ไม่พบผลการค้นหา
"ผมถือว่าผมทำหน้าที่ปกปักรักษารัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงวินาทีสุดท้าย ผมทำดีที่สุดแล้ว แต่มันได้แค่นี้ เพราะเกมมันเปลี่ยน คุณเล่นปืนกับผม ผมไม่ถนัด"

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ "หมอมิ้ง" มีบทบาทสำคัญในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

เขาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญ เสมือน “นายกฯ น้อย” เพราะต้องอาศัยผู้ที่มีความสามารถรอบด้าน ทำหน้าที่นอกจากพ่อบ้านรัฐบาลแล้ว ยังต้องเป็นเพื่อนคู่คิดของนายกรัฐมนตรีด้วย

19 ก.ย. เมื่อ 15 ปี ก่อน “หมอมิ้ง” ทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เวลานั้น จะก่อการปฏิวัติรัฐประหาร

เขาพยายามยื้อการโค่นประชาธิปไตย ด้วยการปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดจนถึงวินาทีสุดท้าย ก่อนคณะรัฐประหารจะฉีกทิ้งด้วยปากประบอกปืน

'วอยซ์' คุยกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในวัย 66 ปี หวนนาทีประวัติศาสตร์ในวาระ 15 ปี รัฐประหารโค่นล้มนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549

ทักษิณ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 80901.jpeg

"ผมก็เลยติดต่อทาง อสมท ตอนนั้น ท่านเนวิน ชิดชอบ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ผมบอกว่าขอ อสมท ช่วยออกหน่อย แล้วขอรถ SNG ออกอากาศไปที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพราะเราจะตั้งกองบัญชาการที่นั่นสู้กันแล้ว" เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 เล่าวินาทีสำคัญของค่ำคืน 19 ก.ย. 2549 ถึงการเปิดวอร์รูมต่อสู้กับฝ่ายก่อการรัฐประหาร ด้วยการต่อสายโทรศัพท์ถึง เนวิน ชิดชอบ เพื่อเร่งรีบประสานการออกอากาศเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษานายกรัฐมนตรีขณะนั้น จะอ่านอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี หรือช่อง 9 เพื่อหยุดยั้งการรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี

ช่วงชุลมุนความวุ่นวายข้ามทวีปอยู่นั้น การบัญชาการรบต่อสู้กับการรัฐประหารของรักษานายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในค่ำคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ตามเวลาประเทศไทย ในเวลา 22.20 น. รักษาการนายกฯ สามารถอ่านประกาศส่ังปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน พ้นจาก ผบ.ทบ.เพื่อให้มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอ่านออกอากาศทางช่อง 9 ได้

"เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นไปอย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ประกอบกับมาตรา 11 วรรค 2 (6) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ณ บัดนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 19 ก.ย.2549" พ.ต.ท.ทักษิณ อ่านประกาศปลด พล.อ.สนธิ 

ทว่าการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนั้น กลับไม่สามารถเอาชนะฝ่ายที่กุมกำลังทหารทั้งกองทัพบกไว้ได้ เพราะทหารได้เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ไว้เรียบร้อยแล้ว

ฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งไร้กำลังสู้กับฝ่ายก่อการยึดอำนาจ เริ่มรับรู้สึกถึงสัญญาณแห่งความพ่ายแพ้ เมื่อกลางดึกก่อนเข้าวันใหม่ ได้ปรากฎภาพผู้นำเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะเกมได้เปลี่ยนไปแล้ว

"เรื่องนี้เพื่อให้ยุติก็เลยตัดสินใจไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าจะให้คลี่คลาย เราไม่ต้องการให้เสียเลือดเนื้อ ขณะนี้เท่ากับประจันหน้ากันแล้ว มีการต่อสายไปถึง ตอนนั้นท่าน พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อสายติดต่อผู้บัญชาการทหารบก ก็คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน แต่ติดต่อไม่ได้ ตอนผมนั่งอยู่ เพิ่งติดต่อ แล้วมีการพูดคุยกันระหว่างท่านเรืองโรจน์และท่านสนธิ มีการพูดจากัน" นพ.พรหมินทร์ ระบุกับ 'วอยซ์'

หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐประหาร 19 กันยายน _Voice_Patipat_011.jpg

"ผบ.ทบ.สู้ตาย!" พล.อ.เรืองโรจน์หันมาตอบกลับ นพ.พรหมินทร์และระบุว่า หมายความว่าไม่ยอมต้องสู้กัน

ท้ายที่สุด นพ.พรหมินทร์ และ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับกองทัพที่นำกำลังเข้ายึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และถูกนำตัวไปไว้ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน

นพ.พรหมินทร์ เล่าวินาทีก่อนถูกนำตัวออกจากกองบัญชาการกองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งถูกตั้งเป็นวอร์รูมชั่วคราวเพื่อต่อสู้กับคณะรัฐประหาร

"มีภาพออกว่าเป็นคณะรัฐประหารเป็นภาพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ภาพข่าว แล้วมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษขณะนั้นนั่งคุกเข่าพร้อมกับผู้บัญชาการทหาร 2-3 ท่าน แต่ไม่มีท่านเรืองโรจน์ สักพักก็มีเกือบตี 1 ก็มีภาพนั่งประกาศ มีชื่อท่านเรืองโรจน์เข้าไปเป็นคณะร่วมด้วย เข้าใจว่าอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง สนธิ บุญรัตกลิน รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เปรม 47839989472_6711710564881967434_n.jpgAFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คปค ปฏิวัติ สถาบันพระมหากษัตริย์ ในหลวง 2559.jpg

รุ่งเช้า 20 ก.ย. 2549 เวลา 08.30 น. หลังการรัฐประหารไม่ถึง 24 ชั่วโมง พล.อ.สนธิ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เข้าพบ นพ.พรหมินทร์

ทันทีที่ พล.อ.สนธิเข้ามาถึง ผู้นำรัฐประหารคนล่าสุดได้ทำความเคารพ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยทั้งสองฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน

"ท่านทำจนได้นะ" นพ.พรหมินทร์ พูดกับ หัวหน้า คปค.

