ไม่พบผลการค้นหา
พ.ร.บ.หลักทรัพย์ใหม่ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน เพื่อเป็นศูนย์กลางกำหนดนโยบาย บูรณาการงานพัฒนาตลาดทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ให้เทียบเท่าสากล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เผยแพร่บทความของนายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมาย ของ ก.ล.ต. เรื่อง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ใหม่ : ใครได้ประโยชน์ โดยเนื้อหาของบทความระบุว่า กฎหมายหลักทรัพย์ หรือ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 6 มีผลใช้บังคับแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถแข่งขันและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล สร้างความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ออกหลักทรัพย์ และเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน กฎหมายใหม่นี้มีประโยชน์ต่อผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนหลายกลุ่ม

กลุ่มแรก กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายใหม่นี้จะสร้างความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ สร้างโอกาสให้นำเสนอบริการใหม่ๆ ในตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับการลงทุนที่ตอบโจทย์และเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้ลงทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

การปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญในส่วนนี้ คือ ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ แต่เปิดให้ ก.ล.ต. กำหนดตามความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจได้ ซึ่งถือว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายใหม่และรายเก่าได้มาก นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน หรือ บลจ. ที่ต้องมีการขอมติจากผู้ถือหน่วยหากต้องการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมหรือวิธีการจัดการให้สะดวกยิ่งขึ้น

กลุ่มที่สอง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ใหม่จะเปิดทางให้ ตลท. สามารถเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ ตลท. และอาจนำไปสู่การเพิ่มฐานผู้ลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

กลุ่มผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งรวมทั้งบริษัทที่ทำไอพีโอ และบริษัทจดทะเบียนต่างๆ โดยกฎหมายใหม่เปิดให้สามารถใช้ระบบ scripless หรือ ระบบไร้ใบหลักทรัพย์ ได้ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การออกหลักทรัพย์จนไปถึงการรับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งทำผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะสร้างความสะดวกและลดขั้นตอนสำหรับผู้ออกหลักทรัพย์ตลอดจนผู้ถือหลักทรัพย์ได้เป็นอย่างมาก

สำหรับกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งมีความสำคัญที่สุดนั้น ประโยชน์ที่กลุ่มผู้ลงทุนจะได้จากกฎหมายใหม่ฉบับนี้มีหลายด้านด้วยกัน อาทิ โอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดทุนในรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และการได้รับความคุ้มครองมากขึ้นสำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวม จากการที่กฎหมายกำหนดให้ บลจ. ต่างๆ ต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และเพิ่มข้อกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วย ด้วยความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์จากการที่กฎหมายใหม่ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ให้เทียบเท่าสากล เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และคำนึงถึงประโยชน์ของตลาดทุนและผู้ลงทุนอย่างรอบด้าน รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวจากการที่กฎหมายมีการส่งเสริมการแข่งขันที่มากยิ่งขึ้นในตลาดทุน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ใหม่ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน หรือ CMDF เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและบูรณาการงานด้านการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแยกบทบาทหน้าที่ในด้านการพัฒนาตลาดทุนออกจากการเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหลักทรัพย์ของ ตลท. โดย CMDF จะมีประธานกรรมการ ตลท. เป็นประธาน มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ รวมถึงผู้จัดการ ตลท. และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะกรรมการ CMDF จะมีการแต่งตั้งผู้จัดการ CMDF เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารงานตามนโยบายของคณะกรรมการ เพื่อสร้างประโยชน์การพัฒนาตลาดทุนเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง