อีกไม่นานเกินรอ เทศบาลนครยะลาจะสตาร์ทเปิดตัวกิจกรรม ‘ยะลามาราธอน’ เป็นครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ซึ่งจุดหมายปลายทางจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ 42.195 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เป็นการฟื้นฟูภาพลักษณ์ และกู้สภาพเศรษฐกิจของจังหวัด
หลังจากเดินทางมาเยี่ยมเยือนท้องถิ่นมาสักระยะหนึ่ง ก็มีเสียงเย้าแหย่จากชาวบ้านว่า นอกจากฉายา ‘เมืองแห่งนก’ แล้วนั้น ยะลายังเป็น ‘เมืองนักวิ่ง’ เช่นกัน
“คนยะลาชอบออกกำลังกายครับ” นายกอ๋า – พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาเล่าให้ฟังเมื่อถามว่า ทำไมจังหวัดยะลาถึงมีคนออกมาวิ่งมากมายขนาดนี้?
นายกเทศมนตรีผู้เป็นคนยะลาแต่กำเนิดสำทับต่อว่า จุดเด่นอย่างหนึ่งของยะลาคือ เปี่ยมด้วยพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะ ทำให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถออกมาพักผ่อนหย่อนใจ สันทนาการ หรือออกกำลังกายกันได้อย่างเต็มที่
ในวันนี้ แม้เหตุการณ์ความรุนแรงแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเคยเป็นปัญหาสำคัญของยะลามาเนิ่นนานกำลังคลี่คลายลง และบ่งบอกทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าภาวะเศรษฐกิจช่วง 3-4 ปีหลังกลับไม่กระเตื้องเลย ทั้งๆ ที่ ณ ปลายด้ามขวานทอง ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อัดแน่นด้วยต้นทุน ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัตถุดิบชั้นเลิศ ไม่แพ้จังหวัดไหนๆ ในประเทศไทย
นั่นส่งผลให้นายกเทศมนตรีนครยะลาเล็งเห็นว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจของยะลาควรเริ่มต้นด้วยการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นเมืองน่าอยู่เสียก่อน
“การจัดมาราธอนมักนำคนเข้ามาเยือนเมืองเป็นจำนวนมาก ทุกคนจะเห็นความงดงามของยะลาที่ถูกซ่อนเร้น คนยะลาส่วนใหญ่ความสนใจด้านกีฬาอยู่แล้ว เทศบาลฯ เลยนำยะลามาราธอนมาช่วยปรับภาพลักษณ์เมือง ให้คนมองยะลาในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น”
สำหรับคนหนุ่มสาว หากลองเปิดกล่องแชทส่งข้อความถามพ่อแม่ถึงภาพจำของยะลา เชื่อเหลือเกินว่า สิ่งที่หลายๆ คนจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น ‘ส้มโชกุน’ พืชเศรษฐกิจของอำเภอเบตง และเป็นผลไม้ชื่อเสียงโด่งดังมาเนิ่นนาน ดังนั้น ยะลามาราธอนจึงเลือกจัดงานช่วงฤดูผลไม้ เพื่อช่วยส่งต่อเรื่องราวดีๆ ของยะลาอีกทางหนึ่ง
“ผลไม้ท้องถิ่นของยะลาไม่ได้ใคร นอกจากส้มโชกุนแล้ว ทุเรียนมูซังคิงก็กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะความหอม เหลือง หวาน รสชาติแตกต่างจากที่อื่นสิ้นเชิง
“ยะลามาราธอน นอกเหนือจากการวิ่งแล้ว ยังเป็นการเปิดตัวผลไม้ท้องถิ่นของยะลา ให้คนทั้งประเทศทราบว่า ไม่เป็นสองรองใคร” นายกอ๋ากล่าวด้วยความมั่นใจ
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมการวิ่งมาราธอนในแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้มากขึ้นทีมงานทำการนัดหมาย หมอยา – นายแพทย์ยา สารี นักวิ่งเท้าเปล่า ผู้ผ่านสังเวียนมาราธอนมาแล้วกว่าครึ่งประเทศ และยังเคยเป็นผู้จัดกิจกรรมอัลตรามาราธอน จังหวัดปัตตานี มาช่วยเท้าความถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการมาราธอนในแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้
“ตอนเริ่มต้นวิ่งใหม่ๆ ประมาณ 5-6 ปีก่อน ภาคใต้จัดงานวิ่งไม่ครบทุกเดือน งานที่คนส่วนใหญ่มักวิ่งกันจะจัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง หรือถ้าใกล้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากสุดจะเป็นหาดใหญ่มาราธอน จังหวัดสงขลา
“ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไม่ต้องพูดถึงเลย อย่างมากก็จัดวิ่ง 5 กิโลเมตร ระดับหมู่บ้าน แต่ระดับที่เปิดให้บุคคลทั่วไปได้วิ่งเหมือนกับหาดใหญ่มาราธอนไม่มีเลย”
นักวิ่งเท้าเปล่าจากปัตตานีเล่าทำนองคล้ายๆ กับคนในแดนด้ามขวานว่า สาเหตุที่กีฬาวิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เฟื่องฟูขึ้น มาจากโครงการ ‘ก้าวละคนก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ ที่นักร้องชื่อดัง ตูน – บอดี้แสลม ต้องการระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเลือกเส้นทางจากใต้จรดเหนือตั้งแต่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จนกระทั่งสุดปลายทางที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ในฐานะผู้เคยผ่านประสบการณ์การจัดกิจกรรมวิ่งประเภทอัลตามาราธอน จังหวัดปัตตานีมาแล้ว หมอยากล้ายืนยันว่า จุดประสงค์ของกิจกรรมวิ่งมาราธอน ไม่ใช่แค่การออกกำลังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“ผมขอยกตัวอย่างเป็นโครงการก้าวฯ ช่วยอธิบายให้ทุกคนเห็นภาพ เพราะจุดมุ่งหมายของการจัดคือ ระดมเงินบริจาค แต่นอกเหนือจากภาพกิจกรรมที่สื่อออกไป มันยังสะท้อนวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นได้ดีมาก
3 จังหวัดมีความงามทางวัฒนธรรม ความงามด้านจิตใจของผู้คน ความงามของพื้นที่ที่ถูกบิดเบือนด้วยสื่อเพียงด้านเดียว จนออกมาเป็นข่าวไม่ดี เพราะคำว่า ‘ไฟใต้’ และ ‘โจรใต้’ มันขายได้ ภาพลักษณ์ของพื้นที่ไม่ตรงกับความจริง” หมอยาบอกว่าถ้าทุกคนมาวิ่ง หรือเดินทางมาเที่ยวที่ 3 จังหวัด จะพบความแตกต่างจากที่เห็นในสื่อแน่นอน
บรรดาคนยะลาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กีฬาวิ่งกำลังเฟื่องฟู และเราเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพราะทุกหัวมุมช่วงเวลาแดดร่มลมตก เต็มไปด้วยผู้คนที่มุ่งมั่นอยู่กับการวิ่ง และออกกำลังกายด้วยรูปแบบต่างๆ ปะปนกันไป แม้จะเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ หรือเฉียดๆ ไปแถวตลาดก็ยังเห็นคนยะลาลุคสปอร์ตแมนกำลังเลือกซื้ออาหารฟื้นฟูพลังงาน
สาเหตุหลักๆ ในการออกมาวิ่งนอกจากเป็นเทรนด์น่าทำตามแล้ว บางคนยังบอกว่า ต้องการหันมาใส่ใจสุขภาพเหมือนกัน อย่างกรณีของ โอ๋ – สุนิสา เพญยูนุส พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลยะลา ซึ่งเพิ่มเริ่มวิ่งอย่างจริงจังเพียง 1 ปีเท่านั้น
“โอ๋เป็นคนสุขภาพอ่อนแอ ไม่ค่อยแข็งแรง ต้องแอทมิดบ่อยมาก เนื่องจากภาระงานที่ต้องคอยรองรับผู้ป่วยจาก 3 สามจังหวัดชายแดนใต้”
สืบเนื่องจากด้วยความเป็นคนอัธยาศัยดี โอ๋จึงมักชวนผู้คนท้องถิ่นมาลงสมัครยะลา มาราธอนอยู่เป็นประจำ แน่นอนว่า ในฐานะพยาบาลเป้าหมายของเธอคือ การสร้างเสริมสุขภาพ แต่ก็ยังมิวายแทรกประเด็นเศรษฐกิจเข้ามาด้วย
“สิ่งแรกคือ ‘สุขภาพ’ ถ้าคนยะลาเขาเห็นคนจากจังหวัดอื่นๆ มาวิ่งในบ้านตัวเองก็อาจจะทำให้เกิดกำลังใจมากขึ้น สองคือ ‘เศรษฐกิจ’ การจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของยะลาได้ดี โดยเฉพาะโรงแรม ร้านค้า หรือร้านอาหาร” โอ๋ทิ้งท้ายพร้อมกับบอกด้วยว่า ยะลาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่บางคนคิด และเชื้อเชิญทุกคนมาวิ่งด้วยกัน
ผังเมืองของยะลาสวยงามเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และติดอันดับ 23 ของโลก ซึ่งความเป็นระเบียบไม่ใช่เพียงการจัดวางผังเมืองเป็นวงเวียน และจำแนกศูนย์ราชการอย่างชัดเจน แต่จังหวัดยะลายังให้ความสำคัญอย่างมากกับการออกแบบพื้นที่สีเขียว
“ยะลาเป็นนครแห่งสวน เพราะสวนล้อมเมือง เราต้องการให้คนเห็นสภาพบ้านเมืองของเรา” นายกอ๋าบอกด้วยความภาคภูมิใจถึงความเป็นมิตรต่อธรรมชาติของยะลา
เส้นทางวิ่งของยะลามาราธอนจะเน้นการวิ่งผ่านจุดสำคัญต่างๆ ของเมือง รวมถึงพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ และวิ่งเลียบแม่น้ำปัตตานีกว่า 16 กิโลเมตร ทำให้บรรดานักกีฬาได้สัมผัสทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนยะลา
เมื่อกล่าวถึงเส้นทางการวิ่ง เรามีโอกาสพูดคุยกับ วัน – พ.ต.ท.ริฎวาน อับดุลอาซีส นายตำรวจขวัญใจประชาชน และอีกหนึ่งนักวิ่งท้องถิ่น ถึงแม้ครั้งนี้แขาจะไม่ได้ลงสนาม แต่ก็มีหน้าที่รับผิดชอบไม่แพ้กัน
“ผมไม่ได้ลงสมัครยะลามาราธอน เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ต้องคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ใจจริงอยากลงสมัครมากๆ เพราะเป็นการจัดงานใหญ่เป็นครั้งแรกที่ยะลา”
“ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ไม่ได้น่ากลัว ผังเมืองสวย ผู้คนน่ารัก ต้องมาวิ่งครับถึงจะรู้ว่ายะลาเป็นอย่างไร” วันเชิญชวนทุกคนมาวิ่งมาราธอน รวมถึงอยากให้ทุกคนเปลี่ยนความคิด และมุมมองเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นักวิ่งหลายคนบอกว่า เส้นชัยของการวิ่งมาราธอนไม่ได้อยู่ที่ 42.195 กิโลเมตร แต่ปลายทางจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ความตั้งใจ บางครั้งเป็นการทำเวลาให้ดีขึ้น บางครั้งเป็นการลงวิ่งรายการใหม่ให้สำเร็จอีกครั้ง แต่สำหรับยะลา การกลับมาวิ่งที่นี่ในปีหน้า ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของพวกเขา
“สิ่งที่นักวิ่งจะได้กลับไปคือ ความรู้สึกดีต่อเมืองยะลา และจะทำไปสู่การกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของคนยะลาเราหวังให้คนได้เข้ามาเยี่ยม หวังให้คนเปลี่ยนความรู้สึก” นายกอ๋าทิ้งท้ายในฐานะแม่งานยะลามาราธอน