ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการพื้นที่ควบคุมโครงการยุงลายพิเศษในพื้นที่รัฐฟลอริดามีมติ ปล่อยยุงลายตัดต่อพันธุกรรม เพื่อการทดลองเวลา 2 ปี ประชาชนคัดค้านหนัก ชี้ยังไม่มีการพิจารณาความเสี่ยงที่ครบถ้วน

ศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารของสหรัฐฯ ประกาศอ้างอิงมติคณะกรรมการพื้นที่ควบคุมโครงการยุงลายพิเศษในพื้นที่รัฐฟลอริดา (FKMCD) ที่อนุญาตให้มีการปล่อยยุงลายตัดต่อพันธุกรรมจำนวน 750 ล้านตัว เป็นครั้งแรกเมื่อ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยโครงการปล่อยยุงลายตัดต่อพันธุกรรมดังกล่าวมีระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี และจะเริ่มดำเนินการในปี 2564 ณ เมืองมอนโรว์ เคาท์ตี รัฐฟลอริดา 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์ต่อต้านการปล่อยยุงตัดต่อพันธุกรรมกว่า 2,000 ความเห็นจากประชาชนฟลอริดา รวมไปถึงกระแสเรียกร้องให้มีการลงคะแนนประชามติเมื่อเดือน พ.ย. ในปีที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการบริหารเลือกที่จะปฏิเสธกระบวนการรับฟังความเห็นของผู้อยู่อาศัยในเมืองมอนโรว์ เคาท์ตี

เจย์ดี แฮนสัน ผู้อำนวยการนโยบายศูนย์ประเมินผลเทคโนโลยีนานาชาติ และ ศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารของสหรัฐฯ กล่าวในเชิงไม่สนับสนุนว่า ท่ามกลางวิกฤตมากมายที่เกิดขึ้นในประเทศและในรัฐฟลอริดา ทั้งโควิด-19 การเหยียดเชื้อชาติ และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการฯ ยังเลือกที่จะใช้เงินภาษีของประชาชนและทรัพยากรจากภาครัฐมาทดลองในโครงการ "จูราสสิค พาร์ค"

ขณะที่ บาร์รี เวรย์ ผู้อำนวยการบริหารสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมแห่งฟลอริดา ชี้ว่า คณะกรรมการควบคุมโครงการยุงลายมีหน้าที่ขึ้นตรงต่อชุมชน ไม่ใช่การทำตัวเป็นผู้ขายสินค้าที่มีความเสี่ยงและไม่น่าเชื่อถือ พร้อมเสริมว่า FKMCD กำลังพยายามสร้างความก้าวหน้าในกับงานทดลองของตนเอง ที่อาจต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

พ่นกำจัดยุงลาย-ไข้เลือดออก

โครงการปล่อยยุงคืออะไร?

เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) มีมติอนุญาตให้เริ่มทดลองโครงการทดลองปล่อยยุงลายที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมแล้ว โดยหวังว่าจะเป็นตัวเลือกในการกำจัดยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคหลากหลาย อาทิ โรคไข้เลือดออกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี หรือ โรคชิคุนกุนยา (โรคไข้ปวดข้อยุงลาย) 

ในการทดลองครั้งนี้ โอซิเทค (Oxitec) บริษัทสัญชาติอเมริกันซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร พัฒนาการตัดต่อพันธุกรรมยุงลายโดยจำกัดให้ตัวอ่อนเพศเมียตายตั้งแต่ก่อนโตเต็มวัย เนื่องจากมีแต่ยุงลายเพศเมียเท่านั้นที่ต้องการดูดเลือดมนุษย์ เพื่อเอาไปเลี้ยงตัวอ่อนของตนเอง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฟลอริดาต้องลุกขึ้นมาอสู้กับวิกฤตยุงลายเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2552-2553 ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสเด็งกีจาก 'ยุงลายบ้าน' หรือ 'ยุงไข้เหลือง' ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aedes aegypti ที่ไม่ว่ารัฐฯ จะพยายามควบคุมด้วยวิธีการใด ก็ยังไม่สามารถจัดการได้สักที นอกจากนี้ งบประมาณที่ FKMCD ใช้ในการกำจัดยุงลายบ้านที่มีประชากรเพียงแค่ 1% ประชากรยุงทั้งหมด ยังสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ / ปี หรือประมาณ 31 ล้านบาท 

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2555 รัฐจึงติดต่อ โอซิเทค ให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทพํฒนายุงลายตัวผู้ภายใต้ชื่อ OX513A ซึ่งถูกตัดต่อพันธุกรรมให้ตายก่อนเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยยกเว้นเพียงแต่ยุงลายตัวผู้นั้นจะเติบโตในน้ำที่มีส่วนประกอบของ 'เตตราไซคลีน' (Tetracycline) ซึ่งมีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ กลุ่ม OX513A ที่ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับตัวเมีย จะถ่ายทอด 'โปรแกรมฆ่าตัวอ่อน' ออกไป เพื่อลดจำนวนประชากรยุง 

แม้การทดลองดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนยุงลายบ้านได้กว่า 95% ในพื้นที่เมืองประเทศบราซิล ทว่ากลับมีกระแสตีกลับอย่างหนักในฟลอริดา และประชาชนกว่า 2.4 แสนราย ลงชื่อประท้วงเรียกร้อง

ที่ผ่านมา EPA อยู่ระหว่างตรวจสอบผลกระทบของยุงลายที่อาจมีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทว่าท่ามกลางการประเมินผลดังกล่าว โอซิเทค ที่พัฒนายุงลายยุคใหม่ OX5034 พร้อมชี้ว่าเป็น "ยุงลายเป็นมิตร" มากขึ้นกว่าเดิม กลับได้รับการอนุญาตจาก EPA โดยทันที โดยไม่มีการฟังความเห็นของประชาชน หรือรอให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างถี่ถ้วน

อ้างอิง; CNN, NY Daily News, UPI

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;