ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตอนนี้จะได้ยินข่าวพรรคการเมืองต่างออกมาพูดถึงนโยบายข้าวที่จะบริหารให้ชาวนาพอใจ แต่ละพรรคมุ่งไปที่ราคาข้าวเปลือกที่ตั้งเป้าว่าจะให้ชาวนาได้รับในราคาสูง ซึ่งเป็นเรื่องดีแต่อยากให้ทุกคนทราบข้อเท็จจริงว่า "ข้าว" เป็นสินค้าประเภทที่เรียกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) มีปริมาณมาก หลายๆ ประเทศมีเหมือนๆ กัน คล้ายๆ กัน ในการบริโภค และมีคู่แข่งหลายประเทศที่เสนอขายในตลาดโลกเป็นปริมาณมากเหมือนกัน การสร้างความแตกต่างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ คุณภาพ ซึ่งต้องครบทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มปลูก สีแปร จัดจำหน่าย
ดังนั้น การจะช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาสูงต้องช่วยที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การกำหนดว่าจะให้ข้าวเปลือกราคาเท่าใด ยิ่งสูง ชาวนายิ่งพอใจ เพราะจะได้ราคาดี แต่ถ้าราคาที่เราไปกำหนดเป็นราคาที่บิดเบือนกลไกตลาดมากเกินไป จนทำให้เมื่อสีแปรเป็นข้าวสารแล้ว ราคาสูงมากจนไม่สามารถขายในตลาดได้ เพราะคู่แข่งสามารถผลิตข้าวชนิดที่ใกล้เคียงมาขายได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก เราก็จะเสียตลาดแน่นอน
ประเทศไทยเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว เมื่อ 6 - 7 ปี ก่อน ที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิสูง จนเสียลูกค้าที่เคยซื้อไปจำนวนมาก เพราะไม่สามารถสู้ราคาได้ ที่แย่ที่สุดคือเราเสียตลาดให้กับคู่แข่ง ที่แม้ผลิตข้าวคุณภาพยังสู้เราไม่ได้ แต่พอที่ลูกค้าจะยอมรับเพื่อทดแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด เพราะตลาดเริ่มสนใจข้าวของคู่แข่ง เมื่อทำตลาดมากขึ้น ผู้บริโภคก็ค่อยๆ เกิดการยอมรับ เพราะราคาถูกกว่า คุณภาพพอรับได้ เราต้องใช้เวลาอีกหลายปีต่อมา เพื่อดึงราคาข้าวหอมมะลิให้กลับไปสู่ความเป็นจริงของราคาตลาด จนเราสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมาได้ แน่นอนมัน ไม่เหมือนสภาพตลาดก่อนหน้า เพราะคู่แข่งเราก็เริ่มพัฒนาพันธุ์ของเขาให้ดีขึ้น สู้เราได้มากขึ้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า การจะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้ราคาข้าวเปลือกดี ไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่คุณภาพ คือต้องมีพันธุ์ที่ดี ได้ผลผลิตปริมาณที่มากขึ้น (เพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น) ผลิตในต้นทุนที่ต่ำลง มีการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง มีโรงสีที่มีคุณภาพในการสีแปร และมีพ่อค้าในประเทศและผู้ส่งออกที่ร่วมมือกัน เสนอราคาขายที่เหมาะสม ไม่ขายตัดราคากัน เพราะผู้นำเข้ารออยู่แล้วที่จะกดราคาต่ำ ถ้ามีโอกาส เพราะราคาที่ขายในประเทศ และราคาส่งออกก็จะสะท้อนมาเป็นราคาข้าวเปลือกในประเทศ เป็นราคาที่พี่น้องชาวนาจะขายได้ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลไม่ให้ราคาในประเทศตกต่ำจนต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จึงเป็นที่มาของมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือในช่วงราคาผลผลิตออกมากค่ะ
เขียนมาถึงตรงนี้ก็จะมีคนออกมาวิจารณ์ว่าพูดได้ เพราะไม่รู้ของจริงเป็นอย่างไร ก็จะบอกว่าได้ทดลองปลูกข้าวด้วยตัวเองมาแล้ว 3 ฤดูกาล ซาบซึ้งถึงความยากลำบากที่พี่น้องต้องเผชิญ และเห็นใจ เข้าใจทุกฝ่ายที่ต่างทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนา แต่คงมีแกะดำบ้างธรรมดาโลก ที่อาจไม่ร่วมมือค่ะ
โดยสรุปคือ การช่วยเหลือชาวนาด้วยการประกาศให้ ข้าวเปลือกราคาสูงเกินไปจนบิดเบือนกลไกตลาด มีแต่จะทำร้ายซ้ำเติม และจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวอย่างถาวร เหมือนในอดีตที่ผ่านมา และเป็นภาระรัฐบาลต้องเอางบประมาณมาแบกรับโดยไม่สมควร การจะให้พี่น้องชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ต้องทำหลายมาตรการประกอบกัน แล้วจะมีมาตรการอะไรบ้างค่อยติดตามต่อไป