อีกทั้งมีอำนาจปรับ ครม. และยุบสภา ซึ่งมีผลย้อนหลังไปถึง 24ส.ค.ที่ผ่านมา จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยปมวาระ 8 ปี
สำหรับการ ‘ปรับ ครม.’ ใกล้เข้ามาทุกทีท่ามกลางศึกในพรรคร่วมรัฐบาลที่จ้องเก้าอี้รัฐมนตรี กลายเป็นเกิด ‘ศึกด้ามขวาน’ ระหว่าง ส.ส.ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) - ประชาธิปัตย์ ที่ฝั่ง พปชร. เสนอให้ริบเก้าอี้ รมว.พาณิชย์-เกษตรฯ กลับคืนมา ในฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ขู่ถอนตัวพรรคร่วมรัฐบาล
ล่าสุด ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ ลาออก รมช.มหาดไทย เพื่อสู้คดีเก่าฐานละเว้นเบิกจ่ายค่าซ่อมรถบำรุงทาง สมัยเป็นนายก อบจ.สงขลา ซึ่งกรณีนี้ก็กระทบชิ่ง ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ‘กนกวรรณ วิลาวัลย์’ รมช.ศึกษาธิการ ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลถูกคดีรุกป่า แต่ก็ไม่ลาออกจากตำแหน่ง จนสุดท้ายศาลมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ท่ามกลางเหตุการณ์ ‘ภูมิใจไทย’ รุกพื้นที่ภาคใต้ ดูดคนฝั่ง ปชป. มาเสริมทัพ ภท.
สถานการณ์ปรับ ครม. ยิ่งบีบรัดมากขึ้น เก้าอี้รัฐมนตรีว่าง 4 เก้าอี้ ในสถานการณ์ที่พรรคร่วมรัฐบาลเปิด ‘ศึก 3 ก๊ก’ ขึ้นมา
ในฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว โดยชี้แจงเป็นข้อๆ ประมาณ 30 หน้า โดยใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้น ในการรวบรวมข้อมูลส่งศาลรัฐธรรมนูญ
โดย ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกฯ เปิดเผยว่า ได้เห็นคำชี้แจงศาลที่ทีมกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ ส่งให้ศาลแล้ว ส่วนตัวมองคิดว่า ‘ฟังขึ้น’ ตอบทุกประเด็นและตรงกับใจ คำชี้แจงชัดเจน โดยย้ำว่าวาระนายกฯ ไม่ได้เริ่มนับวันที่ 24 ส.ค. 2557 แต่ส่วนตัวบอกไม่ถูกว่าเริ่มนับเมื่อไหร่ และไม่ทราบศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด
ในฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต่างเชื่อว่าจะได้ไปต่อ แต่ที่กำลังพูดถึงคือสุดท้ายแล้ววาระนายกฯ เริ่มนับปี 2560 หลัง รธน. ประกาศใช้ หรือปี 2562 ที่มีการเลือกนายกฯ โดยสภาฯ ปกติ ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งช่วงเวลาที่เป็น ‘รอยต่อ’ 2 ปีนั้น ส่งผลต่อ ‘องคาพยพ’ ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ เพราะถ้าจะลงชิง นายกฯ อีกสมัย หากเป็นนายกฯ ได้แค่ 2 ปี ก็จะเกิดปัญหา ‘ขาดตอน’ เว้นแต่ได้ไปอีก 4 ปี ทำให้เริ่มมีการมองหา ‘นายกฯ สำรอง’ ขึ้นมา
ซึ่งชื่อของ พล.อ.ประวิตร นั้นเต็งหนึ่ง ที่สุดท้ายยังไม่พ้นเครือข่าย ‘อำนาจ 3ป.’
อีกทั้งยังต้องใช้เสียง ส.ว. ยกมือเลือกนายกฯ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘นายกฯในบัญชีพรรค’ หรือ ‘นายกฯคนนอก’ ก็ตาม ซึ่งการที่ต้องใช้เสียง ส.ว. นี้เอง จึงเป็น ‘อุปสรรค’ ของพรรคอื่นในการเสนอชื่อนายกฯ แม้แต่ ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่รู้ว่า ‘ยังไม่ถึงเวลา’ แต่เวลานั้น ก็ใกล้เข้ามาแล้ว เพราะ ส.ว. จะหมดอำนาจเลือกนายกฯ ช่วงปี 67 แต่ชื่อของ ‘อนุทิน’ ก็ถูกมองในสถานการณ์ที่ต้อง ‘ฝ่าทางตัน’ ในทางการเมือง
ทว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึง ‘ป.ที่ 4’ ขึ้นมาอีกครั้ง ที่ถูกมองว่าจะมาเป็นนายกฯ ในอนาคต ซึ่ง ป.ที่ 4 เป็นอดีต ‘บิ๊กตำรวจ’ ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร มีสายสัมพันธ์กับฝั่ง ‘พรรคเพื่อไทย’ ด้วย ทำให้กระแสข่าวเรื่อง ‘ดีลพิสดาร’ ถูกเชื่อมโยงปลุกขึ้นมาก่อนหน้านี้
ช่วงที่ พล.อ.ประวิตร เป็นรักษาการนายกฯ เรียกว่า ‘บ้านป่ารอยต่อ’ หัวกระไดไม่แห้ง ยิ่งกว่าเดิม ถูกใช้เป็น ‘เซฟเฮาส์’ ในทางการเมืองยุคนี้ ที่ พล.อ.ประวิตรเป็น ‘ผู้จัดการรัฐบาล’
อีกทั้งการปรับลุค-รุกการพีอาร์มากขึ้น ทำให้ พล.อ.ประวิตร มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น แต่ก็กระทบชิ่งถูกนำไปเปรียบเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย โดยเฉพาะการ ‘ต่อสายตรง’ ถึงบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะกับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม. ถึงกับให้ ‘เบอร์ส่วนตัว’ มีอะไรให้โทรมาได้เลย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม - การจำจัดผักตบชวา หลังทาง กทม. ขอกำลังทหารมาช่วย ซึ่ง ‘เหล่าทัพ’ ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่
ดังนั้นการที่ พล.อ.ประวิตร แม้จะขึ้นเป็นรักษาการนายกฯ แต่กลับเหมือนเป็น ‘นายกฯตัวจริง’ ในการบริหารงานต่างๆ กระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบน้อยกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย ทำให้ ‘บารมี’ ของ พล.อ.ประวิตร เพิ่มมากขึ้น แม้จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพขา แต่ก็เหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ที่ลงพื้นที่ถี่ขึ้น
พล.อ.ประวิตร มีกำหนดการไปถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ อีกทั้งเดินมากขึ้น งดการเกาะทีม รปภ. อารมณ์ดีมากขึ้น แถมมีการ ‘เตรียมคำพูด’ ในการขึ้นโพเดี้ยมหรือเวลาเจอกับสื่อด้วย โดยว่ากันว่าฝั่ง พล.อ.ประวิตร ได้ยกเครื่อง ‘ทีมพีอาร์’ ขึ้นมาใหม่
ในฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ‘อำนาจไม่เต็มมือ’ ก็ใช้กระทรวงกลาโหมเป็น ‘ฐานที่มั่น’ ในการทำงานและพบปะบุคคลต่างๆ เปรียบเป็น ‘สโมสรชั่วคราว’ จากเดิมคือ ทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะวงที่มี ‘อนุทิน’ กับ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
แม้ว่า ‘อนุทิน’ จะย้ำว่าไม่มีเรื่องการเมือง แค่นำแพทย์เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ หลังมีการแพ้ที่หลังมือทำให้มีอาการคัน ซึ่งครบกำหนด 2 สัปดาห์พอดี ที่ต้องพบแพทย์ด้วย แต่ ‘อนุทิน’ เปิดเผยว่าได้ทานมื้อกลางวัน ซึ่งมี ‘บิ๊กฉัตร’พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ สมาชิก ส.ว. เพื่อน ตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมทานด้วย ในทางการเมืองจึงถูกจับจ้องถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าว และสะท้อนถึง ‘บารมี’ พล.อ.ประยุทธ์ ไปในตัวด้วย
อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงลงพื้นที่ในฐานะ รมว.กลาโหม ไม่ให้หลุดจากหน้าสื่อและสังคม แต่สปอต์ไลท์ก็ยังส่องไม่เท่า พล.อ.ประวิตร ในเวลานี้ ทำให้ถูกมองว่าเป็น ‘ศึกวัดพลัง’ อีกครั้งหรือไม่ ในสภาวะที่ไม่มี นายกฯ ในทางนิตินัย ทว่าในทาง ‘พฤตินัย’ กลับถูกมองว่ามีนายกฯ 2 คน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร ได้พูดเป็นนัย ที่เป็น ‘สัญญาณ’ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ไปต่อ หลังยืนยันไม่ปรับ ครม.
“ผมเป็นนายกฯรักษาการ ไม่สามารถปรับ ครม.ได้ ต้องรอให้การตัดสินออกมาก่อน หาก นายกฯ อยู่ต่อ นายกฯ ก็จะมาปรับเอง”
เสมือนว่ารอ ‘บิ๊กตู่’ กลับมา พร้อมย้ำว่าในส่วน พปชร. จะไม่มีการปรับ ครม. แม้เก้าอี้จะว่างมาแล้ว 1 ปี หลัง ‘บิ๊กตู่’ ปลดฟ้าผ่า ‘ธรรมนัส-นฤมล’ พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี เท่ากับว่า ‘บิ๊กตู่’ ยื้อเวลาปรับ ครม. มาแล้ว 1 ปีด้วย
ในสถานการณ์ที่ ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ แม้จะมีการ ‘เหยียบเท้า’ กันเองอยู่บ้าง
แต่เมื่อ พล.อ.ประวิตร ขึ้นมาเป็นรักษาการนายกฯ ก็พยายาม ‘ไม่ล้ำเส้น’ พล.อ.ประยุทธ์
แม้จะมี ‘แรงยุ’ รอบข้าง เพราะจุดอ่อนของ พล.อ.ประวิตร คือ รักใครรักจริง ขออะไรก็ให้
ซึ่งในจุดนี้ทำให้ พล.อ.ประวิตร มีความเป็น ‘นักการเมือง’ มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือแม้แต่ ‘วัฒนธรรมเปิดบ้าน’ ที่ใช้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ
ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่เคยเปิดบ้านให้ ‘นักการเมือง’ ได้เข้าไปมากนัก ทำให้มี ‘ระยะห่าง’ ในกับนักการเมือง ผิดกับ พล.อ.ประวิตร ที่ใกล้ชิดนักการเมือง จึงมากด้วย ‘คอนเนคชัน’ ในหลายขั้ว-กลุ่มทุนไทย
เส้นทางการเมืองจากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ ที่เชื่อว่าตัวเองจะได้ไปต่อ ก็มี พล.อ.ประวิตร คอย ‘ระวังหลัง’ ให้ การเมืองไทย ยังคงอยู่วังวน ‘ระบอบ 3ป.’ ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง