียงของพรรคฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 จะเทให้กับพรรคเสรีรวมไทยกี่คะแนน
แม้พิธีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 จะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษเป็นครั้งแรกเพราะอยู่ในช่วงที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมแก้วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ด้วยอำนาจรัฐที่อยู่ในมือของรัฐบาล ล่าสุดมีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 8) ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 ให้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตการป้องกันโควิด-19 ในระหว่างเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 ซึ่งทำให้ไม่ต้องเข้มงวดในระหว่างจัดการเลือกตั้ง
และมีการคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมไม่ให้ความสำคัญเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไป คนมาใช้สิทธิจึงไม่มากเท่าที่ควร
ยิ่งดูจากเหตุการณ์เลือกตั้งซ่อม 4 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า พรรคร่วมรัฐบาลชนะถึง 3 ครั้ง แถมเป็นการโค่นฝ่ายค้านที่เคยเป็นเจ้าของฐานเสียง ใน จ.ขอนแก่น เขต 7 และ จ.นครปฐม เขต 5
นั่นจึงมีการวิเคราะห์ภายในพรรคฝ่ายค้านว่า เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 5 นายวัฒนา สิทธิวัง ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีฐานเสียงเดิมอยู่ 30,368 คะแนนน่าจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีก จากการที่พรรคเพื่อไทยไม่ส่ง ส.ส.ในครั้งนี้
คอการเมืองจึงเดากันไม่ยากว่าพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมรอคว้าชัยในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้แบบนอนมา แถมเพิ่มที่นั่งในสภาอีก 1 เสียงอย่างสบาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง