ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิ APCOM จัดงาน HERO AWARDS 2019 เดินหน้าระดมทุนและมอบรางวัลระดับนานาชาติให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและนักเคลื่อนไหวในประเด็น LGBTQI จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

มูลนิธิ APCOM จัดงาน HERO AWARDS 2019 ครั้งที่ 3 ขึ้น เดินหน้าระดมทุนและมอบรางวัลระดับนานาชาติให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและนักเคลื่อนไหวในประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQI จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้จัดขึ้นที่บ้านพักเอกอัครราชทูตเนเธอร์เแลนด์ประจำประเทศไทย โดยมีผู้รับรางวัลมาจากทั้งออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ซามัว สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม ซึ่งได้รับการคัดเลือกรอบสุดท้าย 27 คน จากการเสนอชื่อมากกว่า 220 รายชื่อ

HERO Awards

โดยมูลนิธิ APCOM (แอ๊พคอม) คือองค์กรเอ็นจีโอที่ปฏิบัติงานด้านเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย (MSM) และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) มาอย่างยาวนาน มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และได้ดำเนินงานร่วมกับนานาชาติเกือบ 40 ประเทศทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้สนับสนุน เช่น องค์กร ชุมชน คณะผู้แทนทางการทูต องค์การสหประชาชาติ และภาคธุรกิจ ซึ่งคำว่า HERO ชื่อของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ย่อมาจาก HIV (เอชไอวี) Equality (ความเสมอภาค) และ Rights (สิทธิ์)

ในปีนี้ APCOM มีแขกพิเศษที่มาร่วมงานอย่าง 'เปีย อลอนโซ วูร์ตซบัค' มิสยูนิเวิร์ส 2015 เดินทางมาเป็นเจ้าภาพร่วมและขึ้นเป็นพิธีกรในงานประกาศรางวัล HERO Awards ครั้งนี้ด้วย ในฐานะที่ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็นทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นเอดส์ (UNAids) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ

เปีย อลอนโซ วูร์ตซบัค Pia Alonzo Wurtzbach

รางวัลใหม่ที่เกิดขึ้นบนเวที HERO Awards 2019 คือรางวัล 'พันธมิตรด้านธุรกิจ' หรือ Business Ally Award ซึ่งรางวัลสาขาใหม่ที่ยกย่องภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของบุคลากรและสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ การทลายกำแพงที่จำกัดขีดความสามารถของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการมุ่งมั่นผลักดันนโยบายในองค์กรให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นโดยไร้ขีดจำกัดเรื่องเพศ โดยยึดแนวคิดหลักอย่าง 'การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' 

โดยผู้ที่ได้รับรางวัลคือ ANZ ธนาคารรายใหญ่จากออสเตรเลียที่มีสาขาอยู่ใน 33 เมืองใหญ่ทั่วโลก ทุ่มเทให้กับการผลักดันด้านความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรมานานกว่า 14 ปีเต็ม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของการสร้างการตระหนักรู้และการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQI การเดินหน้ากำจัดพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติทางเพศที่เกิดขึ้นในองค์กรให้หมดไป รวมถึงการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่องในการจัดกิจกรรม เช่น การเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ให้กับการจัดงาน Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา พร้อมกับยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันต่อไป

ด้านนักรณรงค์ด้านสิทธิ์คนข้ามเพศของปากีสถาน Moon Ali คว้ารางวัลฮีโร่ของคนชุมชน (Community Hero) ไปครอง เป็นรางวัลที่มอบให้สำหรับสำหรับผู้อุทิศตนให้กับเรื่องสิทธิและสุขภาพของคนข้ามเพศ

HERO Awards

ผู้รับรางวัลฮีโร่ของคนข้ามเพศ Transgender Hero เป็นของประเทศไทย คุณรีน่า จันทร์อำนวยสุข ตัวแทนของคลินิกคนข้ามเพศ Tangerine ที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพ ส่วนรางวัล HIV HERO เป็นของ Acep Saepudin จากอินโดนีเซียสำหรับผลงานดีเด่นของเขาในฐานะนักกิจกรรมและนักการศึกษาเอชไอวี ขณะที่ Menaka Guruswamy และ Arundhati Katju ของอินเดีย ถือเป็น ฮีโร่ขับเคลื่อนงานสังคมเพื่อความยุติธรรม Social Justice Heroes ในบทบาทแก้กฎหมายอาชญากรรมของการมีสัมพันธ์ของเพศเดียวกันในปีที่ผ่านมาของอินเดีย

ด้าน June Chua จากสิงคโปร์ได้รับการประกาศว่าเป็นฮีโร่เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ Health & Wellbeing Hero ส่วน Jonggeol Lee จากเกาหลีใต้ได้รับรางวัล ฮีโร่พันธมิตรของชุมชน Community Ally Award จากการสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่นให้กับกลุ่ม LGBTQI ส่วน Taiwan’s Marriage Equality Coalition ได้รับรางวัลสาขา Community Organisation Award จากบทบาทที่สำคัญที่พวกเขาได้ประสบความสำเร็จในการทำให้การสมรสเพศเดียวกันถูกกฎหมายในไต้หวัน

HERO Awards

รางวัลสำหรับนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ Young Achiever Award ตกเป็นของ Doan Thanh Tung จากเวียดนาม สำหรับการทำงานพิเศษในฐานะผู้ให้การศึกษาและผู้ให้การดูแลด้านเอชไอวี รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQI

ส่วนผู้ที่คว้ารางวัลที่ใหญ่ที่สุดแห่งปีอย่าง Shivananda Khan Award ไปครองคือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจากซามัว Tuisina Ymania Brown เชิดชูความสำเร็จของเขาที่ผ่านมากว่าทศวรรษของการเคลื่อนไหวด้วยแนวคิดใหม่ๆในภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งรางวัลนี้ตั้งชื่อตาม Shivananda Khan ผู้ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ APCOM และเป็นผู้บุกเบิกทำงานด้านเอชไอวี สุขภาพของกลุ่ม LGBTQI และสิทธิความเท่าเทียมในเอเชียแปซิฟิก

Dédé Oetomo ประธานที่ปรึกษาประจำภูมิภาคของ APCOM ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ชนะและผู้เข้ารอบสุดท้ายทุกคน พร้อมทั้งขอบคุณทุกคนที่เสนอชื่อเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้ตัดสินอิสระชุมชน กลุ่มนักกิจกรรม ผู้บริจาคการประมูล และแขกที่มาร่วมงาน 

HERO Awards

ด้าน Kees Rade เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ระบุ รางวัลอันทรงเกียรติเหล่านี้เป็นแสงประกายเพื่อการทำงานที่ไม่ธรรมดาของเหล่าฮีโร่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อทำให้ชีวิตของผู้อื่นดีขึ้น วันเอดส์โลกและวันสิทธิมนุษยชนสากลเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเสนอให้เห็นว่าบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลสามารถสร้างความก้าวหน้าและแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันในการผลักดันทั้งเรื่อง HIV และสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในเอเชียแปซิฟิก