ราว 5 ปีก่อน การมาถึงของบริการไรด์-แชริ่ง (Ride-Sharing) หรือคอนเซ็ปต์การบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร ที่ผู้โดยสารสามารถเรียกรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชั่น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบคมนาคมเกือบทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไรด์-แชริ่งจะตอบโจทย์คนในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว แต่สำหรับบางประเทศ ไรด์-แชริ่งยังไม่สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหาอย่างเห็นผล จึงทยอยเกิดเป็นโมเดลใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคม อย่างอินเดีย ประเทศที่มีประชากร 1.3 พันล้านคน และมีความแออัดสูง ทั้งระดับหลังคาเรือน และบนท้องถนน หลายสตาร์ตอัพคนรุ่นใหม่แดนภารตะจึงคิดไอเดียการให้เช่า-ขับ มอเตอร์ไซค์แก่คนในชุมชน เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น โดยหลายๆ สตาร์ตอัพ มีบริษัทจากซิลิกอนวัลเลย์ และ 'โอลา' (Ola) ไรด์-แชริ่งสัญชาติอินเดีย คอยให้เงินทุนสนับสนุนเบื้องหลังด้วย
'เบาซ์' (Bounce) เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัพจากเมืองบังกาลอร์ ปัจจุบันมีรถมอเตอร์ไซค์ในแพล็ตฟอร์มกว่า 6,000 คัน ซึ่งลูกค้าสามารถเลือก และขับขี่ไปไหนก็ได้ในเมืองทางตอนใต้ของบังกาลอร์
วิเวกอนันดา ฮัลเกีย ผู้ก่อตั้งเบาซ์ บอกว่า "ราคารถยนต์โดยสารถือว่าแพงไปสำหรับชาวอินเดียส่วนใหญ่ เมืองบังกาลอร์ก็รถติด ทำให้คนขับบ่นเรื่องรายได้ที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกัน สตาร์ตอัพไรด์-แชร์ริ่ง ก็ทำกำไรได้ยากด้วย"
เบาซ์สังเกตโอกาสจากตลาดมอเตอร์ไซค์ในอินเดียที่มีกำลังซื้อต่อเนื่อง โดยแต่ละปี อินเดียมียอดขายมอร์เตอร์ไซค์ถึง 20 ล้านคันต่อปี และหลากหลายตั้งแต่สกูตเตอร์คันเล็ก จนกระทั่งบิ๊กไบก์อย่างฮาเลย์ เดวิดสัน
ไม่เพียงแต่เบาซ์เท่านั้น 'โวโก้' (Vogo) ก็เป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัพสกูตเตอร์แชร์ริ่งคู่แข่งคนสำคัญของเบาซ์ ที่ได้รับเงินลงทุนจากโอลาและนักลงทุนรายอื่นรวมกัน 17.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ใช้งานของทั้งสองแพล็ตฟอร์ม สามารถเรียกรถได้ผ่านแอปพลิเคชั่น แต่แตกต่างกันที่ เบาซ์ ให้ผู้ใช้งานรับรถ และจอดรถ ไว้ตรงไหนก็ได้ในพื้นที่ที่ให้บริการ แต่สำหรับโวโก้ ผู้ใช้งานจะต้องไปรับรถ และคืนรถ ที่ลานจอดรถของโวโก้ ที่ปักหมุดบริการไว้ตามจุดต่างๆ เท่านั้น
มัลลิคาจุน ดี. วิศวกรซอฟต์แวร์ในบังกาลอร์ ผู้ใช้บริการเช่ามอเตอร์ไซค์ บอกข้อดีว่า ปกติเขาจะนั่งรถบัสไปทำงานระยะทาง 9 ไมล์ แต่บางวันที่เขาสาย เขาแค่กดแอปฯ จองรถ แล้วไปที่ลานจอดของโวโก้ รับรถแล้วออกเดินทางได้ทันที ส่วนค่าบริการก็แสนถูก ในราคาวันละ 10 รูปีเท่านั้น คิดเป็นราว 5 บาทไทย
ส่วนโนมิต้า ดี. พี. ผู้ใช้บริการเบาซ์ บอกว่า เธอใช้บริการรถเช่าจากเบาซ์มา 5 เดือนแล้ว มันถูกกว่า 'ริกชอว์' หรือรถสามล้อออโต้อย่างมาก และไว้ใจได้กว่าอูเบอร์ หรือโอลาร์ บริการไรด์-แชริ่ง 2 เจ้าหลักในอินเดีย
"บางทีกดเรียกรถแล้ว คุณก็โดนแคนเซิล" โนมิต้า เล่าประสบการณ์ไม่ประทับใจในการเรียกรถรับ-ส่งจากอูเบอร์ หรือโอลา
อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จก็มีความท้าทายมากมาย ซึ่งผู้พัฒนาของเบาซ์ และโวโก้ ต้องเผชิญ อาทิ รถมอเตอร์ไซค์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือรถไม่สมประกอบ สกปรก ฯลฯ
ขณะเดียวกัน พอรถมอเตอร์ไซค์เช่า ได้รับความนิยมมากขึ้น ก็ทำให้ทั้งอูเบอร์ และโอลา เตรียมลดค่าบริการของตนเอง เพื่อให้แข่งขันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทำให้สตาร์ตอัพเบาซ์ และโวโก้ วางแผนเพิ่มรถให้มากถึง 50,000 คัน เพื่อให้ธุรกิจเกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากขึ้น และสามารถลดราคาให้บริการลงได้ พร้อมมองหาการกรุยทางขยายธุรกิจต่อไปยังเมืองอื่นๆ นอกบังกาลอร์ โดยทั้ง 2 ค่ายเล็งจะเปลี่ยนมาให้บริการสกูตเตอร์ไฟฟ้า จากสตาร์ตอัพผู้ผลิต แอทเทอร์ เอเนอยี (Ather Energy) แทนจักรยานยนต์ ที่ใช้แก๊ซโซลีน เพื่อความประหยัด และเป็นมิตรต่อโลกมากกว่า
ปัญหาคือ แอทเทอร์ เอเนอยี ปัจจุบันผลิตสกูตเตอร์ได้ 500 คันต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งเบาซ์ และโวโก้ จึงต้องเดินหน้าระดมทุนครั้งใหม่
ทั้งนี้ แม้ธุรกิจเช่า-ขับจักรยานยนต์ จะยังใหม่อยู่ และอยู่ในระยะตั้งไข่ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า มันน่าจะโตไปได้มากกว่านี้ เพราะเป็นรูปแบบที่ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้จริง ทว่าขณะเดียวกัน บรรดาผู้เล่นหลักในแวดวง ไรด์-แชริ่ง ไม่ว่าจะโอลา หรืออูเบอร์ ก็คงไม่นิ่งเฉย และหาทางขยายตลาดในทิศทางคล้ายคลึงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวอินเดียในเมืองต่างๆ ให้ได้มากที่สุด
วิเวก ดูไร ผู้ก่อตั้ง เปเปอร์.วีซี (Paper.vc) บริษัทรับให้คำปรึกษาธุรกิจเอกชนในอินเดียคาดการณ์ว่า เงินลงทุนก้อนใหญ่จะทยอยไหลเวียนเข้าในสตาร์ตอัพเกี่ยวกับการคมนาคม และการเดินทางมากขึ้น
"ผู้คนต้องการตัวเลือกที่ยืดหยุ่นสำหรับการเดินทางครับ" วิเวก กล่าว
ที่มา: