ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เข้าเยี่ยมอาการบาดเจ็บ 'คณากร เพียรชนะ' ที่ จ.ยะลา หลังผู้พิพากษาใช้ปืนยิงตัวเองบาดเจ็บ โดยเลขาฯศาลยุติธรรมยืนยันการปฏิบัติการของผู้พิพากษาทั่วประเทศมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2562 เวลา 11.00 น. ที่โรงพยาบาลยะลา นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมคณะเดินทางมาเยี่ยมอาการบาดเจ็บของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ซึ่งบาดเจ็บจากเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง ในห้องพิจารณาคดี 4 ชั้น 2 อาคารศาลจังหวัดยะลา โดยนายคณากร นอนพักรักษาตัวในห้องผู้ป่วยพิเศษ ตึกยี่เกี่ยว ชั้น 2 โดยมี นพ.บรรยง เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลา พล.ต.ต.ปราบพาล มีมงคล ผบก.ภ.จว.ยะลา นายอนิรุจ ใจเที่ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา ให้การต้อนรับ โดยใช้เวลาการเยี่ยมอาการ ประมาณ 15 นาที ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของ จนท.ตำรวจ และ รปภ.ประจำศาล อย่างเข้มข้น โดยห้ามสื่อมวลชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องขึ้นไปยังชั้น 2 ของห้องผู้ป่วยอย่างเด็ดขาด

โดยนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวภายหลังเยี่ยมอาการ นายคณากรในห้องพักรักษาตัว ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้อาการของผู้พิพากษาคณากร อาการดีขึ้นแล้ว อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

การทำหน้าที่ของศาลยุติธรรมหลักการที่สำคัญ คือ ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางเพราะฉะนั้น ตนให้ความมั่นใจกับประชาชน เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของศาล ไม่เฉพาะที่จังหวัดยะลา แต่ของศาลทั่วประเทศ ว่าอยู่ภายใต้การดูแลของประธานศาลฎีกา ซึ่งสามารถให้คำแนะนำผู้พิพากษาศาลได้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประกันความเป็นอิสระและความเป็นกลางของศาลได้ 

นอกจากนี้ยังมีรัฐธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานศาลจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หาสาเหตุของปัญหา จะหาแนวทางที่แก้ไขต่อไป ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) ตนเองจะรายงานในที่ประชุมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งสภาพปัญหาทั้งหมด ซึ่งหลังจากนี้ตนจะเข้าร่วมประชุมกับศาลจังหวัดยะลากันต่อไป

ส่วนกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ ตนยังไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้พิพากษาที่บาดเจ็บ เพียงแค่มาเยี่ยมและให้กำลังใจให้รักษาตัวให้ปลอดภัยเท่านั้น เป็นประเด็นหลัก ไม่ได้มาสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าท่านผู้พิพากษายังมีสภาพที่ไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล หรือพูดคุยในเรื่องเหล่านี้ ตนเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนให้ความมั่นใจกับประชาชน การทำงานของศาลยุติธรรม เราเคารพในการพิจารณาของผู้พิพากษา

ดังนั้น การแทรกแซงจะระมัดระวังอยู่แล้ว ในวัฒนธรรมการทำงานของศาล นั้น การดำเนินการต่างๆ มีเขียนอยู่ในกฎหมาย นอกจากมีรัฐธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว ในตัวบทกฎหมายประมวลกฎหมายพิจารณา ป. วิอาญา ก็ระบุไว้ชัดเจน ในมาตรา 183 กำหนดว่า ถ้าผู้พิพากษา มีความเห็นที่แตกต่างกัน สามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งการทำความเห็นแย้งกันหรือ คำพิพากษา ต้องทำเป็นหนังสือ

นอกจากนี้ในมาตรา 184 ในคดีอาญา ทางผู้พิพากษาสามารถที่จะปรึกษาหารือกัน ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันในคดีอาญา ผลที่เห็นเป็นผลร้ายต่อจำเลยมากกว่า ต้องยอมตามที่ผู้พิพากษามีความเห็นเป็นผลร้ายให้กับจำเลยมากกว่า หมายความว่า หากคนหนึ่งเห็นว่ายกฟ้อง คนหนึ่งเห็นว่าลงโทษ คนที่เห็นว่าควรลงโทษต้องยอมตามคนที่เห็นว่ายกฟ้อง เพราะฉะนั้นเป็นหลักปฏิบัติในตัวกฎหมาย มาตรา 183 184 ประมวลกฎหมายวิธีความพิจารณาคดีอาญา

ดังนั้นหลักเกณฑ์ต่างๆ ชัดเจน ประชาชนต้องได้รับความยุติธรรม และได้รับความมั่นใจว่าศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดี ด้วยความยุติธรรมปราศจากการแทรกแซง นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าการพิจารณาคดี ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีเกี่ยวกับความมั่นคงก็ดี ส่วนที่คดีศาลพิพากษายกฟ้องกับลงโทษ ไม่ได้มีลงโทษ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวนเกือบครึ่งศาลพิจารณายกฟ้อง ไม่เคยมีปัญหากับฝ่ายบริหารเลย สิ่งที่ฝ่ายบริหารต้องปรับปรุง คือ รูปแบบในการรวบรวมพยานหลักฐาน มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง แต่ศาลจะทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน คนที่มีคดีเข้าสู่ศาลจะได้รับการคุ้มครองทุกคน ตนขอย้ำว่า ศาลมีความกลางละความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง