ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ทส. เผย กรมอุทยานฯทะเล รายงาน เจ็ทสกีดารา กวนพะยูน ที่เกาะลิบงแล้ว มอบนโยบายอุดหนุนเรือชาวบ้านพาเที่ยว สร้างความหวงแหน สร้างรายได้

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้โพสต์เรื่อง ดาราขับเจ็ทสกี รบกวนพะยูน ในเขตอุทยานดุหยง เกาะลิบง ซึ่งถือเป็นมรดกอาเซียน ว่า ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว ทางนายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง รายงานให้ทราบว่า ตามที่มีผู้ร้องไปทางสื่อ ประเด็นมีกลุ่มบุคคลได้นำเรือเจ็ทสกีเข้ามาขับในเขตฯลิบงบริเวณ (อ่าวทุ่งจีน) และอาจทำให้เกิดอันตรายจากการชนจากเรือต่อพะยูนและสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้นั้น

1.กลุ่มบุคคลดังกล่าวคือ คณะของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีทีมงานจำนวน 6 คน เข้าไปใช้สถานที่เขตฯลิบง เพื่อถ่ายทำรายการโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) โดยได้มีหนังสือขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในเขตฯลิบง จ.ตรัง ไปยังสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแล้วและทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้มีหนังสือสำนักฯที่ ทส 0909.105/ 739 ลงวันที่ 6 ก.พ.2563 อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวเข้าไปใช้สถาน ที่โดยให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ.2562 

2. เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2563 จนท.ได้ไปพบคณะดังกล่าวพร้อมกับกำชับให้คณะดังกล่าวปฏิบัติภายใต้ระเบียบและกฎหมายตลอดจนแนวปฏิบัติตามกติกาชุมชน โดยเฉพาะบริเวณอ่าวทุ่งจีนที่เป็นที่อาศัยของพะยูนซึ่งต้องชลอความเร็วของยานยนต์ต่างๆทางคณะผู้ถ่ายทำก็ได้ปฏิบัติตามระเบียบคือชลอความเร็วยานยนต์และนำเจ็ทสกีไปผูกกับทุ่นจอดเรือจากนั้นก็ได้นำโดรนขึ้นบินบันทึกภาพ และเดินทางกลับที่พักที่เกาะลิบง

3 .วันที่ 14 ก.พ.2563 คณะดังกล่าวได้ทำการถ่ายทำเรื่อง กะปิ บริเวณ ร้านค้าบนเกาะลิบง ก่อนที่จะเดินทางโดยรถยนต์จากหมู่บ้านบนเกาะลิบง มายังท่าเรือบ้านพร้าว และคณะได้ขับเจ็ทสกีออกจากเกาะลิบงเพื่อเดินทางไปยังเกาะเหลาเหลียง ซึ่งอยู่ นอกเขตฯลิบง การถ่ายทำภาพยนตร์ที่เกาะลิบง จึงจบลง

4. สำหรับประเด็นตามรูปจะเห็นว่าเจ็ทสีมีความเร็วนั้นได้ตรวจสอบแล้วทราบว่าเส้นทางที่เจ็ทสกีมีความเร็วเป็นเส้นทางที่อยู่ห่างจากบริเวณที่พะยูนอาศัยหากินพอสมควร จึงไม่ก่อให้เกิดการชนของยานยนต์ต่อพะยูน อีกทั้งได้ตรวจยานยนต์แล้วพบว่าเป็นยานยนต์ที่ไม่มีใบพัดการขับเคลื่อนโดยใช้แรงดันจากน้ำ เมื่อควบคุมความเร็วในบริเวณที่กำหนดไว้ก็จะไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลและอื่นๆ

“จากการที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว บางครั้งวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่กลับวิจารณญาณของคนที่พบเห็นอาจจะแตกต่างกันไป บางครั้งเจ้าหน้าที่คิดว่าปลอดภัยแล้วแต่ผู้ที่พบเห็นบอกว่ายังไม่ปลอดภัย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกผมได้ให้นโยบายกับอธิบดี ไปว่าต่อจากนี้ถ้ามีใครจะมาขออนุญาตทำกิจกรรมในแนวเช่นนี้อีก ในเขตอุทยาน จะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ยานพาหนะหรือเรือของชาวบ้าน ชาวประมง หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ ท้องถิ่น เท่านั้น ด้วยเหตุผลว่า 1. เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน ให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินเข้ามาในลักษณะของนักท่องเที่ยว 2. เมื่อใช้คนในพื้นที่เป็นผู้นำทาง ด้วยความชำนาญแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือเขาจะมีความหวงแหนทรัพยากรที่ท้องถิ่นมีอยู่ เช่น พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวถ้ำ แล้วถ้านักท่องเที่ยวจะไปขีดเขียนอะไร เขาจะมีความรู้สึกว่านี่คือสมบัติของท้องถิ่นของเขา และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนพื้นที่ทุกคน ก็จะไม่ยอมให้ใครมาทำอะไร เป็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ทั้งทางบกและทางน้ำ และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ไปในตัว ผมมอบแนวทางดังกล่าวให้กับอธิบดีไปแล้วว่าต่อไปนี้ทุกกรณีต้องใช้ยานพาหนะของคนในท้องถิ่น” นายวราวุธ กล่าว