ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เผย 9 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 59,842 ราย เสียชีวิต 38 ราย คาดช่วงฤดูฝนนี้จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 ก.ย. 2563 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 59,842 ราย เสียชีวิต 38 ราย โดยพบผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาค จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือแม่ฮ่องสอน รองลงมาคือระยอง, นครราชสีมา, และชัยภูมิ ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากสุด 3 อันดับแรก คือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ 

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ การมีโรคประจำตัว เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การมีภาวะอ้วน การไปพบแพทย์ช้า แพทย์วินิจฉัยครั้งแรกเป็นโรคอื่น และการมีประวัติรับประทานยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

พร้อมกับคาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนและทุกหน่วยงาน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ '3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค' ดังนี้

  • เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  • เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  • เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา 

นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น โลชั่นกันยุง ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว