ไม่พบผลการค้นหา
ซาอุดีอาระเบียยกเลิกโทษประหารชีวิตผู้ก่ออาชญากรรมที่เป็นเยาวชน โดยถือเป็นหนึ่งในความพยายามลดเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าพระราชกฤษฎีกาลงนามโดยสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ให้ปรับเปลี่ยนโทษประหารชีวิตในกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน เป็นการลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ในศูนย์กักกันเด็กและเยาวชนแทน โดยประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่า พระราชกฤษฎีกานี้จะช่วยซาอุดีอาระเบียในการสร้างประมวลกฎหมายอาญาที่มีความทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าคำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไร 

มีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ชาย 6 คน จากชุมชนมุสลิมชีอะห์ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศไม่ต้องถูกลงโทษประหาร โดยทั้ง 6 คนถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลระหว่างเหตุการณ์อาหรับสปริง ซึ่งขณะนั้นพวกเขามีอายุไม่ถึง 18 ปี โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการถูกคุมขังเพื่อรอรับโทษประหารชีวิต และเมื่อปีที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องไปยังทางการซาอุดีอาระเบียให้ระงับแผนการประหารชีวิตนักโทษกลุ่มนี้ 

การประกาศนี้มีขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ 2 วัน หลังซาอุดีอาระเบียประกาศจะยกเลิกการลงโทษเฆี่ยนตี ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นความพยายามปฏิรูปของมกุฎราชกุมาร 'โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน' ที่ถือเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย และทรงต้องการผลักดันให้ซาอุดีอาระเบียมีภาพลักษณ์ที่เป็นสมัยใหม่มากขึ้น ในขณะที่ก่อนหน้านี้คำสัญญาปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของพระองค์ได้ถูกกลบด้วยเหตุการณ์สังหาร 'จามาล คาชอกกี' นักข่าวซึ่งออกมาวิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบียอย่างเปิดเผย โดยนายคาชอกกีถูกฆาตรกรรมในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูลของตุรกีเมื่อเดือน ต.ค.2561 รวมถึงมีการปราบปรามผู้เห็นต่างในประเทศเพิ่มขึ้น 

ซาอุดีอาระเบียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราการลงโทษประหารสูงที่สุดในโลก ผู้ต้องสงสัยที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการร้าย ฆาตกรรม ข่มขืน ปล้นอาวุธและค้ายาเสพติดจะต้องเผชิญโทษประหารชีวิต รายงานระบุว่าเมื่อปีที่ผ่านมามีผู้ถูกประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบียอย่างน้อย 187 คน เป็นจำนวนที่สูงสุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 เป็นต้นมาซึ่งในปีดังกล่าวมีผู้ถูกประหารชีวิต 195 คน ขณะที่นับตั้งแต่เดือนม.ค. มีผู้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว 12 คน โดยที่ผ่านมาบรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ได้แสดงความกังวลหลายครั้งต่อความยุติธรรมในการไต่สวนพิจารณาคดีในซาอุดีอาระเบีย

อ้างอิง BBC/The Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: