ไม่พบผลการค้นหา
'กิตติ ลิ่มสกุล' แย้ง 'ศิริกัญญา' เข้าใจ GDP ที่สำนักงบประมาณนำเสนอคลาดเคลื่อน ติงควรศึกษาให้ดีก่อนอภิปราย พร้อมแนะรัฐบาล-หน่วยราชการควรอธิบายให้กระจ่างต่อประชาชน

วันที่ 8 ม.ค. 2567 ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักเศรษฐศาสตร์ และ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่อง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยชี้ว่า รัฐบาล โดย กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณใช้สูตรวัด GDP ไม่ถูกต้อง ตนในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ขอชี้แจงผู้มีวิชาชีพด้านนี้ดังนี้ 

1. ท่าน สส.ศิริกัญญา น่าจะเข้าใจ เรื่อง GDP real vs nominal คลาดเคลื่อน ทำให้ท่านเข้าใจว่ารัฐบาล โดยสำนักงบประมาณ สศค. ทำการคำนวณอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น GDP ณ ราคาตลาดปัจจุบัน ที่ร้อยละ 5.2 ในขณะ ที่ GDP ณ ราคาคงที่ ซึ่งเป็นมาตรวัด GDP growth ต่ำกว่า และชี้ว่ารัฐบาลเอา GDP ณ ราคาคงที่ บวกเงินเฟ้อ มาใช้พยากรณ์เศรษฐกิจ และ 

2. ตามคำจำกัด UN SNA 1954 Gdp real คือ การรวม สินค้า และ บริการ ที่ มี ราคาต่างกันตามคำจำกัดความจึงต้องปรับด้วย gdp deflator หรือตัวปรับค่า ซึ่งประกอบด้วย ดัชนีราคาสินค้า และบริการสินค้า ทุนสินค้าส่งออกนำเข้า สร้างเป็นดัชนี มีปีฐาน เช่น ปี 2000 เป็นฐาน gdp deflator นี้ เท่ากับ 1.00 ในปีฐาน (ด้าน รายจ่าย คือ gross domestic expenditure GDE) เช่น ปี 2000 ที่ GDP real ณ ราคา ปี 2000 เท่ากับ GDP nominal วัด ณ ราคา ปัจจุบัน 

3. ในการเสนอ Gdp growth UN SNA กำหนดให้คิดเป็นอัตราเพิ่มต่อปีของ GDP at constant price หรือ GDP real (ด้าน ผลิต) เพื่อจะทราบว่า สินค้า บริการ ในฐานะ real goods and services เพิ่มเท่าใด ไม่มีส่วนเพิ่มของราคา หรือเงินเฟ้อ (ในที่นี้คือเฟ้อจากราคาสินค้า บริการ ผู้บริโภค ราคาสินค้าทุน และราคาสินค้าส่งออกนำเข้าด้าน GDE คู่กันไป) ในทางทฤษฎีเป็นนับจำนวน สินค้า บริการทางกายภาพ คูณด้วยราคาตลาด และนำมารวมกัน เนื่องมีหน่วยนับทาง กายภาพ ที่หลากหลาย ( กก ตัน ชิ้น … ) และสุดท้าย deflate ด้วยดัชนีราคาตามที่กล่าว เพื่อ pegged มูลค่าผลิต GDP from Production side วัด ณ ราคาคงที่ 

4. ณ ดุลยภาพ GDP at constant price ด้าน การผลิตเท่ากับ GDP ด้านรายจ่าย (C+I+G+X-m + change in stock หรือ GDE) 

****ณ ดุลยภาพ (GDP = GDE) นี้ คือการวัดว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเท่าใด *****GDP* ตามที่เข้าใจทั่วไป คือ วัดสินค้าบริการ ที่เพิ่มต่อ ปีไม่รวมเงินเฟ้อ ***

5. สำหรับ GDP ณ ราคาตลาดปัจจุบัน คือ เม็ดเงินที่วัดว่าประชาชนจ่ายซื้อ สินค้า และบริการประเภทต่างๆ เท่าใด ณ ราคาตลาดรวมเงินเฟ้อ (วัดจากฝั่ง ผลิต)

ณ ดุลยภาพ GDP ณ ราคาตลาด ปรับด้วย ค่าเสื่อม ราคา เท่ากับ GDP at factor cost ซึ่ง จะ ถูกจัดสรรให้กับปัจจัยการผลิตแรงงานในรูปค่าจ้าง และทุน ในรูปผลตอบแทนทุน และกำไร  เมื่อครัวเรือนได้รายได้นี้มารวมกัน คือ รายได้ประชาชาติ ***National Income NI****

6. บางส่วนของรายได้คือที่ครัว เรือน /หน่วยธุรกิจ จ่าย ให้ กับ รัฐบาล เป็น รายรับ ภาษี ต่างๆ ทางตรง /อ้อม 

ในการประมาณการรายรับภาษี สนง.เศรษฐกิจการคลัง จึง ใช้ NI หรือ เพื่อง่าย ใช้ GDP ณ ราคาตลาด หรือ GDP real บวกเงินเฟ้อ เพื่อพยากรณ์รายรับภาษี

เรื่องนี้ ปฏิบัติมาตั้งแต่ตั้ง UN หลังสงครามโลก2 เมื่อมีระบบบัญชีประชาชาติ

ผมแปลกใจที่ สส.ฝ่ายค้าน อภิปรายอย่างขาดความเข้าใจพื้นฐาน ( แม้จะเสนอตัวเป็น รมว.คลังเงา) และ ฝ่ายรัฐบาล โดย สสค. ก.คลัง และ สภาพัฒน์ ก็ไม่ชี้ แจง อย่างเป็นหลัก ตาม UN SNA. ทั้ง ที่ ประเทศไทย โดย กองบัญชีประชาชาติ สภาพัฒน์ ธปท.และ คลังก็น่าจะเป็นหลัก อธิบายให้สาธารณะทราบ 

ขณะนี้ สื่อต่างๆ ยกย่อง ท่าน สส.ฝ่ายค้านเรื่องนี้ ผมคิดว่าท่านน่าจะเข้าใจบัญชีประชาชาติคลาดเคลื่อนไปมาก ซ้ำในหมู่กองเชียร์ทำคลิปสื่อ ยังกล่าวหา รัฐบาล ว่า ทำสูตร GDP พิสดาร (ซึ่งร้ายแรงมาก )

เรื่องนี้ รัฐบาล และหน่วยราชการควรทำการอธิบายให้กระจ่างต่อประชาชน โดย มอบให้ กองบัญชีประชาชาติ สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเจ้าภาพแถลง

สุดท้ายนี้ แม้เรื่องประมาณการรายรับของคลัง จะทำมานาน คิดกว่าตั้งแต่ท่าน ดร.ป๋วย เป็น ผอ.สศค. ขอความกรุณา ท่าน สส. ได้โปรดศึกษาบัญชีประชาชาติ ตาม UN SNA ให้ ถ่องแท้ก่อนอภิปรายในสภาแบบมีเอกสิทธิ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2567 เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายแสดงความต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยระบุตอนหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรีมักย้ำอยู่เสมอว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังวิกฤตแล้ว โดยที่ฝ่ายค้านไม่ได้พูดเอง ซึ่งสภาวะวิกฤตก็จะสะท้อนผ่านการจัดสรรงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ในรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต แต่ขณะที่หนังสืองบประมาณฉบับประชาชน จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวของ GDP โต 5.4% ในปี 2567 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากเป็นการคำนวณอัตราการขยายตัวของ GDP ที่รวมเงินเฟ้อด้วย ซึ่งเป็นสูตรคำนวณที่ไม่มีประเทศใดทำ

ซึ่งต่อมา จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า โดยปกติแล้วการคาดการณ์ GDP มี 2 รูปแบบ คือ 

1.“ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน” หรือ Nominal GDP คือค่าGDPที่ได้จากการคำนวณมูลค่าของสินค้า หรือการลงทุนแบบตรงไปตรงมา “โดยไม่ได้นำอัตราเงินเฟ้อ เงินฝืด หรือค่าเงิน ณ ขณะนั้นมาคำนวณด้วย” ซึ่งตัวเลข GDP ที่แสดงในเอกสารงบประมาณ ที่ 5.4% เป็นการแสดงตัวเลขการคำนวณรายได้ของสำนักงบประมาณ เป็นการทำงานโดยปกติ หน้าอื่นของงบประมาณแสดงตัวเลขเป็น Real GDP มีเพียงหน้านั้นหน้าเดียวที่โชว์เป็น nominal สาเหตุที่ต้องรวมผลกระทบเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณการจัดเก็บรายได้ซึ่งเป็นตัวเลข nominal เช่นเดียวกัน ถ้าจะโกงตัวเลข ทุกหน้าก็ต้องเปลี่ยนเป็น 5.4% แต่ ศิริกัญญา กลับหยิบยกหน้านี้ขึ้นมาโดยหวังให้มีประเด็น

ส่วน GDP ที่ 3.2% เป็นการคำนวณGDPในแบบที่ 2.“ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง” หรือ Real GDP คือ ค่า GDP ที่ได้จากการนำอัตราเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ เงินฝืด และอัตราค่าเงินมาคิดคำนวณด้วย ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับการจัดทำประมาณการจัดเก็บรายได้ และโดยปกติในการรายงานGDPของทุกสำนัก จะใช้ตัวเลขนี้ ซึ่งในเอกสารงบประมาณทุกหน้า ก็ใช้ตัวเลขนี้ทั้งเล่ม 

“เป็นแค่วาทกรรม คงไม่ได้สร้างความสับสนให้ประชาชน โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่อยู่ในสายการเงิน กลางการคลังจะเข้าใจอยู่แล้วครับ เป็นตัวเลขหนึ่งที่นำเสนอในเอกสารงบประมาณเท่านั้น ซึ่งเอกสารทุกหน้า แสดงตัวเลข GDP ที่ 3.2% เวลาเปรียบเทียบกับงบประมาณ คือการจัดเก็บจริง จึงเอาตัวเลขที่เป็น Nominal GDP มาแสดงให้เห็น ซึ่งตรงนี้มันเป็นหลักการที่ทำมาโดยตลอด” จุลพันธ์ กล่าว