วันที่ 22 ก.ค. ที่รัฐสภา สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกระแสการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ ส.ส.บางกลุ่มเตรียมคว่ำ จุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า มีความมั่นใจพรรค ปชป.จะมีเอกภาพในการลงมติในทิศทางเดียวกัน แต่อาจมีบางเสียงที่ ส.ส.ใช้เอกสิทธิ์ไม่เป็นตามมติพรรค แต่ส่วนเอกภาพในพรรค ตนคิดว่ามีสูงอยู่แล้ว ซึ่งตนหมายถึงรัฐมนตรีทุกคน และเท่าที่ฟังจุติ ตอบคำถามได้ชัดเจนในเชิงนโยบาย ท่านอาจมีความบกพร่องนิดเดียวคือไม่ตอบในวันนั้นจึงทำให้มีอาการรู้ว่ายังไม่พร้อมตอบ แต่ตนคิดว่าท่านคงมีเหตุผลในแง่ที่จะตอบหรือความเหมาะสมที่จะใช้ข้อมูลให้ครบถ้วน
เมื่อถามถึงกระแสในพรรค ปชป.มีกระแส จุติ ตั้งทีมสู้กับ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรค ปขป. นายสาธิต กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่ในส่วนของการเมืองเป็นเรื่องที่ คนถูกอภิปรายต้องไปหาเสียงสนับสนุนเพื่อโหวตสนับสนุนตัวเอง
เมื่อถามต่อว่า มีการส่งสัญญาณปรับ ครม.หรือยัง สาธิต กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องถามนายกรัฐมนตรี
ส่วนกรณี สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งสัญญาณอาจกลับไปใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 สาธิต กล่าวว่า ตอนนี้กฎหมายอยู่ขั้นตอนการพิจารณารายมาตราวาระ 2 โดยหลังจากผ่านวาระ 3 ต้องส่งไปที่ กกต. หากสมมติว่ามีความเห็นสูตร 500 อาจขัดรัฐธรรมนูญและหาก กกต.คิดว่าเป็นปัญหา ก็จะกลับไปสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้นก็จะไม่เสียเวลานำไปสู่การพิจารณาของสภาร่วม เพื่อมาแก้ไขในมาตรา 23 เกี่ยวกับสูตรการคำนวณ ส.ส. รวมทั้งมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า ท่าที่ของ ปชป.เห็นด้วยหรือไม่ที่จะกลับมาสูตร 100 สาธิต กล่าวว่า ไม่มีความเสี่ยงและสอดคล้องกับ กมธ.เสียงข้างมาก และที่ผ่านมา กกต.ก็มาให้ความเห็นทุกขั้นตอน ว่าการใช้สูตร 500 จะมีความหมิ่นเหม่ผิด รธน. ฉะนั้นหากทำกฎหมายที่รอบคอบปลอดภัยจะเป็นประโยชย์กับทุกฝ่ายและสอดคล้องกับหลักการ
เมื่อถามต่อว่า มีการมองสาเหตุที่กลับมาสูตร 100 เพราะฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่ได้เปรียบจากสูตร 500 สาธิต ระบุว่า ตนไม่ได้ใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ตนร่างกฎหมายและกติการเลือกตั้งเพื่อความเป็นธรรม ส่วนใครจะได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน และกติกาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เมื่อถามว่า การที่ทำให้วุ่นวายเพื่อไปสู่การคว่ำกฎหมายลูกในวาระ 3 เพื่อออก พ.ร.ก.เกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นประโยชน์กับฝ่ายบริหาร สาธิต กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.อาจจำเป็น แต่การออก พ.ร.ก.โดยไม่มีทุกฝ่ายมาร่วมร่างกติกาในขั้น กมธ.ร่วมมันก็จะเป็นความขัดแย้งในขั้นตอนต่อไป ดังนั้นการจะทำให้บ้านเมืองรายรื่นก็ควรเป็นไปตามหลักการและกลไก
"ใครจะไปจะมา รัฐบาลจะอยู่หรือจะไป รัฐบาลใหม่จะมาแต่หลักการของประเทศต้องยังอยู่ เพื่อช่วยกันให้เกิดสิ่งนี้ให้ได้"
เมื่อถามว่า การกลับไปกลับมาจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาอีกหรือไม่ สาธิต กล่าวว่า ตนยอมรับหากกลับไปกลับมาจริงประชาชนก็จะไม่เชื่อมั่นในเสียงการประชุมร่วมรัฐสภา ต้องตำหนิคนที่พยายามเปลี่ยนและกลับไปกลับมาว่ามีผลอะไรที่คิดแบบนั้น ซึ่งตนก็ทราบว่าประชนชนรู้คือใครคิดยังไงและอยากให้เป็นอะไร มันปิดกันไม่ผิด