ไม่พบผลการค้นหา
การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้นใน 45 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ 'เทพไท เสนพงศ์' จากพรรคประชาธิปัตย์ พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564

ด้วยเหตุที่ 'เทพไท' ถูกศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 458/2563 เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (4) มาตรา 118 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 3 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ คงจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ เทพไท มีกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้อง พิจารณากรณี เทพไท ว่ามีเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) จึงมีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของ เทพไทและขอให้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส.จะต้องเป็นบุคคลที่มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เชื่อถือของสาธารณชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ในมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) ว่า เมื่อเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 96 (2) คือ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน 

ศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เทพไทต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว ทำให้ เทพไทเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 96 (2) จึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามมาตรา 98 (4) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของเทพไท สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) โดยมีผลนับแต่วันที่ 16 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

"จึงให้ถือว่าวันทีตำแหน่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือวันที่ 27 ม.ค. 2564" คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ทั้งนี้ กกต.จะต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อำเภอพระพรหม, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ, อำเภอชะอวด และอำเภอจุฬาภรณ์ ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ 27 ม.ค. 2564 

เทพไท ประชาธิปัตย์ สภา 58062.jpg

ศึกสมรภูมิการเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นการสู้ศึกกันระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งปัจจุบัน สองพรรคการเมืองนี้เป็น พรรคร่วมรัฐบาล

ย้อนไปดูคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จ.นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 3 เทพไท เสนพงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียง 33,310 คะแนน ส่วนอันดับ 2 คือ อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ 28,742 คะแนน 

ครั้งนั้น 'เทพไท' ชนะแบบทิ้งห่างเพียง 4,568 แต้มเท่านั้น

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้คะแนนตามมานั้น ว่าที่ ร.ท.สนั่น พิบูลย์ พรรคภูมิใจไทย 15,490 คะแนน

นรินทร์ เหลือสม พรรคอนาคตใหม่ 11,754 คะแนน 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่ นครศรีธรรมราช ซึ่งมี 8 เขตเลือกตั้งจะเป็นการต่อสู้กันของ 'พรรคประชาธิปัตย์' กับ 'พรรคพลังประชารัฐ'

เมื่อดูผลการเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราช ทั้งจังหวัด จะพบว่า พรรคประชาธิปัตย์กวาดไป 5 เขตเลือกตั้ง ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ได้ 3 ที่นั่ง

เขต 1 รงค์ บุญสวยขวัญ พรรคพลังประชารัฐ

เขต 2 สัณหพจน์ สุขศรีเมือง พรรคพลังประชารัฐ

เขต 3 เทพไท เสนพงศ์ พรรคประชาธิปัตย์

เขต 4 ประกอบ รัตนพันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ 

เขต 5 ชินวรณ์ บุณยเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ 

เขต 6 ชัยชนะ เดชเดโช พรรคประชาธิปัตย์

เขต 7 สายัณห์ ยุติธรรม พรรคพลังประชารัฐ

เขต 8 พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล พรรคประชาธิปัตย์

เดิมที 'พรรคประชาธิปัตย์' จะยึดครอง ส.ส.นครศรีธรรมราชทั้งจังหวัด แต่ทว่าศึกเลือกตั้งเที่ยวล่าสุด กระแส 'พลังประชารัฐ' ที่นิยมในตัว 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ถือว่ามาแรง 

ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งนั้น 'พรรคประชาธิปัตย์' อยู่ภายใต้การนำทัพของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ที่ประกาศจุดยืน "ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้งและขัดอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนเป็นใหญ่"

กระแสในภาคใต้จึงทำให้ 'ประชาธิปัตย์' ถูก 'พลังประชารัฐ' เจาะในหลายเขต

พลันที่ 'เทพไท' รู้ถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เขาก็ประกาศผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทันทีว่า "จากการเลือกตั้ง เมื่อ 24 มีนาคม 2562 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 4 ผมได้ผลักดันผลงานในฐานะ ส.ส.คนหนึ่ง มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วบ้าง และจะต้องมอบให้ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ผลักดันสานต่อในโอกาสต่อไปอีกหลายเรื่อง"

"ผมขอขอบพระคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจ ให้การสนับสนุน และให้โอกาสทางการเมืองกับผม คือ พรรคประชาธิปัตย์พี่น้องชาวนครศรีธรรมราช และเพื่อนสมาชิกรัฐสภาทุกคน ตลอดถึงประชาชนคนไทย ที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั่วทั้งประเทศ"

ยิ่งย้อนกลับไปในช่วงปีใหม่ 2564 'เทพไท'ลงพื้นที่อย่างหนักพร้อมทั้งแจกปฏิทินซึ่งมีภาพของน้องชาย คือ พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ อดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครศรีธรรมราช ซึ่งคาดว่าถูกวางตัวให้ลงเลือกตั้งแทน 'เทพไท' 

เทพไท 402543024158965_1959318344454714416_o.jpgเทพไท ประยุทธ์ 366238609977_8598903424940120105_o.jpgเทพไท 58723417395_8832340263747934175_n.jpgอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐ 811218332551_8235739332193297858_o.jpg

ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ คาดว่าจะส่งคู่แข่งคนเดิมลงพื้นที่โค่นแชมป์เก่า อย่าง 'อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ' ซึ่งเป็นปัจจุบันเขาเป็นนายอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งถูกวางตัวให้ลงล้างตาในศึกเลือกตั้งซ่อมแห่งเมืองคอนอีกครั้ง

'อาญาสิทธิ์' เป็นคน อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองมา 30 ปี เป็นปลัดอำเภอในหลายอำเภอในจังหวัดภาคใต้ เคยเป็นปลัดอำเภอจุฬาภรณ์ และปลัดอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก่อนลงสมัคร ส.ส. นั่งในตำแหน่งนายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และก็ได้ย้ายกลับมาเป็นนายอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง

ศึกเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช เขต 3 จึงถูกหมายมั่น ว่าจะเป็นสู้รบกันอีกครั้งของ 'ประชาธิปัตย์' กับ 'พลังประชารัฐ'

ในอีก 45 วันนับจากนี้คงได้รู้ผลการเลือกตั้งซ่อมศึกเมืองคอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง