ไม่พบผลการค้นหา
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ออกมากล่าวหายูเครนว่าเป็นผู้โจมตีเหตุระเบิดสะพานไครเมีย ซึ่งใช้เชื่อมดินแดนระหว่างไครเมีย ที่รัสเซียผนวกไปเป็นของตนเองตั้งแต่ปี 2557 เข้ากับดินแดนของรัสเซีย พร้อมกันนี้ ปูตินยังระบุอีกว่า เหตุดังกล่าวเป็น “การกระทำของการก่อการร้าย”

ปูตินกล่าวว่าหน่วยข่าวกรองของยูเครน มีเป้าหมายที่จะทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนอันสำคัญของรัสเซีย โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวของปูติน เกิดขึ้นระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียกำลังพูดคุยในที่ประชุมกับ อเล็กซานเดอร์ บาสทรีกิน หัวหน้าคณะกรรมการสืบสวนของรัสเซีย 

ทั้งนี้ เจ้าหน้ารัสเซียระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 3 คน จากเหตุระเบิดบนสะพานไครเมียในครั้งนี้ โดยเหยื่ออยู่ใกล้กันกับบริเวณตัวรถบรรทุกที่ติดระเบิด ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวัน หลังจากวันเกิดของปูติน “มันไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือการกระทำของการก่อการร้าย ที่มุ่งเป้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนอันสำคัญของรัสเซีย” ปูตินระบุ

“ผู้ก่อเรื่อง ผู้กระทำความผิด และผู้รับผลประโยชน์ เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยของยูเครน” บาสทรีกินระบุอีกว่า มีพลเรือนชาวรัสเซียและชาวต่างชาติบางรายให้การสนับสนุน ในการเตรียมการโจมตีด้วยการระเบิดสะพานไครเมียในครั้งนี้ด้วย โดยเขาอ้างรายงานจากทีมสืบสวนพบว่า รถบรรทุกที่รัสเซียอ้างว่าเป็นต้นระเบิด ได้เดินทางผ่านบัลแกเรีย จอร์เจีย อาร์เมเนีย นอร์ทออสซีเชีย และดินแดนคราสโนดาร์ ทั้งนี้ บาสทรีกินได้สั่งให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมแล้ว

ในทางตรงกันข้าม ทางการยูเครนไม่ได้ออกมาระบุว่า กองกำลังของตนอยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งนี้หรือไม่ แต่ มีไคโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาของ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ปฏิเสธข้อกล่าวหาของปูติน โดยโปโดลยักระบุว่า “มีรัฐผู้ก่อการร้ายเพียงแห่งเดียวที่นี่” และ “ทั้งโลกรู้ว่าเป็นใคร” ก่อนกล่าวเสริมว่า “ปูตินกล่าวหายูเครนว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ มันดูน่าสมเพชเกินไปสำหรับรัสเซีย”

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ต.ค.) เซเลนสกีได้ออกมาแถลงในช่วงกลางคืน ถึงเหตุการระเบิดสะพานไคเมียในครั้งนี้ว่า “วันนี้ไม่ใช่วันที่เลวร้าย และส่วนใหญ่มีแดดส่องในอาณาเขตของรัฐของเรา” ก่อนที่จะกล่าวเสริมว่า “น่าเสียดายที่ในแหลมไครเมียมีเมฆมาก แม้ว่าอากาศจะอบอุ่นเช่นกัน”

ปัจจุบันนี้ ทางการรัสเซียได้เปิดถนนบางส่วนของสะพานอีกครั้งในไม่กี่ชั่วโมงหลังการโจมตี แต่ยังมีการจราจรที่เบาบาง ในขณะที่ทางรถไฟของสะพาน ซึ่งขบวนบรรทุกน้ำมันถูกไฟไหม้ ได้เปิดกลับมาใช้งานอีกครั้งเช่นกัน ทั้งนี้ สะพานไครเมียมีความยาว 19 กิโลเมตร นับเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรป และเป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญสำหรับกองกำลังรัสเซียที่กำลังสู้รบอยู่ในยูเครน โดยสะพานดังกล่าวเปิดใช้งานเมื่อปี 2561 หรือ 4 ปีให้หลังการผนวกไครเมียเข้าเป็นของตนเองอย่างผิดกฎหมายโดยรัสเซีย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-63195504?fbclid=IwAR2jKJE_g6pZZ9F7gV5UBUyzXvswUW5osYulegPfmrXfHEP2oMTKS1DOvpw