ไม่พบผลการค้นหา
พาณิชย์จับมือสมาคมผู้ค้าผลไม้ ไปรษณีย์ไทย ธุรกิจค้าปลีก ร้านธงฟ้าประชารัฐ ทำแผนระบายผลไม้รับฤดูกาล อ้างข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ ชี้ ปีนี้ผลไม้ออกสู่ตลาดมาก ผลักดันเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรคัด 'ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลำไย' ไม่ต่ำกว่า 3 พันตัน มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ออกสู่ตลาด

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือแนวทางเตรียมการรับมือผลผลิตผลไม้ออกสู่ตลาดมากในปีการผลิต 2562 ร่วมกับหน่วยงานเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการทุเรียนมังคุดแห่งประเทศไทย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ห้างสรรพสินค้า (เดอะมอลล์ ท็อปส์ บิ๊กซี เทสโก้โลตัส แม็คโคร) ร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) และผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา 

เพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในด้านการส่งเสริม ด้านการตลาดและการเชื่อมโยงให้เกิดการซื้อขายทั้งออฟไลน์ (Offline) และออนไลน์ (Online) จนถึงมือผู้บริโภค เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คาดการณ์ว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศในปี 2562 ค่อนข้างดี ส่งผลให้ผลผลิตผลไม้จะออกสู่ตลาดมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เกิดภาวะแล้ง และฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ผลผลิตในปีก่อนมีน้อย และผลไม้ราคาสูง 

โดยในเบื้องต้นได้กำหนดให้เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินการคัดคุณภาพและบรรจุสินค้าผลไม้ 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย ส่งให้กับผู้ประกอบการเอกชนข้างต้น ในปริมาณรวมไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้วางแนวทางผลักดันผลไม้ไทยบางส่วนไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการเสริมทัพผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศให้ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านได้รู้จักและมีโอกาสได้บริโภคผลไม้ไทยคุณภาพเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้สามารถดูดซับผลผลิตออกจากแหล่งพื้นที่ผลิตได้ และส่งผลให้ระดับราคาผลไม้ที่เกษตรกรจำหน่ายได้มีเสถียรภาพ ซึ่งหากการดำเนินการดังกล่าวได้ผลดีจะดำเนินการขยายผลให้ครอบคลุมการซื้อขายผลไม้ชนิดอื่นๆ คือ ผลผลิตผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย และลิ้นจี่) และภาคใต้ (ลองกอง) ซึ่งจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนต่อไป

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมรับมือสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ทุกรูปแบบ (Responsiveness) และ จะทำให้ผลไม้ของไทยยกระดับเป็นผลไม้คุณภาพ ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งสามารถเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลไม้ได้ ซึ่งส่งผลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการค้า ผู้ประกอบการแปรรูปและผู้ส่งออก ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น และเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลกตามยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจรต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :