ไม่พบผลการค้นหา
ทูตเฮติประจำกรุงวอชิงตันดี.ซี. ของสหรัฐฯ ร้องขอให้ประชาคมโลกเร่งรัดการหารือ ในประเด็นการส่งกองทัพเข้าแทรกแซงประเทศตน พร้อมกันกับการประกาศเตือนว่า หากการดำเนินการยังคงล่าช้า กลุ่มอาชญากรในประเทศอาจขึ้นยึดครองเฮติได้ในท้ายที่สุด

บ็อกชิต เอ็ดมอนด์ ทูตเฮติประจำสหรัฐฯ พยายามร้องขอการสนับสนุนให้สหประชาชาติ ผลักดันมติการส่งกองทัพเข้าแทรกแซงกิจการภายในเฮติ หลังจากมติดังกล่าวคงค้างอยู่ในการประชุม ในขณะที่สหรัฐฯ และแคนาดาพยายามจัดการประชุมฉุกเฉิน เพื่อหาทางฝ่าทางตันในสถานการณ์ของเฮติ

“สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าเราจะไปได้เร็วแค่ไหน และต้องแน่ใจว่าเราจะเอาพวกกลุ่มติดอาวุธออกจากกิจการได้ เพราะถ้าเราไม่ทำมันอย่างเร่งด่วน มันคงต้องถึงเวลาที่พวกเขาจะเข้ายึดครองทั้งประเทศ” เอ็ดมอนด์ระบุถึงสถานการณ์ในเฮติกับทางสำนักข่าว The Guardian “มันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของเราทั้งหมด หากเราปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น”

ปัจจุบันนี้ กลุ่มอาชญากรติดอาวุธหนักได้ปิดกั้นคลังน้ำมันหลักของเฮติ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศต้องหยุดชะงัก และก่อให้เกิดการล่มสลายของบริการขั้นพื้นฐานลง ท่ามกลางการระบาดของอหิวาตกโรคและปัญหาความอดอยากในเฮติ ทั้งนี้ สหประชาชาติกล่าวว่าชาวเฮติ 96,000 คน ถูกบังคับให้ลี้ภัยออกนอกประเทศ เพื่อหลีกหนีเหตุการณ์ความรุนแรง

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงมติเห็นพ้องเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาในการคว่ำบาตรหัวหน้ากลุ่มอาชญากรในเฮติ แต่ยังคงไม่มีการอนุมัติให้มีการเกณฑ์กองกำลังที่ไม่ใช่ของสหประชาชาติ จากประเทศที่ให้การสมัครใจ เพื่อเข้าช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในเฮติ ในการจัดการกับกลุ่มอาชญากรติดอาวุธหนักของประเทศ

สหรัฐฯ ระบุว่า ตนหวังว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะผ่านมติการส่งกองกำลังต่างประเทศเข้าไปยังเฮติ และ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนออตตาวาของแคนาดา เพื่อหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกันกับ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา

แคนาดาส่งทีมค้นหาข้อเท็จจริงไปยังเฮติเพื่อประเมินความต้องการด้านมนุษยธรรมและความมั่นคง แต่ทรูโดไม่ยินยอมกับเรื่องดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีแคนดากล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ว่า “ก่อนที่เราจะตั้งภารกิจใดๆ เราต้องเห็นแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน”

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ภารกิจการทูตทของสหประชาชาติและประเทศภายนอกจะดำเนินต่อไป “รายละเอียดที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น ต้องมีขอบเขตที่จำกัดและกำหนดเส้นอย่างระมัดระวัง เราได้ชี้แจงชัดเจนว่ามันจะเป็นภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจของสหประชาชาติ ที่นำโดยประเทศหุ้นส่วน ผ่านการใช้ประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง และจำเป็นสำหรับความพยายามดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลจริง” ไพรซ์กล่าว

มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การแทรกแซงด้วยกองกำลังต่างชาติในเฮติ อาจทำให้ประเทศต่างๆ ที่ส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปในการต่อสู้ พบกับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อโดยไม่มีทางออกที่ชัดเจน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับกองกำลังของสหประชาชาติครั้งก่อน

นักเคลื่อนไหวชาวเฮติยังเตือนด้วยว่า การแทรกแซงอาจทำให้ความรุนแรงทวีคูณขึ้นโดยปราศจากวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว โดยก่อนหน้านี้ มีเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ซึ่งถูกส่งไปประจำการหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเฮติเมื่อปี 2553 ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงชาวเฮติกันอย่างเป็นระบบ และทำให้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 10,000 คน และใช้เวลากว่า 9 ปีในการจัดการกับการระบาดของโรค

เอ็ดมอนด์ เอกอัครราชทูตเฮติในสหรัฐฯ กล่าวว่า มันจำเป็นต้องมีวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงอุปสรรคเหล่านั้น “ผมเข้าใจว่ามันมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น และผมมั่นใจว่าเราได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านี้แล้ว และเราสามารถเห็นได้ว่าเราจะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร” เอ็ดมอนด์ระบุ “แต่สิ่งเดียวที่ผมจะพูดคือ ดูสถานการณ์ในเฮติสิ เพราะคุณมีประชากรที่ไม่สามารถสู้กับกลุ่มอาชญากรติดอาวุธ ซึ่งมีอำนาจการยิงเหนือกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่ามาก”

“มีเด็ก 4 ล้านคนที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ผู้สูงอายุทุกคนที่ต้องการการดูแลที่โรงพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ และตอนนี้คุณมีอหิวาตกโรคระบาด บริษัทที่ผลิตน้ำดื่มไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากคลังน้ำมันหลักถูกปิดกั้น ดังนั้นมันคือสูตรสำเร็จของวันสิ้นโลก (ในเฮติ)” เอ็ดมอนด์กล่าว “แค่ดูฉากทัศน์นี้แล้วตัดสินใจเอาเอง หากชาวเฮติไม่สมควรที่จะมีชีวิตเหมือนกันกับคนของคุณ”


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/oct/30/haiti-ambassador-usa-criminal-gangs?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR0_JybxNYJXlu_FKnL7l0aqD7jEGQY8aRpPXafReIDXDftJldkiNVzgYLI