ไม่พบผลการค้นหา
'สุดารัตน์' โพสต์เฟซบุ๊กติดแฮชแท็กทำงานต่อไม่รอแล้วนะ จี้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนอนกระทู้ลายจุดระบาดหนักในภาคอีสานเยียวยาเงิดชดเชยให้เกษตรกร หลังลงพื้นที่รับฟังปัญหาที่โคราช หวั่นร้ายแรงหนักกระทบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเป็นภัยมั่นคงทางอาหาร

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก พร้อมติดแฮชแท็กว่า ทำงานต่อไม่รอแล้วนะ โดยระบุถึงการลงพื้นที่ จ.นครราชสีมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า"หน่อยกลับมาที่โคราชอีกครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของ หนอนกระทู้ลายจุด ที่กำลังกัดกินข้าวโพดของพี่น้องเกษตรกรจนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง"

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและนำเสนอปัญหาหนอนกระทู้ลายจุดที่ระบาด ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอย่างมากปรากฏว่ามีเกษตรกรทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ต่างสะท้อนปัญหาเดียวกันว่า ขณะนี้หนอนกระทู้ลายจุดได้ระบาดไปทั่วทุกภาค ทำความเสียหายต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว แต่ยังการขาดการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อจ่ายชดเชย ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการออกเผยแพร่ให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อที่จะหามาตรการกำจัดการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในภาคอีสาน ที่ตามปกติแล้วจะต้องปลูกข้าวโพดฤดูกาลผลิตใหม่ในเดือน ก.ค.

"รอบนี้หน่อยมาขอความรู้และดูตัวอย่างวิธีการป้องกันหนอนข้าวโพดจากผู้เชี่ยวชาญ คือ #อาจารย์ทองก้อน ที่ไร่นายทองก้อน อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งวิธีการที่ใช้ในไร่ทดลองปลูกข้าวโพดของอาจารย์ขนาด 1 ไร่ครึ่ง ของอาจารย์สามารถป้องกันหนอนชนิดดังกล่าวได้ผลจริง โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี อาจารย์ทองก้อนแนะนำใช้สิ่งที่เรียกว่า BT หรือ Bacillus thuringiensis ซึ่งคือสายพันธุ์ของแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่ทำงานโดยการปล่อยผลึกโปรตีนตัวที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นสารพิษเมื่อเข้าไปในร่างกายของหนอน จนทำให้หนอนเป็นอัมพาตและตายลงในที่สุด"

ข้อดีของแบคทีเรีย BT ชนิดนี้คือราคาถูกมากกว่าการใช้สารเคมี โดยต้นทุนการฉีดอยู่ที่ประมาณ 5-10 บาท ต่อ 1 ไร่ ประสิทธิภาพการกำจัดและควบคุมการแพร่ระบาดของหนอนก็ดีกว่าโดยไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ และในเวลาที่ฝนตกยังสามารถขยายตัวได้ดีกว่าการฉีดสารเคมีเพราะมีความชื้นเข้ามาช่วย แบคทีเรีย BT ตัวนี้เป็นสิ่งที่กรมวิชาการเกษตรสามารถเพาะเลี้ยงได้เองอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการส่งเสริมและเผยแพร่ให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรรู้จัก เข้าถึง และหันมาใช้อย่างแพร่หลาย

คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้มีความน่ากังวล เนื่องจากหนอนเริ่มดื้อยาที่เป็นสารเคมี เริ่มมีการระบาดไปยังอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศที่มีการปลูกข้าวโพด และยังพบว่าเริ่มมีการลุกลามไปกัดกินพืชผลการเกษตรชนิดอื่นๆ แล้ว เช่น อ้อยและข้าว หากไม่รีบเร่งลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพี่น้องเกษตรกรจำนวนมากแล้ว ยังจะสร้างผลสะเทือนต่อการผลิตในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์แปรรูป หรืออาจร้ายแรงจนกลายเป็นปัญหาภัยความมั่นคงทางอาหารในที่สุด จึงอยากเรียกร้องไปยังทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตรให้หันมาสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง พร้อมจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้เกษตรกร การควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ทั้งในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ การให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปลูกและการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง การควบคุมการระบาด

"ถ้าแบ่งกระทรวงกันเสร็จแล้ว ช่วยแบ่งเวลามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนบ้าง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง