วันที่ 15 ธ.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระพิจารณา วาระรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา ญัตติ เรื่องการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ 'โครงการแลนด์บริดจ์'
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายรายงานผลการพิจารณาศึกษา โดยขอตั้ง 3 คำถามจากระดับมหาภาพสู่จุลภาค คือ
1.) ลงทุนโครงการแลนบริดจ์โครงการเดียว 1 ล้านล้านบาท จะสามารถกระจายโอกาสให้กับผู้คนในภาคใต้ได้อย่างไรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท อาจใช้การลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศได้ แต่ความเสี่ยง ที่รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าการเวนคืนที่ดินคือมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพ-โคราช ที่รัฐบาลจะต้องจัดเงินอุดหนุน
พิธา ได้เปรียบเทียบการใช้งบประมาณในการลงทุนต่อโครงการแลนบริดจ์ 1 ล้านล้านบาท เทียบกับการลงทุนการผลิตที่จำเป็นให้กับพี่น้องภาคใต้ในราคาไม่ถึงครึ่งคือ 4.8 แสนล้านบาท ที่สามารถนำไปสร้างสร้างระบบพลังงานสะอาด แหล่งน้ำ การศึกษา สุขภาพ การแก้ปัญหาเรื่องยางพารา ปาล์มและผลไม้
2.) จัดการความเสี่ยงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างไร เนื่องจากโครงการแลนบริดจ์ เป็นโครงการที่จะต้องเวนคืนพื้นที่ทั้งสวนทุเรียน สวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เรื่องการสูญเสียพื้นที่ประมง และปัญหาน้ำมันรั่วอุบัติภัยทางทะเล
3.) วางภาคใต้และประเทศไทยอย่างไรระหว่างแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกและเส้นทางเสริมเรือฟีดเดอร์ ? โดยสิ่งที่ต้องแลกระหว่างโครงการแลนบริดจ์ และ มรดกโลก สิ่งแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่วางยุทธศาสตร์ขณะนี้ไปจนถึงอนาคตอาจหายไปโดยมูลค่าการท่องเที่ยวเฉพาะภาคใต้ขณะนี้คิดเป็น 30 % ของประเทศที่ 7 แสนล้านบาท ต่อปีหากกระทบการท่องเที่ยวที่ 10 % 50 ปีอาจสูญเสียรายได้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท
"ท้ายที่สุด เมื่อรัฐบาลเลือกโครงการแลนบริดจ์ และหวังจะแชร์ส่วนแบ่งการเดินเรือภูมิภาค ต้องมีองค์ประกอบสามอย่างเป็นอย่างน้อยคือ เร็วกว่า สะดวกกว่า ถูกกว่า และหากรัฐบาลไม่สามารถที่จะตอบทั้ง3 คำถามสำคัญดังกล่าวได้ ผมไม่สามารถเห็นชอบต่อรายงานฉบับนี้ได้" พิธา กล่าวทิ้งท้าย