สัมภาษณ์ สุทธิพร เทรูยา รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูรฝ่ายการพยาบาล ถึงภารกิจรับมือผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่รายแรก พยาบาลในสถาบันที่ทำหน้าที่รับมือผู้ป่วยจากโรคอุบัติใหม่ต้องทำงานหนักมากขึ้น และเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยที่มากและต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ และโรคอุบัติใหม่ที่สังคมโลกยังไม่รู้จักเพียงพอ รวมถึงยังไม่มีวิธีจัดการได้เบ็ดเสร็จ
ยูเอ็นวีเมน, องค์การอนามัยโลก และ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และการทำงานของบุคลากรการแพทย์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และสัมภาษณ์บุคลากรกลุ่มที่กำลังทำงานอย่างหนักในการดูแลผู้ป่วยในสถาบันหลักที่รับหน้าที่ดูแลโรคระบาด นั่นก็คือ “สถาบันบำราศนราดูร”
รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูรฝ่ายการพยาบาล บุคลากรหน้างาน เล่าอย่างละเอียดตั้งแต่กระบวนการรับผู้ป่วย การสื่อสาร การเตรียมความพร้อม และแม้ในวาระสุดท้าย ทีมพยาบาลก็ยังคงทำหน้าที่ส่งผู้ป่วยเดินทางไกลอย่างปลอดภัยต่อผู้ใกล้ชิด
“เราต้องเป็นตัวเชื่อมค่ะ เพราะในภาวะวิกฤตแบบนี้นะคะ มันจะมีความคิดเยอะมาก หลากหลาย”
ภารกิจของพยาบาล เมื่อต้องพบโรคอุบัติใหม่: พยาบาลคือคนกลุ่มแรกที่ต้องไปรับผู้ป่วยรายแรก
ในภารกิจของสถาบันที่เราได้รับมอบมา ในเรื่องของการดูแลผูัป่วยโรคติดต่ออันตรายโรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ หรือว่าโรคติดต่ออะไรก็ตาม ที่ไม่เคยเกิดในประเทศไทย เมื่อมีโรคพวกนี้ขึ้นมา สถาบันบำราศนราดูรจะต้องเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องรับผู้ป่วยกลุ่มพวกนี้
ซึ่งกลุ่มที่ไปรับคนแรกก็คือพยาบาล พยาบาลจะเป็นคนแรกที่ไปรับผู้ป่วยพวกนี้
เคสแรกที่มาถึงเมืองไทยเป็นเคสของประเทศ คือเป็นเคสที่มาจากประเทศจีน เขาเป็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมาเที่ยวที่เมืองไทย ณ ตอนนั้น เราทราบแล้วว่าต่างประเทศมีเคสเป็นโรคติดต่อ ตอนนั้นเรียกเป็นโรคหวัดแต่ยังไม่ทราบว่าสายพันธุ์ไหน คือยังไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไร ณ ตอนนั้นประเทศไทยก็มีการคัดกรองเบื้องต้นที่ด่าน ที่สนามบิน ที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา
ดังนั้นเมื่อเจอเคสแรกเมื่อ 4 ม.ค. ก่อนที่เราจะได้พบผู้ป่วยเราก็ได้มีการไปเข้าประชุม ที่เรียกว่า EOC เป็นการเตรียมพร้อมรับในระบบภาวะฉุกเฉินของกรมควบคุมโรค ซึ่งทางกรมฯ ทราบสถานการณ์มาก่อนแล้ว เมื่อมีการเกิดเหตุการณ์นี้ก็มีการเตรียมตั้งรับที่กรมฯ ซึ่งสถาบันบำราศฯ อยู่ในกรมควบคุมโรค เราได้เข้าไปอยู่ร่วมในสถานการณ์ตรงนั้น หลังจากนั้นก็มีการเตรียมตัวในการเตรียมรับผู้ป่วย ถามว่า ก่อนหน้านี้มีไหม มีค่ะ เรามีมาตลอด เพราะว่าด้วยภารกิจที่เราต้องรับผู้ป่วยพวกนี้นะคะ
ในส่วนนี้พยาบาลเขาต้องมีการเตรียมการ ตั้งแต่ในเรื่องของการซ้อมจำลองว่าเรามีเคสมา ตั้งแต่ที่เราไปรับที่สนามบิน หรือแม้กระทั่งมีเคสที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาล แม้กระทั่งคนไข้มาตรวจในโรงพยาบาลแล้วไปอยู่ใน OPD อื่น ซึ่งเขาไม่ได้แจ้งเราที่คัดกรอง เราจะมีการปฏิบัติ เราจะมีการคัดแยกผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ให้แยกจากกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีความเสี่ยง
เตรียมพร้อมเหมือนซ้อมรับมือตลอดเวลา
เราได้มีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นในการเตรียมพร้อมมันมีอยู่แล้ว เตรียมพร้อมกันไว้เพราะว่าในสถานการณ์อย่างเคสที่ผ่านมา อย่างเคสเมอร์ส อย่างเคสซาร์สที่ผ่านมา เราใช้บทเรียนตรงนั้นมาเป็นพื้นฐานในการมารับผู้ป่วยเหล่านี้ สำหรับในการเตรียมรับ บทบาทของพยาบาลจะเป็นในเรื่องของการเตรียมสถานที่ เราจะเตรียมสถานที่ คือตึกที่จะรับเป็นผู้ป่วยใน เราเตรียมที่ตึกไหน แต่ของเราโชคดีที่หลังจากเหตุการณ์ของเรื่องซาร์ส ทางรัฐบาลก็ได้ให้งบประมาณและให้เราสร้างตึก เป็นตึกระบบจัดการอากาศเป็นตึกแรก ณ ตอนนั้น ซึ่งมีทั้งหมด เขาเรียกห้องจัดกรอากาศอยู่ 5 ห้อง หลังจากนั้นก็ได้งบประมาณสร้างตึกเป็นสำหรับรับผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงมาอีก 1 ตึก เป็นตึกจัดการอากาศเหมือนกันมีทั้งหมด 7 ห้อง เพราะฉะนั้นเราสามารถมีสถานที่ที่จะรองรับผู้ป่วยกลุ่มพวกนี้ได้ทั้งหมด 15 ห้อง
แต่เมื่อเรามีสถานที่แล้วเป็นเรื่องของความรู้ ความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการตึก เพราะว่าพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในตึกจะต้องมีความรู้ในเรื่องการดูแล รักษาในเรื่องของระบบการจัดการอากาศ ตั้งแต่ก่อนผู้ป่วยจะเข้าไป และขณะที่ผู้ป่วยจะเข้าไป และหลังจากที่เราให้การพยาบาลแล้วก็ต้องดูอีกในเรื่องของแรงดันอากาศที่ต้องตามมาตรฐานที่เขากำหนดให้
ทีนี้เมื่อเราเตรียมสถานที่แล้ว ณ ตอนนั้นเรายังไม่มีผู้ป่วย เราก็จะทางสถาบันก็มีนโยบายว่าไม่มีผู้ป่วยแต่เราต้อง maintain ระบบ เราก็ต้องให้มีการรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยพิเศษ ผู้ป่วยตึกพิเศษซึ่งผู้ป่วยตึกพิเศษเรามีจำนวนค่อนข้างจำกัด ใช้ตึกนี้เป็นตึกรับผู้ป่วยพิเศษ แบ่งเป็น 4 ห้อง อีก 4 ห้องเก็บสำหรับผู้ป่วยอุบัติใหม่
เพราะฉะนั้นพยาบาลมีการฝึกซ้อมตลอด ฝึกซ้อมในเรื่องของการใช้ระบบของห้อง ฝึกซ้อมในเรื่องของระบบการดูแลผู้ป่วย ในขณะเดียวกันในตึกผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยหนักซึ่งมีอยู่ 7 เตียง เมื่อผู้ป่วยหนักล้น เราก็เอาตึกผู้ป่วยหนักที่ล้นจากห้อง ICU มาอยู่ที่ตึกนั้น ซึ่งตรงนี้พยาบาลก็ได้มีการฝึกซ้อมในเรื่องการดูแลผู้ป่วยหนักไปด้วย เพราะฉะนั้นในห้องระบบจัดการอากาศที่เราใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มพวกนี้ กลุ่มผู้ป่วยโรคติดต่อ โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โรคอุบัติซ้ำ ในห้องนี้คือว่าเป็นระบบจัดการอากาศที่ 1 อันที่ 2 ห้องนี้สามารถจะทำเป็นห้อง ICU ได้เลย
เพราะฉะนั้นพยาบาลที่ทำงานตรงนี้จะสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่ม ICU ได้ด้วยเพราะในนั้นจะมีเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยหนักในนั้นเลย และเมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามานอนที่เรา แล้ว ณ วันหนึ่งเขานอนอาการดี หลังจากนั้นผู้ป่วยอาการเลวลง ถึงกังต้องเป็นผู้ป่วยต้อง need ICU เขาก็จะไม่มีการแยกย้ายผู้ป่วยออกจากห้อง ก็จะเป็นการดูแลในห้องนั้นเลย
ในส่วนตัวพยาบาลเราได้เตรียมแล้ว เตรียมตัวพยาบาล เตรียมสถานที่
อุปกรณ์ป้องกันร่างกายคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพยาบาลที่ปฏิบัติงานเรื่องโรคติดต่อ
จากนั้นก็เป็นเรื่องของเตรียมอุปกรณ์ ณ วันที่เราไปเข้าในห้องบัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉินของกรม เราก็มาเตรียมว่าอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ในการต่อสู้กับเชื้อโรคในเรื่องชองพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อ เราจะแตกต่างจากพยาบาลทั่วไป เพราะว่าสิ่งที่เราต่อสู้คือเชื้อโรค ซึ่งเชื้อโรคก็เป็นอาวุธสำคัญ และร้ายแรงพอสมควร เพราะว่า ณ วันใดวันหนึ่ง ที่เรา ตัวเราติดโรคไป เราก็จะกระจายโรคนี้ไปให้ผู้ป่วยอื่น หรือแม้กระทั่งผู้ร่วมงานข้างเคียง เพราะงั้นเราจะทำอย่างไร ที่จะจัดการกับอาวุธเชื้อโรคตรงนี้ สิ่งที่ช่วยเราได้คือในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด สำหรับพยาบาลที่ปฏิบัติงานเรื่องโรคติดต่อ และโรคติดเชื้อ ซึ่งถามจริงๆ และพยาบาลทุกคนมีในเรื่องของการควบคุมและป้องกันการติดเชื้ออยู่ในกระแสเลือดอยู่แล้ว
แต่เมื่อเรามาดูคนไข้กลุ่มพวกนี้ เราต้องตระหนักให้มากกว่าเดิม และเข้มงวดในเรื่องของการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อให้มากที่สุด และเราต้องมีวินัยและต้องซื่อสัตย์ เพราะ ณ ขณะหนึ่งที่เราติดไปแล้วเรามีการปนเปื้อน แล้วเราไม่แจ้งใคร สิ่งที่เกิดขึ้นคืออันที่ 1 ตัวเราได้รับอันตราย อาจจะติดโรคไปด้วย 2 เพื่อนร่วมงานข้างเคียงก็ติดไปด้วย สุดท้ายผู้ป่วยก็ติด ติดไปติดมาก็จะแพร่กระจายไปทั้งหมด ก็จะเป็นการล้มเหลวในเรื่องของการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ อันนี้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ
พูดตรงนี้เพราะพยาบาลเป็นคนแรกที่ไปดูผู้ป่วยไปรับผู้ป่วยตั้งแต่สนามบิน พยาบาลต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ในเรื่องของอุปกรณ์ที่จะต้องเหมาะสม เช่น หน้ากาก N95 มีหลายไซส์ เราต้องมีการเตรียม ทุกคนในสถาบันจะได้รับการฝึกซ้อมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เขาเรียก PPE ได้รับการฝึกซ้อมทุกปี ทุกคน หน่วยงานที่ได้รับทุกคนก็จะโดนรับซ้อมบ่อย แต่หน่วยงานอื่นที่ไม่ได้รับการฝึกซ้อม ที่ไม่ได้รับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยตรง ก็ต้องฝึกซ้อมเพื่อที่จะได้เป็นอัตรากำลังสำรอง
ทุกคนจะรู้ว่า N95 ที่ใส่กับตัวเองคือไซส์ไหน เพราะเมื่อไหร่ที่เราหน้าเล็กแต่ใส่ไซส์ใหญ่ ทำฟิตเทสต์ มันจะมีลมออกมา มันจะไม่ปลอดภัยสำหรับเรา ทุกคนต้องรู้ว่าตัวเองใช้ขนาดไหน ถุงมือก็เหมือนกันมีหลายขนาด เพราต้องเลือกขนาดให้เหมาะสม ถ้าเราใส่ถุงมือใหญ่เกินไปจะเหลือ เล็กไปก็คับ เวลาจับอะไรก็ไม่สะดวก มันจะเกิดความเสี่ยงในการทำงานได้ อันนี้คือเบื้องต้นในการเลือกใช้อุปกรณ์ก็เหมือนกันทุกอย่าง การใช้เฟซชีลด์ ก็ต้องเลือกให้เหมาะสม เวลาใส่ตำแหน่งไหนที่จะทำให้ อันที่ 1 มันไม่หล่นเวลาให้การพยาบาล อันที่ 2 มันไม่ฟิต บางทีหน้ากากบางรุ่นหลุดออกมาด้านข้างก็มี
การใส่เสื้อกาวน์เหมือนกัน การใส่เสื้อกาวน์ต้องดูว่าเสื้อกาวน์ขนาดไหนเหมาะกับเรา ใหญ่เกินไปไหม ยาวเกินไปไหม แม้กระทั่งการผูกเชือก ใส่แล้วยังไม่พอก็ต้องในเรื่องของการถอด เราซ้อมหมด ถอดอย่างไรไม่ให้สิ่งที่ปนเปื้อนกลับไปในร่างกายเรา เราซ้อมหมด ซ้อมใส่ ซ้อมถอดจนครบ จนทุกคนทำได้ถูกต้อง อันนี้คือเขาเรียกเป็นเกราะป้องกันในอันดับหนึ่งให้กับน้องพยาบาลทุกคน อันที่ 1 เมื่อเขามีความมั่นใจ เขาจะปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัย แต่เมื่อใส่แล้วไม่ถูกต้องยังไม่รู้ว่าจะใส่อะไรอย่างไร อันนี้ความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นแน่นอน เราเลยต้องสร้างความมั่นใจกับน้อง เราจะต้องซ้อม ซ้อมกันตลอดทั้งปี
‘ทัศนคติ’ สิ่งสำคัญสำหรับพยาบาลด้านโรคระบาด
ในส่วนของการเตรียมคน เตรียมตั้งแต่แรกเลยเตรียมตั้งแต่แรกเข้ามาเลย เราจะสัมภาษณ์เลยว่า โรงพยาบาลเราเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง และรับโรคอะไรไม่รู้ ซึ่งไม่ค่อยรู้จักและก็ติดต่อด้วย เราจะทำอย่างไร กลัวไหม จะดูทัศนคติตั้งแต่ต้น ถ้าคนไหนที่สามารถรับตรงนี้ได้เรารับเลย แสดงว่าทัศนคติในการทำงานของเขาใช้ได้ อันนี้คือการเตรียมตั้งแต่ต้น
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 เรามีการเตรียมพร้อมใน 1 เดือนแรก ณ ภาวะปกติดูความพร้อมอุปกรณ์ในการป้องกันร่างกาย เรานับเลยว่าในกิจกรรมแต่ละวันใช้กี่ชิ้น กี่คนที่ต้องทำงาน คำนวณใน 1 เดือน หลังจากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มันเริ่มระบาดมากขึ้น เพราะตั้งแต่รับมา 80 วัน ตั้งแต่ 4 ม.ค. ถึงปัจจุบันเหตุการณ์เปลี่ยนตลอด สถานการณ์เปลี่ยนตลอด ตัวเราต้องทันต่อสถานการณ์ ทันต่อเหตุการณ์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ในการปรับแผน ปรับแผนไม่เฉพาะเรื่องคน ปรับในเรื่องของงาน ในเรื่องระบบ ปรับเรื่องอุปกรณ์ด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก
ถึงตอนนี้พอเรามีการปรับตามสถานการณ์ ในการคาดการณ์เรื่องการใช้อุปกรณ์ เราก็ต้องปรับเป็น 3 เดือน เพราะว่าเราต้องเตรียมใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นคำถามว่าขาดแคลนอุปกรณ์เราไม่พอใช้ก็จะหมดไป เพราะเรามีการเตรียมตั้งแต่ 1 เดือน หลังจากเหตุการณ์ที่มันผ่านพ้นไป เราก็เตรียมอีก 3 เดือน ณ ตอนนี้เราก็เตรียมคาดการณ์อีก อันนี้เป็นเรื่องที่เรามีการเตรียม เตรียมคน เตรียมของ เตรียมสถานที่
อีกประการคือ เรื่องของข้อมูล สำหรับข้อมูล ณ ตอนนี้มันเป็นข้อมูลระดับประเทศ เพราะฉะนั้นข้อมูลในการทำกับผู้ป่วย เราต้องทำข้อมูลที่มันอัปเดตที่สามารถใช้ได้ทันที แล้วก็ถูกต้องทันเวลา และข้อมูลที่ได้รายงานไม่แค่ในสถาบัน ต้องรายงานให้ผู้บริหาร กรม และสุดท้ายระดับประเทศ อันนี้พยาบาลต้องเป็นคนจัดการข้อมูลตรงนี้ด้วย เพราะว่าผู้ป่วยเข้ามาแต่ละรายไม่เหมือนกัน
อีกอย่างคือในเรื่องการดูแลผู้ป่วย พยาบาลเราเจอคนแรกเราจะต้องประเมินตั้งแต่แรก แต่ละเคสที่เรารับมาอาการที่มาเป็นอย่างไร ต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างอื่นไหม อย่างรับจากสนามบินมา เขาเป็นคนประเทศไหน เป็นคนประเทศจีน เราก็ต้องมาเตรียมแล้วว่ามีใครพูดภาษาจีนได้บ้าง เพราะว่าในเรื่องของการสื่อสารในการทำงา การสื่อสารในเรื่องของแต่ละชาติมันจะมีวัฒนธรรม แต่ละที่ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องเตรียมเรื่องของการประเมินอาการ ประเมินภาษาที่ใช้ เรื่องญาติ มีญาติมาด้วยไหม เพราะญาติไม่เหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยทั่วไปนั่งรถคันเดียวกัน แต่เมื่อเป็นโรคติดต่อต้องประเมิน หากเป็นญาติมาด้วยกันอยู่ด้วยกันมาตลอดขึ้นรถคันเดียวกันมาได้ ขณะเดียวกันทำอย่างไรผู้ป่วยจะปลอดภัย และตัวพยาบาลต้องปลอดภัยด้วย
ความปลอดภัยคือหัวใจของการทำงาน
สุดท้ายทีม ทีมที่ไปรับต้องปลอดภัย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องอยู่ในหัวใจพวกเราตลอดในการทำงาน ก็คือกับโรคติดต่อ เราต้องประเมินตรงนี้ถ้าเกิดญาติไปรับที่สนามบินยังไม่เคยเจอกัน ก็ต่างคนต่างมารถคนละคัน แต่ผู้ป่วยต้องมารถเรา อันนี้คือสิ่งที่พยาบาลต้องทำตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ ประเมิน คัดกรอง คัดแยก และนำส่งโรงพยาบาลด้วยความปลอดภัย
มาถึงตรงนี้การเตรียมการก็เกิดขึ้นที่เรา ในเรื่องของการติดต่อประสานงาน การติดต่อประสานในการไปรับ เพราะการไปรับผู้ป่วยที่สนามบินเราไม่ได้ทำงานหน่วยเดียว เราต้องทำงานกับหน่วยงานภายนอกสถาบันด้วย ซึ่งตรงนี้การสื่อสารหรือการประสานงานที่มีประสิทธิภาพชัดเจนจะทำให้การรับผู้ป่วยของเรามีความสะดวกคล่องตัว การไปรับผู้ป่วยกลับมาที่สถาบันก็จะง่ายและรวดเร็วทันเวลาด้วย เราก็ไม่อยากให้มีการแพร่กระจายเชื้อไปทั้งโรงพยาบาลหรือทั้งประเทศ เพราะเราถือว่าการไปรับผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงคืองานของประเทศ คนไข้ที่มาก็คือคนของประเทศอันนี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องคิดตลอด การออกไปรับเราต้องเตรียมตั้งแต่ในสถาบัน เมื่อได้รับโทรศัพท์ว่ามีเคสจากประเทศจีน ลงเครื่องมาให้สถาบันบำราศฯ ไปรับผู้ป่วย ณ ตอนนั้นถามว่าน้องๆ กลัวไหม เราคิดว่าตอบว่าไม่กลัว ไม่มี เป็นไปไม่ได้ ทุกคนมีความกลัวอยู่ในใจ แต่นั่นเมื่อมีความกลัวเราก็จะมีสติ ว่าโรงพยาบาลเรารับตรงนี้ เรามีความตระหนักมากกว่า เราต้องตระหนักว่าเราจะไปรับต้องวางแผน ใครจะเป็นคนไปรับ จะใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างไร แล้วมันเป็นโรคอะไร ถ้าเราไม่ทราบว่าคือโรคอะไร เราคิดได้เลยว่าใช้มาตรการขั้นสูงสุด ใส่ชุดสูงสุดที่เตรียมไว้ เตรียมทีม เตรียมพร้อมเราต้องมี safety person ต้องมีคนช่วยดูก่อนออกไปทุกครั้ง เราจะใช้พยาบาลควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลมาช่วยดูแลตรงนี้ ก่อนจะออกไป จะมีการเตรียมพร้อมเรื่องอุปกรณ์ใส่ป้องกันร่างกาย เตรียมพยาบาลที่จะไปรับ เตรียมรถพยาบาล ที่นี่เราทำเป็นทีม
ในส่วนของรถพยาบาล อุปกรณ์ต่างๆ ในรถเป็นเรื่องของพยาบาลห้องฉุกเฉิน เป็นคนช่วยดูแลตรงนั้น แต่เพิ่งจะดูแลตอนออกใช่ไหม....ไม่ใช่ เราเตรียมพร้อมอยู่แล้ว แต่ก่อนจะออกเราตรวจสอบอีกครั้ง ไม่ส่วนของพนักงานขับรถ เราต้องดูแลเขา พนักงานขับรถแต่งตัวอย่างไร ใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างไร พยาบาลช่วยดูให้หมด แม้กระทั่งเมื่อพร้อมแล้ว เราถึงจะให้ออกเดินทาง ก็จะเน้นย้ำพนักงานขับรถด้วยว่าไม่ต้องรับ ให้ขับไปตามมาตรฐานที่กำหนดของความปลอดภัยในเรื่องของการใช้รถพยาบาล เพราะคนไข้ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องขับไปตามหัวหน้าทีมคือพยาบาลกำหนดให้ไปเส้นทางไหน และเรื่องสำคัญที่พยาบาลต้องทำคือ เรื่องของการติดต่อประสานงานกับตรงที่สุวรรณภูมิ เรื่องจากเป็นเขตรักษาความปลอดภัยของสนามบิน เราต้องมีขั้นตอนเข้าไป การติดต่อประสานงานตรงนี้สำคัญมาก เมื่อเราได้ติดต่อประสานงานกับทางด่วนกับแพทย์ระบาดซึ่งเป็นผู้ทำการดูแลเบื้องต้นที่สนามบินเป็นการคัดแยกให้เราเบื้องต้นแล้วพยาบาลหลังจาก confirm แล้ว เราก็ไปรับเส้นทางกลับต้องเตรียมว่าทำอย่างไรที่จะให้ผู้ป่วยกลับมายังสถาบันโดยปลอดภัย เมื่อใกล้ถึงสถาบันก็จะมีโทรศัพท์แจ้งเส้นทางตลอด แล้วมีทีม รปภ. ต้องช่วยเคลียร์เส้นทางให้ ไม่ให้ผู้ป่วยอื่นเข้ามาอยู่ในเส้นทางที่เราเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ามา ขณะเดียวกันเมื่อเข้ามาถึงเราจะมี ICN ช่วยดูแลตอนที่ผู้ป่วยลงจากรถ แล้วไปตามเส้นทางที่กำหนด เราจะมีลิฟต์เฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง สุดท้ายก็จะไปถึงวอร์ด ที่วอร์ดก่อนที่จะออกเดินทาง พยาบาลที่ประจำตึกต้องเตรียมห้อง เตรียมอุปกรณ์ เตรียมทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้ป่วยให้พร้อม ที่พูดเพราะการจะออกไปรับทุกคนต้องพร้อมทั้งหมดก่อนถึงออกไปรับ ถามน้องๆ ได้
สื่อสารสังการในภาวะวิกฤตเปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องมีระบบสั่งการที่ชัดเจน สายบังคับบัญชาที่ชัดเจน
พอเราบอกว่าจะมีเคสทุกคนจะทำตามหน้าที่ คนไปรับก็จะเตรียม พอทุกคนเตรียมพร้อมก็จะแจ้ง เราก็จะใช้เป็นระบบบัญชาการเหตุการณ์ มีท่านผู้อำนวยการเป็น President Commander ส่วนพยาบาลก็จะเป็น President Commander ของพยาบาล เพราะฉะนั้นในภาวะที่รับผู้ป่วยพวกนี้ในเรื่องของ commander สำคัญมาก และในส่วนของพยาบาล น้องๆ ต้องฟังจากเราคนเดียว เราไม่ต้องไปฟังจากกลุ่มอื่น เพราะว่าเรามี President Commander ของใครทุกคนก็จะฟังตามหัวหน้าของใครของมัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นมาก น้องๆ ทุกคนต้องทำตาม ถ้ามีปัญหาอะไรเขาจะแจ้งมาที่เรา และเรามีหน้าที่บริหารจัดการ ทุกอย่างเป็นเรื่องปัญหาเฉพาะหน้าทั้งสิ้น ถามว่าในตำรามีไหม ไม่มี สถานการณ์แบบนี้เราต้องบริหารจัดการทั้งหมด
แต่ในการจัดการเราก็ไม่ได้ทำเอง เราต้องปรึกษา President Commander ที่เหนือกว่าเรานั่นคือ ท่านผู้อำนวยการ ซึ่งตรงนี้ถามว่าภาวะผู้นำจำเป็นและสำคัญมากในเรื่องของการจัดการสถานการณ์เบื้องต้น การสื่อสารสำคัญเช่นกันในภาวะแบบนี้ การสื่อสาร 2 ทาง สำคัญที่สุด การสื่อสารทางเดียวไม่เวิร์ก เราต้องคุยกันสื่อสาร 2 ทาง แล้วเรื่องการทำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่การทำงานภายใต้ภาวะแบบนี้ ที่เรียนไปเบื้องต้นว่าเป็นการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่มันต้องปรับ มันเปลี่ยนเนื่องจากเป็นโรคใหม่ มันเป็นโรคที่ทุกคนไม่มีใครผิดใครถูก เราทำตามสถานการณ์ทั้งสิ้น แต่เราต้องมีผู้เชี่ยวชาญในระดับกระทรวงเป็นผู้ดูแลพวกเราอยู่ แต่ในส่วนของพยาบาล พยาบาลก็ต้องทำตามหน้าที่พยาบาลในเรื่องของการประเมิน การคัดกรอง การให้การพยาบาลตามอาการ ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย
ในช่วงแรกคนไข้ของเราเป็นคนไข้ระดับความรุนแรงระดับ 1-3 ฉะนั้นในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เราใช้ตามาตรฐานของสภาพยาบาลในการดูแล ตอนนั้นมีปัญหาไหม ไม่มี เนื่องจากเหมือนการทำงานดูแลผู้ป่วยกลุ่มทั่วไปที่ดูอยู่เพียงแต่ว่าเขาเป็นโรคมาไป swab ที่คอแล้วเจอเชื้อแค่นั้น แต่ว่าพยาบาลต้องระมัดระวังมากกว่าเดิมเพราะพยาบาลต้องเข้าไปดูแล กิจกรรมที่ต้องเข้าไปดูแลถ้าอันไหนรวบได้ก็จะรวบ เราจะไม่เข้าไปบ่อยเดินไปในการสัมผัส เราต้องทำตามมาตรฐาน สิ่งที่เป็นมาตรฐานในการพยาบาลผู้ป่วยแต่ละประเภทก็ต้องทำเหมือนเดิม เพียงแต่ลดการสัมผัสเวลาลง
ดูแลผู้ป่วยโควิด- ต้องดูแลจิตใจด้วย เพราะเขาต้องนอนโรงพยาบาลนาน
การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้านจิตใจสำคัญที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยต้องนอนอยู่โรงพยาบาลนานจนกว่าเชื้อจะหมด บางเคสเราดูอยู่เป็นเดือนเชื้อยังไม่หมด ในขณะที่เขาสบายดีไม่มีอาการอะไร แต่ในการ swab ยังเจอเชื้อ เพราะงั้นคนไข้จะเหมือนเราเดินไปเดินมา แต่จะโดนกักตัวอยู่ในห้อง ไม่ได้ไปไหน ญาติมาเยี่ยมก็ไม่ได้ อันนี้คือเรื่องจิตใจสำคัญ แล้วก็จะถามเราตลอด กังวลตลอดว่า เขาจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ ผลแล็บจะมาเมื่อไหร่ เขาจะหายไหมเขาจะตายไหม สุดท้ายพอมีภาวะเครียดก็จะทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ เบื่ออาหาร พยาบาลจะสำคัญมาก พยาบาลจะมีโทรศัพท์สามารถคุยกับผู้ป่วยได้ทุกห้อง คุยกับผู้ป่วยทุกวัน แต่ก็ยังเข้าไปทำการพยาบาลตามปกติ แต่ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายแบบที่เรียนไปข้างต้นว่าต้องใส่ให้ถูกต้องเหมาะสมกับกิจกรรมที่เข้าไป ไม่เยอะไปจนทำให้ปฏิบัติไม่สะดวก หรือน้อยไปจนไม่ปลอดภัยเพราะฉะนั้นเราดูตามกิจกรรม อันนี้สำคัญ คือสิ่งที่เราจะเน้นให้เหมือนกับการดูแลผู้ป่วยทั่วไป นอกจากนี้เรื่องของการให้ข้อมูลผู้ป่วย เพราะว่าการให้ข้อมูลในเรื่องของการดูแลตัวเอง ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและเมื่อกลับไปบ้านต้องทำอย่างไร
กำแพงภาษาคือสิ่งที่ฝ่าไปให้ได้
เบื้องต้นที่ดูผู้ป่วยต่างประเทศ เราเคยดูผู้ป่วยต่างประเทศตั้งแต่สมัยโรคเมอร์ส เมอร์สส่วนใหญ่เดินทางตะวันออกกลาง ตอนนั้นเป็นภาษาตะวันออกกลาง เราต้องมีล่าม
ปีนี้เราดูโควิด-19 จะเป็นคนจีนในล็อตแรก ซึ่งตอนนั้นเรารับผู้ป่วยเคสแรกจีนทั้งหมด 8 ห้อง พยาบาลไทยต้องไปดูแลผู้ป่วยจีน อันนี้เข้าใจความรู้สึก เพราะผู้ป่วยจีนที่เข้ามาเขามีความรู้สึกว่าพามาเจอใครก็ไม่รู้ เข้ามาก็เห็นแต่ตา เพราะเราปิดหมด ใส่เฟซชีลด์ หน้ากากอนามัย แว่นตา หมวกแล้วก็เสื้อกาวน์เข้าไป เขาจะเห็นแค่ลูกตาคุยกันก็ไม่รู้เรื่อง แต่ถามว่าการให้การพยาบาลของเราตอนนั้นไม่ความเสี่ยงไหม เราไม่เจอผู้ป่วยทำร้ายเลย ไม่มีผู้ป่วยก้าวร้าว ไม่มีผู้ป่วยทำร้าย แต่ถามว่าน้องๆ เราเข้าไปดูแล เราก็ถามเหมือนกันว่าพูดกับเขาอย่างไร เพราะเขากับเราคุยกันไม่รู้เรื่อง เราก็ใช้การแปล บางคนพูดภาษาอังกฤษได้ เราก็พูดใช้ภาษามือบ้าง แต่เรามีกำหนดจุดว่าเข้าไปแล้วต้องยืนตรงไหนของเตียงในการคุยกับผู้ป่วย ในการให้น้ำเกลือ ในการให้ยา หรือแม้แต่การทำ swab คอหรือจมูกพวกนี้ เราจะมีจุดว่าเรายืนตรงไหน เรื่องความต้องการผู้ป่วยเราจะถามทุกวันว่าวันนี้เขามีความรู้สึกยังไง อยากให้ช่วยอะไร หลังจากที่ผู้ป่วยมานอน 1 อาทิตย์ เราก็เลยใช้ล่ามในการมาช่วยดูแลในการสื่อสารระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วย แต่ถามว่าก่อนที่จะมีล่ามเราดูแลกันได้ไหม เราดูแลกันได้เพราะเวลาเราเข้าไปถามว่าน้องกลัวไหม เขาบอกไม่กลัวพี่เข้าไปได้ เข้าไปให้การพยาบาลตามปกติในเมื่อเรามีอุปกรณ์ในการป้องกันร่างกายอย่างเต็มที่ ใส่ถูกต้อง ไม่กล้วเข้าไปได้ และในการเข้าไปก็จะให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย แล้วจะคุยกับผู้ป่วยว่าถึงแม้เราจะคุยกันไม่รู้เรื่องแต่เราก็ใช้ภาษา ท่าทาง ซึ่งเขาก็รู้ หลังจากนั้นก็มีการให้ข้อมูลผู้ป่วยด้วยการทำเป็นกระดาษ พิมพ์เป็นภาษาจีนแล้วจ้างคนมาแปลข้อมูลที่เราต้องการสื่อกับผู้ป่วยในเรื่องการมาถึงโรงพยาบาล ต้องนอนที่นี่กี่วัน ทำอะไรบ้าง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเป็นภาษาจีนตั้งแต่เข้ามา หลังจากนั้นปัญหาตรงนี้ก็หมดไป เราก็สื่อสารกันได้ดี อันนี้เป็นเรื่องของการดูแล
เราไม่ได้ดูแลแต่ทางกายอย่างเดียว ดูแลผู้ป่วยพวกนี้ดูแลทางใจด้วย เราก็เข้าใจว่าเขามาจากต่างประเทศ ยังไม่ทันได้เห็นกรุงเทพ ลงมาถึงสนามบินโดนวัดไข้ มีไข้ก็โดนจับขึ้นรถตู้เลย ขึ้นรถตู้มาไปไหนก็ไม่ทราบมากับใครก็ไม่รู้ คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง จนมาถึงที่โรงพยาบาลก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง และก็โดนเข้าไปอยู่ในห้องซึ่งในห้องก็ออกไปไหนไม่ได้ อันนี้คือท้าทายพวกเรามากตอนนั้นมากว่าคนไข้จะออกไหมจะหนีไหม แต่ถามว่าห้องของเราปลอดภัยค่ะแต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเราก็ได้คุยกับผู้ป่วยว่าสิ่งที่พวกเราทำให้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ผู้ป่วยมาอยู่ในที่ปลอดภัยที่สุด ณ ขณะนี้ เป็นที่ปลอดภัยที่สุด เป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับคุณ อันนี้เขาก็สบายใจ เราบอกเลยว่าห้องที่เขาอยู่จะไม่มีใครเข้ามาหาเขาได้เนื่องจากเราดูในกล้องวงจรปิด เราเห็นว่าทำไมเขาเข้าไปเขย่าตรงประตู เขาจะหนีหรือเปล่า สงสัยจะหนีแน่เลยไปเขย่าแต่เมื่อเรามีล่ามเราไปถามความต้องการ เขาบอกเลยว่า เขากลัวจะมีคนมาหาเขาแล้วคนไข้ส่วนใหญ่รายแรกๆ จะเป็นคนไข้มีอายุ 60-70 ปี เป็นอาม่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วโดนแยกจากกรุ๊ปทัวร์ พอเราให้ล่ามอธิบายว่าอยู่ในนี้ปลอดภัยที่สุด เพราะฉะนั้นไม่มีใครมาหาอาม่าได้ และคนที่เข้าไปหาได้คือพยาบาล กับแพทย์เท่านั้น ขอให้อาม่านอนได้เลย ไม่ต้องเดินไปเดินมาง่วงนอนหลับได้เลย แล้วเดี๋ยวพยาบาลจะเข้าไปดูแลให้เราจะมีข้าวมีน้ำมีห้องนอนห้องน้ำอยู่ในตัว อธิบายเข้าใจแล้วเขาก็หลับสบาย
พูดถึงเรื่องวัฒนธรรมข้ามภาษาเราต้องดูตรงนี้ด้วยเพราะว่าเขาบอกอยากกินน้ำอุ่นทั้งวัน เราเลยซื้อกระติกน้ำร้อนใส่ให้ทุกห้องเขาก็แฮปปี้ อันนี้เป็นเรื่องที่พยาบาลดูแลค่อนข้างจะละเอียด แล้วก็ในเรื่องการติดต่อประสาน พยาบาลที่ทำจุดนี้ไม่ได้ทำเฉพาะแค่ในสถาบันแต่ต้องมีการเชื่อมประสานกับภายนอกสถาบันด้วย ณ ตอนนี้เป็นเรื่องของประเทศ เรื่องการดูแลโควิด-19 ต้องไปดูแลเรื่องของเครือข่ายที่ต้องช่วยกันดูแลผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ ตอนนี้ก็ได้ไปช่วยน้องที่อยู่โรงพยาบาลที่อยู่ในละแวกในจังหวัดเรา เราไปช่วยกันดูแลอยู่ซึ่งในส่วนไหนที่ช่วยกันได้เราก็จะช่วย
ตรวจโควิด เจอเบาหวาน ไม่ใช่มุขตลกไวรัล แต่เป็นเรื่องจริงที่ต้องสื่อสารกับคนไข้ด้วยความอดทน
คือเราต้องอดทนนะคะ เขาเรียกเราต้องเก็บ เวลาเขาพูดอะไร เราอย่าไปพูดต่อ เราเก็บมาเพื่อที่ได้จะเอามาวางแผนเพื่อช่วยเหลือเขา หลายๆ ครั้งที่ผู้ป่วยที่ออกจากเราไป พี่ก็ไม่ได้คาดคิดนะ เขาไม่เคยรู้เลยว่าเขาเป็นเบาหวาน ไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นเบาหวานแต่มารักษาด้วยโควิด-19 แต่พอเจาะเลือดไปแล้วเจอเป็นเบาหวาน ถามว่าเป็นเบาหวานแล้วพยาบาลทำอะไรต่อ คิดต่อเลยคะ เป็นเบาหวาน 1. เบื้องต้นเลยนะ ในเรื่องแนะนำอาหาร เรื่องอาหารว่าเขากินยังไง 2. การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นเบาหวาน ในเรื่องของการดูแลตัวเองหมดเลย ในเรื่องของการดูแลเท้า การดูแลตับไต เราคุยในเรื่องอาหาร การดูแลตนเอง การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สุดท้ายนะคะ เราก็ให้โภชนากร เพราะฉะนั้นพยาบาลก็จะต้องเป็นตัวเชื่อมค่ะ เป็นผู้นำในการที่จะให้สหวิชาชีพมาช่วยดูแลผู้ป่วยร่วมกับเรา อันนี้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ พยาบาลไม่สามารถดูแลผู้ป่วยเพียงคนเดียวได้ เราต้องทำเป็นทีม อย่าง ณ ตอนนี้ผู้ป่วยดีใจมาก และขอบคุณเรา
ในเคสที่เราเจอครั้งแรกคือเขาเป็นเบาหวาน และได้รับการรักษาในเรื่องยาจากแพทย์ แต่เราก็เอาโภชนากรมาเป็นทีม ตามโภชนากรมาคุย โภชนากรก็ดีใจมากที่เราไปนำเขามาอยู่ในทีม ดูแลสุขภาพผู้ป่วย ผู้ป่วยก็ดีใจ บอกว่าเขาดีใจมาก เมื่อกี้คุณพยาบาลก็พูดเหมือนโภชนากรพูด ว่ากินอาหารแบบนี้ แต่สิ่งที่เสริมจากพยาบาล คือ โภชนากรจะมาบอกในเรื่องสัดส่วน ว่า แบบนี้กินกี่ส่วน กี่ส่วน อะไรแบบนี้ แล้วเราก็มีพูดคุยในเรื่องของการนัด การไปตรวจตามนัด อันนี้จะเน้นเพราะต้องไปตามนัด เพื่อการดูแลสุขภาพตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่พยาบาลเราดูให้ครบ แม้กระทั่งในเรื่องของสุดท้ายอย่างที่บอกก็คือว่า ในเรื่องใจ ใจสำคัญ บางทีเขาก้าวร้าว เขาหงุดหงิด เขาพูดไม่เพราะกับเรา เราถามไปลึกๆ แต่เราไม่ได้ไปถามในระยะประชิดในเมื่อมันมีโทรศัพท์ หรือมีอินเตอร์คอมพ์ หรือมีอะไรก็ตาม ซึ่ง ณ ตอนนี้แถวโรงพยาบาลชุมชน เขาก็จะมีเหมือนกล้องวงจรปิด หรือมีโทรศัพท์ หรือมีแม้กระทั่ง LINE สามารถคุยกับผู้ป่วยได้ว่าเขาต้องการอะไร ถ้าเราทราบความต้องการที่แท้จริงของเขาปัญหาจะหมดไป อย่างเคส
จะเล่าให้ฟังนิดเดียว เคสนี้เขามา เขาวุ่นวายมาก เขาบอกว่าเขาจะกลับแล้ว เนี่ยมาตรวจแล้วไม่เห็นบอกอะไรเขาเลย พอเจอแบบนี้ ตอนนั้นสว็อบ (SWAB) ผลมันยังไม่ออก แต่ว่าเขาอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ตามคำนิยาม เราต้องเก็บตัวเขาทันที แต่ถามอธิบายไหม เราอธิบาย แต่ ณ ตอนนั้นเขาไม่ฟัง แต่อย่างไรต้องเก็บตัวเข้าห้อง เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อ แต่เขาก็ยอมเข้าในห้องนะคะ แต่เข้าแป้ปเดียว เขาโทรศัพท์ออกมาแล้วเขาจะกลับบ้านเดี๋ยวนี้ ทำไมทำอะไร เขาพูดถึงสิทธิผู้ป่วย ว่าเอาเขามากักตัว น้องก็พยายามอธิบายแล้วค่ะ เขาก็ไม่ฟัง น้องจะตามเรา เพราะฉะนั้นเราเป็นพี่เป็นผู้นำ เราก็ต้องไปคุย เราก็ไปถาม ปล่อยเขาพูดไป ให้เขาพูดระบายจนหมดแล้วก็ถามว่า ต้องการจะให้เราช่วยอะไร เขาจะพูดเลยค่ะ เคสนั้นก็คือว่า เขาบอกว่าหลังจากตรวจแล้วเขาโดนขึ้นมาแล้วอยู่ในห้องเลย เนี่ยโทรศัพท์มือถือแบตเหลือนิดเดียว จะติดต่อที่บ้านได้อย่างไร ที่ชาร์จแบตอยู่ในรถ กระเป๋าสตางค์ อะไรทุกอย่างอยู่ในรถหมดเลย แล้วจะลงไปก็ไม่ให้ลงแล้ว แล้วผมจะติดต่อที่บ้านได้อย่างไร เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าผมนอนโรงพยาบาลแล้วจะต้องนอนกี่วัน ผลแล็บเมื่อไหร่จะออก เขาถามไปหมดเลยแค่มานอนครั้งแรก อันนี้เราก็บอกโอเค ต้องการที่ชาร์จแบตใช่ไหมคะ ยี่ห้ออะไร ของเขาเป็นไอโฟน ถามว่าใครมีที่ชาร์จแบตไอโฟนไหม ก็โชคดีที่พยาบาลเรามีแบตสำรอง ก็เอาไปให้เขา เดี๋ยวพี่จัดการให้นะ แต่ตอนนี้คุณใจเย็นๆ ช่วงที่คุณรอที่ชาร์จแบต ข้าวมาแล้ว เดี๋ยวทานข้าวก่อนนะ ผมไม่กิน ผมกินมังสวิรัติ ก็บอกอ๋อ ได้ค่ะ เดี๋ยวพี่จัดการให้ กินมังสวัรัติแบบไหนคะ ผมกินได้หมด ไข่ผมก็กินได้ โอเคเดี๋ยวพี่จัดให้ เดี๋ยวคุณคอยพี่แปปนะ เดี๋ยวที่ชาร์จมือถือก็จะมา แล้วก็เดี๋ยวข้าวมังสวิรัติก็จัดให้ค่ะ เขาก็เงียบ หลังจากนั้นพอเราให้ที่ชาร์จแบต เขาก็แฮปปี้ และข้าวมังสวิรัติก็มา อย่างนี้ค่ะ
บางครั้งมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันเป็นเรื่องของแบบนี้ อันนี้เรียกว่าความใส่ใจ ความใส่ใจกับตัวคนไข้ ซึ่งเราไม่ได้รังเกียจเลย ถามว่ารังเกียจไหมเป็นโรคติดต่อ ไม่รังเกียจ พยาบาลเราทุกคนที่เข้าไปให้การพยาบาลน้องทุกคนดูแลด้วยความเต็มใจ เราเข้าใจว่าน้องเขาเป็นภาวะที่เขาค่อนข้างจะเครียดเหมือนกันในการดูแลคนอย่างนี้ แต่ถ้าเราได้ลงไปเยี่ยมเขาบ่อยๆ ถี่ๆ ทุกครั้ง เขาจะพูดทุกอย่างให้เราฟัง แล้วเราจะแก้ปัญหา บางทีเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่ามันอาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเขาแต่เรามองเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา จะช่วยแก้ปัญหาไปทุกวัน ซึ่งปัญหาการดูแลคนไข้โรคติดต่อมันมาเรื่อยๆ มันมาตลอด เล็กๆน้อยๆ บางทีก็เป็นเรื่องญาติก็มี ญาติอยากจะเข้าเยี่ยมแล้วเยี่ยมไม่ได้ ก็จะถามในเรื่องแล็บเรื่องอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องการให้ข้อมูล แต่การให้ข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญต้องมีชั้น เพราะว่าการจะให้ข้อมูลผู้ป่วยให้ไปทั่วก็ไม่ได้มันต้องมีชั้น ชั้นของการให้ข้อมูลเหมือนกัน ตรงนี้จำเป็นเพราะข้อมูลผู้ป่วยก็คือความลับของผู้ป่วย เราจะให้ไปทั่วไม่ได้ แต่สุดท้ายในเรื่องของการดูแล ในเรื่องของเมื่อเขาสุดท้ายถึงการตาย สุดท้ายของชีวิตอันนี้พยาบาล ต้องช่วยค่อนข้างจะเยอะ บางทีเราจะไปคิดว่าก็แล้วแต่ญาติไปจัดการเถอะมันก็ไม่ได้เราต้องช่วยดูแลเขาตรงนี้
ดูแลกันจนแม้วาระสุดท้าย และดูแลครอบครัวของผู้ป่วยด้วย
การเข้าใจถึงจิตใจของญาติที่เสียชีวิตจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง พูดถึงปัญหาทางสังคมค่อนข้างจะเยอะ เพราะว่า...ถามตัวตัวพยาบาลค่อนข้างจะเยอะในเรื่องนี้ เพราะว่าเราเป็นคนใกล้ชิดดูแลเขามาตลอดตั้งแต่เข้ามาวันแรก ณ สุดท้าย จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เราต้องช่วยดูแลตรงนี้ไปตลอด เราไม่ได้จัดแค่คิดว่าเสียชีวิตก็จบ เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยดูแลเขา ในเรื่องของการช่วยญาติ ช่วยคิดช่วยชี้แนะในเรื่องของการจัดการ ในเรื่องของการจัดการการตายว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งตรงนี้ในเรื่องของ Palliative care เรายังใช้ได้อยู่ การที่ให้ญาติได้ขอขมาศพ การที่พวกเราพยาบาลทุกคน ที่ได้ดูแลเขามาได้ขอขมา เป็นเรื่องของทางจิตใจ เราจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เพราะฉะนั้นในเรื่องของวาระสุดท้ายของชีวิตเราจะให้ญาติได้ทำตรงนี้ด้วย หลังจากเราส่งผู้ป่วย ณ ห้องเก็บศพแล้ว เราก็จะมาคุยกับญาติ ในเรื่องของการวางแผน ในการดำเนินการขั้นถัดไป ซึ่งในเรื่องของการที่ทางสังคม ทางวัด ทางอะไรไม่รับเราจะทำอย่างไร ณ ตอนนั้นญาติจะช่วยคิด เขาจะขอไปวัดที่ไกลที่สุด แต่เราต้องบอกระยะทาง หนูต้องไปที่ไม่ไกลเกินไป แล้วเจ้าอาวาสยอมรับเพราะว่าตอนที่เราเอาไปเราไม่ได้บอกว่าเป็นผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ผู้ป่วยตอนนั้นเราไม่เจอเชื้อแล้ว แต่เราไม่อยากพูดตรงนี้ดีกว่า เราตัดออกไปนะ เราบอกแค่ว่าการจัดการหลังการตายของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ในเรื่องจิตใจ และทางสังคมเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ ซึ่งพยาบาลจะมีบทบาทค่อนข้างมากในตรงนี้ เพราะเราจะช่วยเขาคิด ณ ตอนนั้นเขาคิดไม่ออก เราก็เลยบอกเอาอย่างนี้แล้วกัน เราจัดการให้เร็วที่สุด แต่ถามศพที่ออกไปเราจัดการให้อย่างดี เราใส่ถุงซิป 3 ชั้นโอกาสที่เชื้อโรคหลุดรอดไปไม่มี เพราะแต่ละชั้นเราแพ็กอย่างดี แพ็กแล้วเราก็ฉีดพ่นด้วย 70% แอลกอฮอล์ ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 อันนี้เรารับรองทำให้อย่างดี ไม่ให้เปิดถุงซิป ไม่ให้เปิดโลงศพในการทำพิธี แต่ในเรื่องของการจัดการเราบอกจัดการตามประเพณีทุกอย่างเพียงแต่ระยะเวลาสั้นลงเท่านั้นเอง จากเราสวด 3 วัน เราสวดแค่วันนี้วันเดียว3 จบ ไปเลย ในส่วนของโลง เรื่องดอกไม้ทางสถาบันซัพพอร์ตให้หมด ญาติไม่ต้องไปคิดเรื่องนี้ แม้กระทั่งรถที่เราไปส่ง ค่ารถไปส่งถึงวัดเราจัดการให้หมดเลย ญาติแค่ไปติดต่อเรื่องวัดอย่างเดียว ญาติไม่ต้องมากังวลเรื่องค่าโลงค่าอะไรทั้งสิ้นสถาบันดูแลให้ ซึ่งตรงนี้พี่ได้คุยกับผู้บริหาร ผู้บริหารบอกว่าเห็นด้วย เราก็นึกถึงใจเรา นึกถึงเราว่าเออตอนนี้เราก็เคว้งเหมือนกัน บอกญาติตัดตรงนี้เลย ญาติไปติดต่อเรื่องวัด เขาโชคดีนะคะ ติดต่อเรื่องวัดแล้ววัดรับทำเรื่องเผาเลย แต่หลังการตายจากนั้นพี่ยังได้ตามญาติอยู่นะคะ เพราะว่าเขาเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกยังเล็กอยู่ พี่ก็มีจัดทีมค่ะ จัดทีมไปถามทุกวันเป็นช่วงประมาณวันแรกเนอะ แต่ว่าพี่ถามพรุ่งนี้น้องสะดวกไหม อยู่ได้ไหม จัดทีม จัดทีมให้คำปรึกษา แต่ว่าทีมเราก็เลือกคนค่ะ พี่เลือกคนที่เขา approach ค่ะ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเหมือนกัน สามีเขาเสียเหมือนกัน เขาจะเข้าใจจิตใจซึ่งกันและกัน แต่ถามว่าการติดตามตรงนี้ทำติดๆ กันไหม เราไม่ค่ะ เราก็จะมีระยะเวลาอยู่นะคะ แต่ ณ ตอนนี้นะคะ เขาก็สามารถอยู่คนเดียวได้แล้ว และก็ ณ ตอนนี้เขาก็เอาขนมจีนมาเลี้ยงพวกพี่เนี่ย (ยิ้มขำ) วันนี้เอาขนมจีนมาเลี้ยงเจ้าหน้าที่ เราก็ติดต่อกันอยู่ตลอด เราก็เลยบอกว่าเพราะฉะนั้นในการทำบุญ น้องเขาก็ไปทำใหญ่เลย ณ ที่ 100 วัน และเราก็จะได้มีญาติมาเยอะๆ แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีญาติไม่เป็นไรค่ะ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เขาก็บอกว่า เขาโอเค เขารับได้ ตอนนั้นคิดไม่ออก และเราก็จะให้เบอร์โทรศัพท์เขาไว้ ว่า ณ ขณะนี้หลังจากที่ญาติเสียชีวิตไปแล้วสามารถโทรหาเราได้ตลอด ซึ่งอันนี้เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ในเรื่องการเป็นทักษะ ซึ่งเป็นเรื่องทักษะทางสังคมเหมือนกัน ที่พยาบาลเราต้องมีตรงนี้ ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มพวกนี้
ประชาชนทั่วไปช่วยได้ –เพียงให้ความร่วมมือและดูแลตัวเอง
สำหรับประชาชนพี่คิดว่า ประชาชนต้องให้ความร่วมมือค่ะ ต้องให้ความร่วมมือคุณจะต้องเชื่อ ต้องฟังมาตรการที่เราแจ้งไป โดยเฉพาะในเรื่องของอันที่ 1 การล้างมือ การล้างมือนี่ง่ายๆ และก็สำคัญ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่คุณตอนนี้ไม่ให้ออกจากบ้านแล้ว ขอให้ทุกคนอยู่ที่บ้าน ดูแลทุกคนในบ้าน ถูกไหมคะ ในเมื่อเราไม่ออกจากบ้าน เราก็จะไม่ไปรับเชื้อจากข้างนอกเข้ามา อยู่ที่บ้านดูแลตนเองค่ะ ดูแลสุขภาพตนเอง รับประทานอาหารทุกอย่างรับประทานได้หมด ยกเว้นของดองเราไม่อยากให้ทาน ผัก เนื้อ ไข่ นม น้ำ ดื่มให้เยอะๆ เลย ในเรื่องของ หลีกเลี่ยงนะคะมีกิจกรรมไม่ไป งดเลย ช่วงนี้ หรือเมื่อตัวเองมีอาการเจ็บป่วย หรือไปในที่ในแหล่งที่มีการประกาศว่า เป็นแหล่งที่เสี่ยง แล้วมีอาการไข้ หรือมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งเรา อย่าปิดเมื่อมาถึงโรงพยาบาลให้รีบแจ้งทันที จะได้ช่วยเหลือได้ทันทีเช่นกัน
หมายเหตุ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ วอยซ์ออนไลน์ ได้รับการสนับสนุนเนื้อหาโดย ยูเอ็นวีเมน, องค์การอนามัยโลก และ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
Exclusive 7 เม.ย. วันอนามัยโลก ฟังเสียงพยาบาล ในวันสู้โควิด ตอนที่ 1