ดิอีโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ยูนิต หรืออีไอยู (The Economist Intelligence Unit: EIU) หน่วยงานวิจัยข้อมูลทางเศรษฐกิจ ในเครือเดียวกับนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (Economist) เผยรายงานดัชนี้เมืองปลอดภัยประจำปี 2019 (Safe Cities Index 2019) ซึ่งให้่คะแนนและจัดอันดับความปลอดภัยของเมืองสำคัญในโลก 60 ด้วยการใช้ตัวชี้วัด 57 ตัว ภายใต้ 4 หัวข้อ คือ ความปลอดภัยทางดิจิทัล ความปลอดภัยด้านสุขภาพ ความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน และความปลอดภัยส่วนบุคคล โดยเก็บข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนปีนี้
คะแนนโดยภาพรวมนั้น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นนำมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนความปลอดภัย 92.0 จากคะแนนเต็ม 100 ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 47 เสมอกับโฮจิมินห์ซิตี ประเทศเวียดนาม ด้วย 57.6 คะแนน โดยค่าเฉลี่ยความปลอดภัยของทั้ง 60 เมืองอยู่ที่ 71.2 คะแนน
เมืองใหญ่ที่น่าสนใจอื่นๆ นั้น ลอนดอนอยู่อันดับที่ 14 ได้ 85.7 คะแนน นิวยอร์กอันดับที่ 15 ได้ 85.5 คะแนน ฮ่องกงอันดับที่ 20 ได้ 83.7 คะแนน ไทเปอันดับที่ 22 ได้ 82.5 คะแนน ดูไบอันดับที่ 28 ได้ 79.1 คะแนน และมอสโกอันดับที่ 37 ได้ 65.8 คะแนน
สำหรับคะแนนความปลอดภัยแบ่งตามหัวข้อของกรุงเทพฯ นั้น เป็นดังนี้
ทางด้านเมืองที่มีคะแนนภาพรวมเท่ากับกรุงเทพฯ อย่างโฮจิมินห์ซิตีนั้น มีคะแนนนำกรุงเทพฯ ในหมวดความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน (55.4 คะแนน) และความปลอดภัยส่วนบุคคล (78.7 คะแนน) แต่มีคะแนนอีกสองหมวดต่ำกว่า คือความปลอดภัยดิจิทัล (40.2 คะแนน) ได้อันดับที่ 59 จาก 60 เมือง และความปลอดภัยด้านสุขภาพอยู่ที่อันดับ 49 (56.3 คะแนน)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีคะแนนตกค่าเฉลี่ยความปลอดภัยในทุกด้าน แต่ส่วนหนึ่งต้องคำนึงว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวมีที่มาจากการเลือกเมืองที่อีไอยูศึกษา เนื่องจากเมืองในอันดับต้นๆ มีคะแนนค่อนข้างเกาะกลุ่มกัน อันดับที่ 1 (โตเกียว 92.0 คะแนน) กับอันดับที่ 24 (บรัสเซลส์ 82.1 คะแนน) นั้นห่างกันไม่เกิน 10 คะแนน ขณะที่อันดับท้ายตารางมีคะแนนค่อนข้างกระจายตัว โดยอันดับที่ 26 (บาร์เซโลนา 81.4 คะแนน) กับอันดับที่ 60 (ลากอส 38.1 คะแนน) ห่างกันกว่า 40 คะแนน
รายได้ของพลเมืองและความโปร่งใส 2 ปัจจัยหนุนความปลอดภัย
รายงานนี้ชี้ว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คะแนนความปลอดภัยของแต่ละเมืองต่างกันนั้นมี 2 เรื่อง หนึ่งคือความมั่งคั่งของพลเมือง ซึ่งสัมพันธ์งบประมาณของเมือง สองคือความโปร่งใสและธรรมาภิบาล โดยในรายงานชี้ว่าความโปร่งใสนั้นสัมพันธ์กับความปลอดภัยโดยตรง การที่พลเมืองสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ทำให้เข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดกับตัวเอง หรือการที่ตำรวจมีความน่าเชื่อถือ ก็ทำให้พลเมืองรายงานเหตุอาชญากรรมพร้อมแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
สำหรับตัวชี้วัดทั้ง 57 ตัวนั้น มีบางส่วนเป็นดังนี้ นโยบายด้านความเป็นส่วนตัว ความตระหนักของพลเมืองต่อภัยคุกคามดิจิทัล ความปลอดภัยและการบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง ความเป็นมิตรต่อคนเดินถนน จำนวนการเสียชีวิตจากภัยพิบัติ สัดส่วนของผู้อาศัยอยู่ในสลัม เครือข่ายรางรถไฟ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ คุณภาพอากาศโดยวัดจากระดับ PM 2.5 มาตรการควบคุมปืน ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเมือง การป้องกันการเกิดอาชญากรรม ระดับการคอรัปต์ชัน และอัตราการใช้ยาเสพติด เป็นต้น ข้อมูลตัวชี้วัดฉบับเต็มสามารถอ่านได้ในรายงานตามลิงก์นี้
ทีมผู้จัดทำชี้ว่าบรรดาเมืองที่ปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ นั้นล้วนมีพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงได้ การมีทีมความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ทุ่มเท การมีการตรวจตาโดยตำรวจที่ยึดโยงกับชุมชน และการวางแผนรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง
อีไอยูจัดทำรายงานเมืองปลอดภัยขึ้นทุก 2 ปี โดยออกมาแล้วสามฉบับคือรายงานปี 2015 ปี 2017 และปี 2019โดยในปี 2017 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 49 ด้วยคะแนน 60.05 คะแนน
ทั้งนี้ 60 เมืองที่อีไอยูเลือกนำมาศึกษา เลือกโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความเป็นตัวแทนของภูมิภาคนั้นๆ และความเข้าถึงได้ของข้อมูล จึงไม่ได้หมายความว่าเมืองในอันดับที่ 1 จะปลอดภัยที่สุดในโลก และเมืองในอันดับที่ 60 จะอันตรายที่สุด
10 อันดับ เมืองที่ปลอดภัยที่สุดโดยภาพรวม ได้แก่
1. โตเกียว 92.0 คะแนน
2. สิงคโปร์ 91.5 คะแนน
3. โอซากะ 90.9 คะแนน
4. อัมสเตอร์ดัม 88.0 คะแนน
5. ซิดนีย์ 87.9 คะแนน
6. โตรอนโต 87.8 คะแนน
7. วอชิงตัน ดีซี 87.6 คะแนน
8. โคเปนเฮเกน 87.4 คะแนน
8. โซล 87.4 คะแนน (อันดับเท่ากันกับโคเปนเฮเกน)
10. เมลเบิร์น 87.3 คะแนน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: