นับแต่รัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.1962 ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในพม่าถูกแทนที่ด้วยระบอบเผด็จการ กองทัพพม่าเข้าครองรัฐแล้วสร้างพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าขึ้นมาซึ่งมีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่กุมพลังมวลชนทั่วประเทศ (คล้ายคลึงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต) กองทัพและพรรคทำงานควบคู่กันไป ทั้งสองฝ่ายต่างประสานผลประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยมีองค์เอกาธิปัตย์อย่างนายพล เน วิน เป็นผู้นำที่ทรงอำนาจบารมีสูงสุด
โครงสร้างเผด็จการชนิดนี้ ถือเป็นนวัตกรรมการเมืองที่ยากต่อการต่อรบชิงชัยเพราะได้ทั้งฐานอำนาจจากกองทัพ พรรคและผู้นำ มาเป็นแนวร่วมพิทักษ์เผด็จการ อย่างน้อยเผด็จการ เน วิน ก็สืบทอดอำนาจมาได้ถึง 26 ปี (1962-1988) กองทัพและพรรคผนึกกำลังร่วมกันครองรัฐตั้งแต่ระดับส่วนกลางลงไปถึงท้องถิ่น เน วิน กับพวกพ้องวงศ์วานเต็มเปี่ยมไปด้วยขุมพลังทางเศรษฐกิจการเมืองที่ใหญ่โต ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ภาคประชาชนในพม่าช่วงนั้นจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อสู้ล้มล้างเผด็จการ แต่ทว่า ด้วยเหตุปัจจัยบางประการ เช่น การวางแผนทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลเผด็จการและการทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากไปกับการพัฒนากองทัพและการทำสงครามกับศัตรูภายในชาติ (เช่น กองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย) พม่าในยุคนายพล เน วิน จึงกลายเป็นรัฐที่ยากจนอันดับต้นๆของโลกพร้อมประสบปัญหาเรื่องการพัฒนาประเทศหลายด้าน
ภาวะเสื่อมทรุดของรัฐและสังคมพม่าเคลื่อนตัวเข้ามาบรรจบกันพอดีกับภาวะเบื่อหน่ายเอือมระอาในระบอบเผด็จการของคนพม่าจนส่งผลให้เกิดแรงระเบิดทางการเมืองซึ่งถือเป็น "จุดหักเหประวัติศาสตร์” (Historic Turing Point) หรือเป็น "มหเหตุการณ์” (Macro-Event) ของกระบวนการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในพม่า
นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงย่างกุ้ง ออกมาเป็นหัวหอกขับเคลื่อนโจมตีเผด็จการ แรงลุกฮือของนักศึกษาเห็นผลชัดในห้วงต้นปี ค.ศ. 1988 จนทำให้พระสงฆ์ ปัญญาชน ประชาชนหลากอาชีพ รวมถึงข้ารัฐการตามกรมกองต่างๆ ทยอยออกมาเดินขบวนขับไล่เผด็จการร่วมกับกลุ่มนักศึกษา แม้การประท้วงจะเร่ิมต้นจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจและความตกต่ำของพม่าในหลายมิติ แต่ต่อมาก็มุ่งเน้นไปสู่การโค่นล้มระบอบคณาธิปไตย เน วิน แบบเต็มตัว
ในช่วงการต่อสู้อันน่าระทึกใจระหว่างพลังเผด็จการกับพลังประชาธิปไตย พบว่าแรงกระเพื่อมของนักศึกษาและประชาชนได้เซาะกร่อนความแข็งแกร่งของพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ในห้วงนั้น พรรคเริ่มคุมประชาชนไม่ได้แล้ว ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 1988 นายพล เน วิน ประกาศลงจากอำนาจ ถึงจุดนี้ สองขาในระบอบเผด็จการพม่า คือพรรค และ ผู้นำ ส่อเค้าง่อนแง่นระส่ำระส่าย แต่เผด็จการยังคงมีอายุสืบต่อไป แหล่งข่าวจำนวนมาก มองว่า เน วิน ยังหลบซ่อนอยู่หลังฉากและคอยชักใยรัฐบาลรักษาการณ์เพื่อต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาแบบไม่ลดลาวาศอก
เดือนสิงหาคม คือ จุดเวลาที่เข้มข้นที่สุดในการตีทลายเผด็จการ การประท้วงแพร่ระบาดไปตามเมืองต่างๆทั่วประเทศ รัฐบาลตกอยู่สภาพคับขันในการป้องกันตนเองจากกลุ่มผู้ประท้วง
กระนั้น ท่ามกลางความสับสนอลหม่านและการสัประยุทธ์ระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับขบวนการต่อต้านเผด็จการ กองทัพพม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักค้ำยันระบอบ เน วิน กลับรวมกำลังจนเข้าตีโต้รุกไล่ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงหนักหน่วง ช่วงกลางเดือนกันยายน 1988 ขบวนการนักศึกษาแตกพ่าย กองทัพควบคุมความสงบเรียบร้อยไว้ได้และเข้าครองรัฐต่อไป
ว่ากันว่า ทหารพม่าคือผู้สร้างรัฐผ่านยุทธสงคราม ตลอดสมัยเผด็จการ เน วิน เห็นชัดว่ากองทัพรบพุ่งกับประชาชนในฐานะศัตรูภายในชาติ กำลังพลในกองทัพที่เข้าไปตั้งค่ายตามเมืองและชนบทพร้อมร่วมมือกับพรรคและเครือข่าย เน วิน เพื่อปกครองประเทศ สามารถฝังอิทธิพลลงไปบนตัวรัฐพม่าได้แบบซึมลึกและน่าหวาดหวั่น ผลลัพธ์ที่ได้ คือ แม้จิตวิญญาณแห่งเสรีภาพประชาธิปไตยจะถูกปลุกให้ปะทุคุโชนขึ้นมาเมื่อปี 1988 แต่กองทัพก็กระตุกอำนาจกลับคืนมาได้พร้อมสามารถต่ออายุเผด็จการออกไปอีกราว 20 ปี โดยแค่เปลี่ยนรูปจากเผด็จการแบบไตรภาคีที่มีกองทัพ พรรค และ เครือข่ายอุปถัมภ์เชื่อมต่อกัน ไปสู่ เผด็จการเสนาธิปัตย์หรือเผด็จการทหารเต็มรูปที่นำโดยนายพล ซอ หม่อง และ นายพล ตาน ฉ่วย ตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ขบวนการนักศึกษาพม่าจะล้มเผด็จการไม่ได้ แต่ก็รุกให้เกิดการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยได้ นักวิเคราะห์การเมืองพม่ามิน้อยเชื่อว่าแรงระเบิดการเมืองจากเหตุการณ์ปี 1988 สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงในหมู่ชนชั้นนำทหารพม่า ทหารพม่าต้องปรับกลยุทธ์หลายระลอกเพื่อหลีกเลี่ยงกระแสล้มล้างเผด็จการที่ถูกจุดติดในปี 1988 ตัวอย่างเด่นชัดที่สุด คือ การที่รัฐบาลทหารออกโรดแม็ปใน ปี 2003 เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยทีละขั้นทีละตอน ซึ่งครอบคลุมขั้นตอนสำคัญ เช่น การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ การจัดเลือกตั้งแบบพหุพรรค และการสร้างสถาบันรัฐสภากับรัฐบาลใหม่ ในที่สุด พม่าก็มีการเลือกตั้งทั่วประเทศช่วงปลายปี 2010 และเคลื่อนตัวไปตามกระบวนการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยมาได้ถึงทุกวันนี้
ประชาธิปไตยในพม่าระยะเปลี่ยนผ่าน จักเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากมรดกการเคลื่อนไหวล้มล้างเผด็จการของนักศึกษาพม่าในปี 1988 นักศึกษาทำให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ในการโค่นล้มเผด็จการ แม้เผด็จการจะปกครองรัฐได้ต่อและนักศึกษารุ่น 88 จำนวนมากจะถูกปราบปรามหรือถูกลดอิทธิพลทางการเมืองลง แต่จุดหักเหประวัติศาสตร์ 1988 ที่เคยรุกประชิดเข้าตีเผด็จการ กลับคอยสะกิดให้องค์เผด็จการเริ่มหันมาขบคิดทบทวนเรื่องการผ่อนคลายอำนาจทางการเมืองลงจนทำให้เกิดการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในพม่าในที่สุด
แม้ปฏิบัติการล้มล้างเผด็จการของนักศึกษาในห้วงปี 1988 จะส่งผลลัพธ์โดยไม่ตั้งใจต่อระบอบการเมืองพม่า นั่นคือ การต่ออายุให้เผด็จการได้สืบทอดอำนาจต่อไปอีกจนทำให้พม่ากลายเป็นรัฐเสนาธิปัตย์ที่ทหารปกครองรัฐมากว่าครึ่งศตวรรษ (1962-2011) ทว่าในอีกมุมหนึ่ง มรดก 1988 ก็สร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อการพัฒนาประชาธิปไตย
นับแต่ห้วง 1988 แรงระเบิดการเมืองที่ก่อผลกระทบและเหวี่ยงวงสะวิงไปทั่วรัฐและสังคมพม่าในวงกว้าง ทั้งการแทนที่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบรวดเร็วฉับพลันด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและภาวะที่ทหารพม่ายอมคลายรูปเปลี่ยนร่างไปตามวิถีประชาธิปไตยเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิวัติประชาชนเหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์ 1988 ท้ายที่สุดแล้ว ก็นำมาสู่การคลายตัวลงของพลังเผด็จการที่เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า
แม้ขบวนการนักศึกษาพม่า จะล้มเผด็จการไม่ได้แต่ก็รุกให้เกิดการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยได้!
บทความที่เกี่ยวข้อง
โลกไม่ได้แบน: ขบวนการนักศึกษาอินโดฯ คว่ำเผด็จการได้และไม่เคยห่างหายจากการเมือง