ไม่พบผลการค้นหา
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 31 ม.ค. 2565 หวั่นโควิดสายพันธุ์โอไมครอนระบาดหนักในยุโรป ชี้ใกล้เทศกาลปีใหม่ คนรวมตัวมากอาจแพร่ระบาดง่าย ขณะเดียวกันนายกฯได้ลงนามไว้คงอำนาจตามประกาศ-ข้อกำหนด-คำสั่งที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ตามเดิม

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 15) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศดังกล่าว โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 14 ออกไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. พ.ศ. 2564 นั้นสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง กอปรกับรัฐบาลให้ความสำคัญแก่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขควบคู่ไปกับการดำเนินนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ 

อย่างไรก็ดี การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในทวีปยุโรปกลับมามีการระบาดอย่างรุนแรงขึ้นอีกครั้งจากสายพันธุ์โอไมครอนที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า ประกอบกับประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของเชื้อได้ง่าย

และในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมีการรวมตัวและการเดินทางของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้ปัญหาการลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่ชายแดนรุนแรงมากขึ้น กรณีจึงจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขของชาติและชีวิตประชาชน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 30 พ.ย. พ.ศ. 2564 จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. พ.ศ. 2564 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. พ.ศ. 2565

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ลงนามในประกาศ เรื่องการให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 15) ลงวันที่ 30 พ.ย. พ.ศ. 2564 นั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ. 2563 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ใน ประกาศ เรื่องการให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 15) ลงวันที่ 30 พ.ย. พ.ศ. 2564 นั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 

นายกรัฐมนตรีจึงให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนด เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป