สำนักข่าวไทยรายงานว่า วานนี้ (25 พ.ย.62) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลำปาง กลุ่มเซ็นทรัล จ.ลำปาง ร่วมกับโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ได้เชิญนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ลำปาง รวมถึงผู้กำกับชื่อดัง "ทอม วอลเลอร์" และอาสาสมัครตัวจริงบางส่วนที่เคยเข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือนักฟุตบอลทีมหมูป่า ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน นำโดย จิม วอร์นี นักดำน้ำชาวเบลเยียม ร่วมชมและเปิดรอบปฐมทัศน์การกุศลภาพยนตร์แห่งปีเรื่อง THE CAVE "นางนอน" โดยเชิญร่วมบริจาคเงินเพื่อนำรายได้ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไปสมทบช่วยเหลือผู้ประสบภัยภิบัติต่างๆ ใน จ.ลำปาง และสบทบทุน น.ต.สมาน กุนัน (จ่าแซม) "วีรบุรุษแห่งถ้ำหลวง"
ทั้งนี้ เมื่อนายณรงค์ศักดิ์ มาถึง และพบกับ ทอม ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้พูดคุยถึงความไม่สบายใจเกี่ยวกับเนื้อหาในภาพยนตร์ เพราะบทบางส่วนไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้หลายคนรับไม่ได้ หนังเรื่องนี้น่าจะสร้างความสามัคคีให้กับคนในโลกได้ เพราะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความสามัคคี แม้ผู้กำกับภาพยนตร์จะอธิบายว่าแก่นของเรื่องพยายามนำเสนอให้เห็นการทำงานของทีมกู้ภัยจิม วอร์นี นักดำน้ำชาวเบลเยียม
ที่ผ่านมามีหลายที่เชิญให้ตนเองไปร่วมชมภาพยนตร์ด้วย และได้ปฏิเสธไป แต่ลำปางคือบ้าน จึงต้องมา ดังนั้นอยากบอกว่า หากเราต้องการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจจะไม่เหมือนกับที่คาดคิด ตนเองชื่นชมคุณทอมและทีมงานเรื่องการทำโปรดักชั่นในเวลาที่จำกัด และอยากทำภาพยนตร์ออกมา เพราะมันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง ส่วนตัวขอชื่นชมเรื่องที่เก็บรายละเอียดของจ่าแซม ซึ่งถือเป็นวีรบุรุษตัวจริงของเหตุการณ์นี้ แต่ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ขอเสริมความรู้เพิ่มเติมจากการดูภาพยนตร์ และจะทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น
หากถามว่าภาพยนตร์เรื่อง THE CAVE นางนอน เป็นอย่างไร ขอบอกว่าเป็นการนำเสนอวีรบุรุษท่านหนึ่งคือจิม วอร์นี นักดำน้ำชาวเบลเยียม จ่าแซม และทีมงานนักดำน้ำที่เข้าไปช่วยอย่างอยากลำบาก เราชื่นชมในโปรดักชั่น การพาเด็กและโค้ชออกมาจากถ้ำยากเย็นแค่ไหน ใครที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่รู้ ยอมรับว่าตอนแรกที่รู้เรื่อง ก็ไม่คิดว่าจะยากขนาดนั้น แต่พอไปอยู่หน้าถ้ำถึงรู้ว่ายาก ประกอบกับมีคนกว่าหมื่นคนที่ประสงค์มาอยู่หน้าถ้ำ บางส่วนต้องการมาช่วยอย่างจริงใจ บางส่วนอยากมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โปรโมทตัวเอง หรืออะไรบางอย่าง
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทอดคือ แผนการปฏิบัติงานของเรา 4 แผน คือ 1.สูบน้ำออกเท่าที่นักดำน้ำต้องการ เพื่อให้นักดำน้ำเข้าไปช่วยเด็กออกมา 2.เดินหาโพลงบนยอดดอย เพื่อหาทางเข้าถ้ำ 3.หาเส้นทางของน้ำที่ไหลเข้าถ้ำ 4.หาจุดผนังถ้ำที่บางที่สุด และหาจุดที่เด็กอยู่และเจาะถ้ำ
นอกจากนี้ อยากฝากเรื่องราวบางอย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่มีคนมาเล่าให้ผู้กำกับฟัง อาจไม่ได้เช็ก และเป็นมุกที่ไปโจมตีการทำงานของราชการไทย ซึ่งอาจสื่อเพื่อให้คลายเครียด แต่มันเป็นมุกที่ข้าราชการอย่างตัวเองเสียความรู้สึกและเสียใจ ถูกนำมาล้อเลียนในภาพยนตร์ที่จะนำไปฉายทั่วโลก เช่น ฉากที่มีการแลกบัตร และการด่าว่าหากอยากใหญ่ก็ไปใหญ่ที่จังหวัด..ของคุณโน้น รวมถึงการติดต่องานที่เจ้าหน้าที่หญิงบอกว่าให้ไปที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งเรื่องจริงยังไม่รู้เลยว่าเจ้าหน้าที่หญิงคนนั้นเป็นใคร และไม่เคยให้ไปติดต่องานที่ศาลากลาง ตนเองในฐานะทีมปฏิบัติการทั้งหมด ขอบ่นในจุดนี้นิดหนึ่ง ย้ำหากใครชมแล้วก็ขอให้เข้าใจว่ามันคือภาพยนตร์ ไม่ใช่สารคดี จริงๆ แล้วควรใช้คำว่าบทภาพยนตร์ คนจะได้เข้าใจ เพราะหากบอกว่าเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง แต่หลายเรื่องมันไม่จริง แม้แต่ตัวละครหลายตัวก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคือใคร คอสตูมต่างๆ อาจจะไม่ตรง
ขณะที่ "ทอม" ผู้กำกับภาพยนตร์ บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้อยากให้เห็นถึงการช่วยชีวิตเด็กออกจากถ้ำโดยทีมกู้ภัยทางน้ำ ซึ่งใช้ทีมที่เข้าไปช่วยจริงมาแสดง จึงคิดว่าถ่ายทอดเรื่องตรงจุดนี้ได้สมบูรณ์ แต่ส่วนอื่นเนื่องจากตนเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ก็อาศัยการบอกเล่าจากผู้ที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ประกอบ พร้อมใส่บางประเด็นที่อยากเล่าเข้าไป เช่น บางคนอยากไปช่วยแต่ไม่รู้จะช่วยยังไง หรือไม่มีบัตรเข้าแบบนี้ก็ถือว่าน่าสนใจ อยากเล่าตรงนี้ด้วย ไม่อยากให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าข้างใคร เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีอะไรหลายอย่างที่สามารถนำมาใส่ในภาพยนตร์ได้
นอกจากนี้ ทอม ยังโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงอีกว่า "เมื่อคืนผมไปงานเปิดตัวหนังที่ลำปาง และมีโอกาสได้พบกับท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ในครั้งกู้ภัยถ้ำหลวง ความประทับใจเริ่มแรกที่ผมได้รับราว 20 นาที ที่ท่านด่าหนังผมให้ฟังว่าไม่เป็นจริง ดูจากตัวอย่างหนังแล้วไม่ควรเรียกว่าภาพยนตร์ based on a true story ควรเป็นแค่ภาพยนตร์ธรรมดา ท่านไม่มีเวลากระทั่งทักทายหรือมองหน้าจิม กระทั่งเข้าโรงภาพยนตร์ ท่านยังต่อว่าไม่หยุด 'ในภาพยนตร์มีตั้งหลายหน่วยงานที่ทำให้ภารกิจสำเร็จ ทำไมเล่าแต่ของผู้ใหญ่ของจิม ไม่มีที่เค้าเดินสำรวจขุดเจาะถ้ำ ภาพยนตร์ไม่ตรงกับความจริง...' แล้วท่านเดินออกจากโรงไป ผมไม่อยากให้ท่านตัดสินว่าภาพยนตร์ผมไม่ตรงความจริงเพียงเพราะท่านรับชมจากตัวอย่างภาพยนตร์ หรือคำรีวิว ที่บอกว่าสร้างมาล้อเลียน ขรก. ถ้าท่านชมภาพยนตร์จบแล้วต่อว่าหนังผม อันนั้นผมยอมรับได้
ท่านบอกภาพยนตร์ไม่ตรงความจริง ใช่ครับ มีซีนนึงที่ไม่ตรงจริง เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ได้เป็นคนไล่อาจารย์อดิสรณ์ให้ไปเก่งที่นครปฐม แต่เป็นคำพูดของคนที่ไม่มีโอกาสได้ดูเพราะนั่งอยู่แค่ 3 นาที ครับ"