ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษไฟเขียวกฎหมายนิรโทษผู้ครอบครองกัญชาแล้ว เตรียมเสนอรัฐมนตรี สธ. คาดประกาศใช้สัปดาห์หน้า ด้านกรมการแพทย์ เตรียมจัดให้มีการอบรม "แพทย์ - เภสัชกร" ใช้กัญชาดูแลผู้ป่วย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิรวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขานุการคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ โดยมีผู้แทนจากกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด กรมศุลกากร เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ ป.ป.ส. กระทรวงกลาโหม และผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการชุดใหม่ที่เพิ่มอีก 8 ท่าน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างประกาศนิรโทษผู้ครอบครองกัญชาทั้ง 3 ฉบับ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ได้มีการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา 

โดยประกาศทั้ง 3 ฉบับจะครอบคลุมบุคคล 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายใหม่ 2.ผู้ป่วยที่มีใบรับรองจากแพทย์ว่ามีอาการเจ็บป่วยจะอนุญาตให้ใช้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษาโรคเท่านั้น และ 3. บุคคลอื่น ๆ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้จะต้องมาแจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน หลังจากที่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับ คือ จะต้องมาแจ้งการครอบครองภายในวันที่ 19 พ.ค. 2562 โดยคณะกรรมการจะส่งร่างฯ ทั้ง 3 ฉบับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และคาดว่าน่าจะลงราชกิจจานุเบกษาได้ภายในสัปดาห์หน้า

ส่วนการปรับแก้เพิ่มเติม คือ เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้สนใจนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ เช่น ในการศึกษาวิจัย ดังนั้น นอกจากจะมีการตั้งคณะกรรมการทำลายกัญชาแล้ว ให้ อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาให้ความเห็นชอบในการใช้ประโยชน์ด้วย และในส่วนผู้ป่วยก็มีการแก้ไข เดิมให้ผู้ป่วยแจ้งการครอบครองเฉพาะตำรับกัญชาสำเร็จรูปได้เท่านั้น แต่มีการแก้ไขให้แจ้งการครอบครองรวมกัญชาในลักษณะอื่นที่มีการใช้ในการรักษาโรคเพราะยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้

ซึ่ง ผู้ป่วยดังกล่าวต้องมีใบรับรองแสดงการเจ็บป่วยจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ รวมถึงกลุ่มหมอพื้นบ้านที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้การรับรอง

ด้าน กรมการแพทย์ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมหลักสูตรอบรม "หมอ-เภสัชกร" ให้ใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยแล้ว คาดจะจัดอบรมครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2562 โดยน่าจะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือนนทบุรี และตั้งเป้าจะจัดให้มีการอบรมทุกเดือน 

สำหรับหลักสูตรในการอบรมจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน หลังจากอบรมเสร็จจะมีการประสานทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการจัดโต๊ะขึ้นทะเบียนทันทีว่าผ่านการอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ใช้กัญชาในการดูแลผู้ป่วยได้ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแต่ผู้มาอบรมในตัว

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้ประโยชน์จากกัญชาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือ มีประโยชน์และผลการวิจัยในการรักษาโรคชัดเจน กลุ่มที่ 2 คือ น่าจะได้ประโยชน์ เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ป่วย เช่น โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่จะต้องมีการวิจัย เช่น มะเร็ง ทั้งนี้ แพทย์ที่ผ่านการอบรมจะใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยได้ทั้งในกลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 แต่การใช้กัญชานั้นจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อน 

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา, มติชนออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง