คำถามจึงเกิดขึ้นว่า 3 พรรคที่เคยมองว่า ส.ว.แต่งตั้งไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกฯ จะยกมืออย่างไรในการโหวตเลือกนายกฯ รอบนี้ จะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประชาธิปไตยเดินหน้าหรือไม่
เพราะการเมืองหลังการเลือกตั้งยังไม่มีความชัดเจนว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถผลักดัน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยได้หรือไม่ แม้จะผนึกแน่นรวมกันได้มากถึง 312 เสียง
ในระบบการเมืองปกติจำนวนเสียงนี้เพียงพอแล้วสำหรับการเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ภายใต้การสืบทอดอำนาจที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ด้วย ทำให้ยังต้องการอีก 64 เสียงจึงจะเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเพื่อรับรองพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี
แม้ที่ผ่านมาทางแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะพยายามพูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ว. แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีสิ่งใดที่ให้ความมั่นใจได้ว่า ส.ว. จะให้การรับรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล
ในจำนวน 64 เสียงที่ต้องการนี้ ใช่ว่าจะต้องมาจาก ส.ว.เพียงเท่านั้น เสียงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นจาก ‘สปิริต’ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นกัน โดยการปิดสวิตซ์ ส.ว.หรือยกมือโหวตผ่านการรับรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมาก โดยไม่จำเป็นต้องร่วมรัฐบาล
เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก แต่ในรัฐบาลที่แล้ว เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคร่วมรัฐบาลเคยพร้อมใจกันโหวตให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เกิดขึ้นมาแล้ว
ในสมัยการประชุมของรัฐสภาชุดที่ผ่านมา มีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งในการร่วมโหวตรับรองบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง
แน่นอนว่าไม่มีครั้งไหนที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไข เพราะกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกใส่กลอนล็อคไว้แน่นหนา โดยกำหนดให้เป็นการพิจารณาร่วมกับของ ส.ส และ ส.ว. โดยมีเงื่อนไขสำคัญในการรับหลักการวาระที่ 1 จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียง และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. เกิน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงขึ้นไปด้วย
ในการพิจารณาญัตติเหล่านั้น พบว่า มี 2 ญัตติ (วันที่ 23 มิ.ย.2564) ที่เป็นการเสนอในประเด็นเดียวกันคือ ให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตรับรองนายกรัฐมนตรี (มาตรา 272) และกำหนดให้เพิ่มผู้ที่มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่กำหนดไว้ให้เป็นบุคคลที่มีรายชื่อจากการเสนอแคนดิเดตของพรรคการเมือง โดยให้เพิ่มผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไปด้วย (มาตรา 159)
สองญัตตินี้ถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอันหนึ่ง และพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยอันหนึ่ง โดยญัตติของพรรคเพื่อไทยฯ ได้รับเสียงเห็นชอบในวาระแรก 445 เสียงถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวนเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.1 ใน 3 เช่นเดียวกับญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ฯ ที่ได้เสียงสนับสนุนมากถึง 461 เสียง
อย่างไรก็ตาม แม้กติกาที่ให้อำนาจ ส.ว. โหวตรับรองนายกฯ จะยังไม่ถูกแก้ไขเพราะติดด่าน ส.ว. แต่ก็ทำให้ได้ข้อสรุปว่า มี ส.ส.เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยกับการกติการดังกล่าว
มากไปกว่านั้นในจำนวนเสียงเหล่านี้คือเสียงจาก ส.ส. จากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยเฉพาะ 3 พรรคเสาหลัก พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ รวมทั้งสิ้น 209 เสียง ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่าแบ่งเป็น
ขณะที่การเลือกตั้งล่าสุดปี 2566 ปรากฎว่าจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของทั้ง 3 รวมแล้วมี 136 เสียง แบ่งเป็น
รายละเอียดของ ส.ส.ที่ไฟเขียวให้ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ ในการโหวตนายกฯ เมื่อปี 2564 เป็นดังนี้
พรรคพลังประชารัฐ มี 102 คน (17 คนงดออกเสียง)
พรรคภูมิใจไทย 60 คน ( 1 คนงดออกเสียง)
พรรคประชาธิปัตย์ 47 คน ( 1 คนงดออกเสียง)