ไม่พบผลการค้นหา
เผยมติที่ประชุมคณะกรรมการยาว่าด้วยเรื่องยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องด้วยพบปัญหา การนำไปใช้ในทางที่ผิด เตรียมออกประกาศ สธ. กำหนดให้ยาแผนโบราณในรูปแบบยาน้ำชนิดรับประทานต้องไม่มีแอลกอฮอล์ในยาสำเร็จรูป โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการยาว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการอนุญาตการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ โดยมีวัตถุประสงค์ของการนำแอลกอฮอล์มาใช้ เพื่อเป็นสารช่วยในการสกัด เป็นวัตถุกันเสีย เป็นน้ำกระสายช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น และเป็นตัวทำละลายยาตัวอื่น แต่พบว่ามีความนิยมในการบริโภคยาแผนโบราณประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น

โดยส่วนหนึ่งเป็นบุคคลบางกลุ่มที่นำยาไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อให้เกิดอาการมึนเมาซึ่งยาแผนโบราณประเภทดังกล่าวสามารถหาซื้อได้สะดวกกว่าการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น รวมทั้งฉลากและเอกสารกำกับยาระบุคำเตือนที่ไม่ชัดเจน โดยหากรับประทานยาประเภทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และเกิดปัญหาไม่ต่างจากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้าง จึงได้เสนอในคณะกรรมการยา วันนี้ (13 มี.ค.) ให้พิจารณาเรื่องของยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์ โดยมติที่ประชุมได้พิจารณาแล้วว่าให้จัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดให้ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณในรูปแบบยาน้ำชนิดรับประทานต้องไม่มีแอลกอฮอล์ในยาสำเร็จรูป

นอกจากนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่รับประทานยาประเภทดังกล่าว และทราบถึงผลที่เกิดจากการรับประทานยาจึงได้ออกประกาศกำหนดคำเตือนสำหรับยาแผนโบราณในมนุษย์รูปแบบยาน้ำชนิดรับประทานที่มีเอธิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ในยาสำเร็จรูป ดังนี้  

1. ยาที่มีเอธิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ผสมอยู่ ...% v/v ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง 

2. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้แอลกอฮอล์

3. หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร เด็กต่ำกว่า 12 ปี และ กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคตับ โรคลมชัก ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง 

ทั้งนี้ คำเตือนทั้งหมด ให้ใช้ตัวอักษรเส้นทึบและสำหรับคำเตือนตามข้อ 1 ต้องใช้ตัวอักษรขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 1.5 มิลลิเมตร ส่วนการแสดงข้อความคำเตือนตาม ข้อ 2 และ 3 ต้องใช้ตัวอักษรให้มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งข้อความทั้งหมดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีของกรอบและข้อความต้องตัดกับสีพื้นของฉลาก

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำหรือสั่งยาแผนโบราณเข้ามาในราชอาณาจักรมาดำเนินการแก้ไขทะเบียนตำรับยาให้เป็นไปตามประกาศฯ ที่กำหนด ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยประกาศฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป