ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ ออนไลน์ แนะนำ 7 วิธีในการป้องกันตัวเองในการสู้วิกฤตโรคระบาด ซึ่งใจความสำคัญ ต้องมีสติ ไม่ตระหนก ปฏิบัติตัวให้ไม่แพร่เชื้อส่งต่อให้ผู้อื่น

1. ล้างมือให้สะอาด ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที

WHO แนะนำว่าการล้างมือคือวิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุด โดยให้ล้างมือด้วยน้ำเปล่าให้ทั่ว ไม่ต้องปิดน้ำ กดสบู่แล้วถูอย่างละเอียดจนขึ้นฟอง ถูหลังมือด้วยการสอดนิ้วของทั้งสองมือเข้าด้วยกัน แล้วสลับข้าง จากนั้นถูฝ่ามือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันโดยการสอดนิ้วมือระหว่างฝ่ามือทั้งสอง กำมือทั้งสองข้างลักษณะคล้ายฝาหอยและถูแบบบิดไปมา กำนิ้วหัวแม่มือแล้วถู ล้างปลายนิ้วที่เหลือโดยการถูกับฝ่ามืออีกข้าง ถูรอบข้อมือ ล้างน้ำสะอาด เช็ดด้วยกระดาษชำระแบบใช้แล้วทิ้ง ปิดก็อกน้ำด้วยกระดาษ แล้วทิ้งลงถัง

ล้างมือ.jpg


ความแตกต่างของการล้างมือด้วยน้ำสบู่ กับเจลแอลกอฮอลล์ คือ แอลกอฮอลล์จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสบนมือของเราได้เมื่อใช้มากพอและทิ้งไว้ราว 1 นาที แต่จะไม่กำจัดเชื้อที่ตายแล้วออกจากมือ สบู่ไม่สามารถฆ่าเชื่อไวรัส แต่จะล้างทุกสิ่งทุกอย่างออกจากมือของเราได้อย่างหมดจด เมื่อล้างสะอาดพอและใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาที


2. สวมใส่หน้ากากอนามัย 

หน้ากากอนามัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ 

  • แบบ N95 ป้องกันการทะลุผ่านของอนุภาคขนาดเล็กที่ลอยมาในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กถึง 0.3 ไมครอน เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 50-70 ไมครอน แต่ "ไวรัสโควิด-19" นั้นเล็กเพียง 0.12 ไมครอน จึงอาจผ่านเข้าได้
  • 'Surgical Mask' หน้ากากอนามัยของบุคลากรทางการแพทย์ ถูกออกแบบมาเพื่อดักฝอยละอองหรือสารคัดหลั่งจากปากและจมูกของเราไว้ด้านในของหน้ากากไม่ให้แพร่สู่ผู้อื่น ดักจับอนุภาคขนาดเล็กเพียง 3 ไมครอน และไม่รัดรูปเข้ากับใบหน้าเท่ากับหน้ากาก N95 

แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยทั้ง 2 ชนิดนี้ก็คือ ผู้สวมใส่ส่วนใหญ่มักไม่สวมหน้ากากอย่างถูกวิธี บ้างก็ไม่กระชับกับรูปหน้า มีช่องว่างระหว่างข้างจมูกและแก้ม หลายคนมีพฤติกรรมชอบจับ ปรับ ขยับหน้ากากเป็นประจำตลอดทั้งวัน สัมผัสใบหน้า ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เฉลี่ยประมาณ 23 ครั้งต่อชั่วโมง (ผลการศึกษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ออสเตรเลียเมื่อปี 2016)

AFP-หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ไวรัสโคโรนา โควิด-19 COVID-19-1.jpg


วิธีการใส่ที่ถูกต้องตามที่ WHO แนะนำคือ ล้างมือให้สะอาด ตรวจเช็คสภาพหน้ากากอนามัยว่าไม่ชำรุด สวมหน้ากากโดยนำด้านสีขาวติดกับใบหน้า บีบลวดที่สันจมูกเพื่อปรับให้ไม่มีช่องว่าง ดึงหน้ากากครอบใต้คาง ไม่จับด้านหน้าของหน้ากากขณะสวมใส่ ถอดโดยการถึงสายรัดข้างหลังใบหู ทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด

ทั้งนี้ อาจใช้กรรไกรตัดที่ตัวหน้ากากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเก็บมาใช้ซ้ำหรือขายซ้ำดังที่เป็นข่าว

ขณะเดียวกัน ในภาวะที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยควรเป็นกล้มแรกที่ต้องมีหน้ากากอนามัยใช้ สำหรับคนทั่วไปการใช้หน้ากากแบบผ้าสามารถทำได้เช่นกัน โดยกรมควบคุมโรคของไทยยืนยันว่ามีประสิทธิภาพสามารถป้องกันได้ราว 54-59 เปอร์เซ็นต์


3. ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

หากไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะ คือการสร้างระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing โดยการลดปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทั้งระยะห่าง ระยะเวลา และจำนวน เช่น ไม่จัดกิจกรรมที่ต้องมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก งดการรับประทานอาหารร่วมกัน หยุดเรียน ทำงาน หรือประชุม ในห้องที่ต้องนั่งติดกัน งดใช้ขนส่งสาธารณะ และอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-3 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากคนรอบข้างที่ป่วยเพราะสารคัดหลั่งลอยได้ไกลถึง 3 เมตรจากการไอจาม

social distancing.jpg


4. ไอ จามต้องระวังไม่ให้ละอองน้ำลายหลุดลอยไปในอากาศ

การใช้มือป้องปากขณะไอจามคือสิ่งที่เราเคยชิน จำไว้เสมอว่าหากใช้มือป้องปากต้องล้างมือให้สะอาดทันที เมื่อต้องไอหรือจามในสถานการณ์ที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยอยู่ควรไอจามใส่บริเวณแขนพับของตัวเองเท่านั้น เพื่อให้เชื้อโรคอยู่ไกลมือมากที่สุด หากอยู่ท่ามกลางผู้คนควรหันหน้าออกจากกลุ่มคนและก้มหน้าเพื่อไอหรือจามใส่ที่แขนพับตัวเองทันที แต่วิธีที่ทำให้ฝอยละอองจำนวนมหาศาลหลุดลอยออกจากปากและจมูกเราน้อยที่สุดคือการไอจามใส่กระดาษทิชชู่ขนาดที่ใหญ่พอ หลังจากนั้นต้องทิ้งลงถังขยะและล้างมือทันที หากคุณไอจามใส่หน้ากากอนามัย ต้องเปลี่ยนชิ้นใหม่ทันที

ไอ จาม ไวรัส.jpg


5. ทำความสะอาดโทรศัทพ์มือถือ

โดยจากสถิติพบว่าคนไทยใช้เวลาบนโลกออนไลน์เฉลี่ย 9 ชม.ต่อวัน โดย 55 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำนั่นหมายความว่าเราอยู่กับสมาร์ตโฟนนานมากในแต่ละวัน แม้จะล้างมือสะอาดแค่ไหนแต่ถ้าไม่ทำความสะอาดสมาร์ตโฟน เชื้อโรคก็จะยังอยู่ที่มือเราอยู่ดี 

วิธีง่ายๆ คือการใช้ผ้าหรือสำลีจุ่มน้ำสบู่ เช็ดให้ทั่วสมาร์ตโฟนที่ปิดเครื่องและแกะเคสออกเรียบร้อยแล้ว เช็ดด้วยกระดาษทิชชู่เปียกที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ฉีดใส่กระดาษทิชชู่แล้วเช็ดทำความสะอาด 

โทรศัพท์.jpg


6. ใช้ช้อนกลางส่วนตัว

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนไม่น้อยได้รับเชื้อจากคนใกล้ตัวและสมาชิกในครอบครัว การรับประทานอาหารร่วมกันคือพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง หลายคนจึงเลือกใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกัน หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าคือการใช้ 'ช้อนกลางส่วนตัว' ที่ไม่ใช่ 'ช้อนกลางส่วนรวม' เพราะไม่ต้องหยิบช้อนกลางร่วมกับคนอื่นเลย อย่างไรก็ตาม การแยกชุดอาหารกันคือวิธีที่ลดการแพร่เชื้อได้ดีที่สุด และควรเป็นอาหารร้อน ปรุงสุกใหม่ด้วย

อาหาร


7. กักตุนอาหาร

เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ ความตื่นตระหนกหรือการ 'PANIC' ย่อมเกิดขึ้นเสมอ พฤติกรรมการกักตุนอาหารคือสิ่งที่เห็นได้ชัดในหลายประเทศรวมถึงไทย แต่อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป สิ่งที่ควรทำคือการซื้อข้าวสารอาหารแห้งไว้แต่พอดี ในปริมาณที่เรามัก 'ซื้อของติดบ้าน' กันตามปกติ 

กักตุนสินค้า-ห้าง-โควิด-19


กลุ่มคนที่ควรกักตุนอาหาร หรือ 'เตรียมสเบียงอาหาร' มากที่สุดคือ 'กลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน และไม่มีคนช่วยเหลือ' การกักตุนอาหารเกินความจำเป็นอาจส่งผลให้ผู้ที่ต้องการใช้อาหารเหล่านั้นจริงไม่สามารถหาอาหารได้ และในความเป็นจริงแล้วไทยคือแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก การที่อาหารจะหายไปจากทุกร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แม้แต่เมืองใหญ่ของจีนในช่วงระบาดหนักสูงสุดยังมีของขายตลอดเวลา

นอกจากทั้ง 7 ข้อที่ว่ามา อย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานวิตามินเสริม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย