ไม่พบผลการค้นหา
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม เผยวงการช่องปาก ไม่ได้ใช้ 'โคเคน' ร่วมรักษาแน่นอน ด้านเพจดังระบุเลิกใช้ 100 ปีแล้ว

สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. รายงานว่า ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่า ทันตแพทย์ ใช้ยาที่มีส่วนผสมของสารโคเคน ในการรักษาฟันผู้ป่วยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปไกล ดังนั้นจึงไม่มีการนำสารโคเคน ที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรมอย่างแน่นอน

ปัจจุบันตัวยาที่ทางทันตกรรมใช้สำหรับการรักษาฟันในช่องปาก คือยาชา ชื่อว่า 'Lidocaine' (ลิโดเคน) ซึ่งเป็นยาชาใช้เฉพาะที่และใช้ในปริมาณที่น้อยมาก ประมาณ 1.8 มล. ตัวยาจะออกฤทธิ์ไม่เกิน 6 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนจะหายไปและไม่สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้ ยืนยันว่ายาชาที่ทางทันตกรรมใช้เป็นยาต่างกลุ่มกับที่ปรากฏตามข่าวคดีบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา

ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นสังคมได้ตั้งข้อสงสัยถึงขั้นตอนการรักษาของแพทย์ ดังนั้นทางทันตแพทยสภา จึงอยู่ระหว่างการหารือและเตรียมแถลงชี้แจงต่อไป


เร่งตรวจสอบเเพทย์ผู้รักษา 'บอส'

พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า โคเคนเป็นสารเสพติดที่มาจากพืชโคคา ในอดีตอาจเคยใช้ในวงการทันตกรรมเพื่อให้เกิดอาการชา แต่ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคน ในการทำฟันแล้ว เพราะมีผลข้างเคียงกับสุขภาพ ทำให้ ความดันโลหิตสูง มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ จึงมีการพัฒนายาชาประเภทอื่นๆ ขึ้นมา เป็นลักษณะของสารสังเคราะห์ คือ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน เป็นต้น

ส่วนใหญ่ลงท้ายด้วยคำว่า 'เคน' ซึ่งยาชาตัวที่เป็นสารสังเคราะห์ จะทำให้เกิดอาการชาที่ดีกว่า ผลข้างเคียงน้อย ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารนี้ จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้ และหายไปจากวงการทันตกรรม

พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ กล่าวว่า ทางตำรวจยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก และโดยปกติทันตแพทย์ จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ยกเว้นเป็นคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิในการเรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ และทางทันตแพทยสภา พร้อมให้ข้อมูล และอยากขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่ให้การรักษา บอส อยู่วิทยา ด้วยเช่นกัน

นายกทันตแพทยสภา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติด มีการอนุญาตให้ใช้สารเสพติดบางชนิด ในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน, โคเคน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และกฎหมาย


เลิกใช้ไป 100 ปีแล้ว

แฟนเพจเฟซบุ๊ก ใกล้หมอฟัน ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพช่องปาก ระบุว่า "การรักษาทางทันตกรรมปัจจุบันเราไม่ใช้โคเคนแล้วครับ มีการใช้โคเคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพื่อใช้ระงับอาการปวดจากการทำฟันตัวแรกๆ แต่โคเคนได้เสื่อมความนิยมลงเพราะขนาดที่ใช้รักษาใกล้เคียงกับขนาดที่เป็นพิษและฤทธิ์เสพติด ซี่งไม่มีการใช้แล้วในปัจจุบันสำหรับใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ในงานทันตกรรม

"การรักษาทางทันตกรรมโดยเฉพาะการใช้ยาชาเฉพาะที่ ในปัจจุบัน จะใช้สารที่พัฒนาจากโคเคน ที่มีความปลอดภัย หรือมีพิษน้อยกว่า เช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อะทิเคน ซึ่งยาชาที่เราฉีด จะไม่ฉีดเข้าเส้นเลือด แต่จะฉีดเพื่อให้ยาซึมซับระงับอาการเจ็บปวดบริเวณฟัน หรือเส้นประสาทตรงบริเวณนั้น

"อ้างอิงจากเอกสารสอนทันตกรรมเรื่องยาชาในทางทันตกรรม อาจารย์อุดมรัตน์ เขมาลีลากุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"