ขณะที่ พล.อ.สนธิ ก็ยังคงยืนทำความเคารพอยู่และบอกว่า "มันเป็นหน้าที่"

"ผมก็ไม่รู้หน้าที่อะไร หน้าที่ยึดอำนาจเหรอ คำตอบผมสวนไปทันทีก็คือ ท่านอย่าลืมนะครับ ผมเป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะผมรู้ว่าท่านหมายถึงอะไร" นพ.พรหมิทร์ ย้ำบทสนทนาครั้งแรกหลังการรัฐประหารกับผู้นำที่เข้ามายึดอำนาจ

หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช_Voice_Patipat_004.jpg
  • ก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 มีสิ่งบอกเหตุอย่างไรบ้าง

การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่ได้เกิดขึ้นเดี่ยวๆ แต่มีเรื่องของช่วงเวลาและพัฒนาการของมัน พูดตรงๆมันมีแผนการพยายามลดอำนาจของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร อยู่แล้ว ต้องอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยที่สุด ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้คุณทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทย และชนะการเลือกตั้ง ครั้งแรกปี 2544 มีเสียงเกือบเกินครึ่งหนึ่งของสภา โดยได้ 248 เสียง จาก 500 เสียง จากนั้นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ปี 2548 เราชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายได้ 376 เสียง ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 200 คน

แต่นี่คือตัวตนของปัญหา เพราะในประวัติศาสตร์ไทย การพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยนั้นมีอุปสรรคมาโดยตลอด การรัฐประหารจึงมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นฝ่ายที่สูญเสียอำนาจหรือพรรคการเมืองที่เป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่สูญเสียอำนาจ ย่อมไม่พอใจ เพราะดูท่าทางแล้ว เขาไม่มีทางที่จะชนะการเลือกตั้งได้ จึงมีเจตนาร่วมกันเพื่อล้มรัฐบาลจากพรรคไทยรักไทย โดยมีกระบวนการเคลื่อนไหวที่ใช้ประชาชน ใช้สื่อ และใช้วาทกรรมในลักษณะความจริงที่ไม่สมบูรณ์ เหล่านี้เป็นสิ่งบอกเหตุ

  • ทักษิณ ตัดสินใจยุบสภาหาทางออก

คุณทักษิณได้แก้ไขปัญหาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์แบบประชาธิปไตย ด้วยการประกาศยุบสภาให้เห็นๆกันว่า เราใจกว้าง หากคิดว่าประชาชนไม่ชอบเรา ก็ต้องไปลงเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 24 ก.พ. 2549 และแน่นอนการเลือกตั้งทำได้อย่างยากลำบาก พรรคฝ่ายค้านบอยคอตเพื่อให้การเลือกตั้งไม่สมบูรณ์

จากนั้นรัฐบาลรักษาการก็เจอกับอุปสรรคเรื่อยมา และเวลานั้นรัฐบาลมีภารกิจสำคัญในการจัดพระราชพิธีฉลอง 60 ปี การขึ้นครองราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเดือน มิ.ย. 2549 ซึ่งคุณทักษิณกลับมาจัดงานนี้ให้ลุล่วงผ่านไปด้วยดี สามารถระดมน้ำใจของประชาชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้ง แต่หลังจากนั้น กลุ่มที่สูญเสียอำนาจก็เห็นว่าหมดภารกิจแล้ว การทำลายกระบวนการต่างๆ ก็เริ่มขึ้นมาอีกครั้ง มีการชุมนุม แม้จะไม่ได้ผล แต่ก็เป็นเครื่องมือสำคัญ

หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐประหาร 19 กันยายน _Voice_Patipat_008.jpg
"พรรคไทยรักไทยทำให้ประชาชนได้สัมผัสว่าประชาธิปไตยกินได้นั้นเป็นอย่างไร หมายความว่าการเลือกตั้ง การเลือกผู้แทนสร้างประโยชน์ให้เขาได้อย่างแท้จริง"
  • เหตุการณ์ค่ำคืนวันที่ 19 ก.ย.2549 รัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี

ก่อนเกิดรัฐประหาร นายกฯเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ได้ให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ เป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี และก่อนวันที่ 19 ก.ย.มีระเบิดเกิดขึ้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 กว่าแห่งพร้อมกัน แต่ดูรูปการแล้วไม่ใช่การก่อการร้าย น่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ นายกรัฐมนตรี จึงให้เชิญ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันอังคารที่ 19 ก.ย. ผมเป็นคนเชิญเอง เชิญทุกคน แม่ทัพทุกเหล่าทัพ ให้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์

การประชุมวันนั้นแม่ทัพต่างๆเข้ามาประชุมหมด ยกเว้นผู้บัญชาการทหารบก มันบอกเหตุกับเราว่ามีอะไรแปลกๆ และหลังการประชุมสถานการณ์ต่างๆก็ไม่ค่อยดี ก็เลยพยายามเช็คข่าว ผมพยายามติดต่อฝ่ายความมั่นคงหลายคนที่คุ้นเคย และเราก็รู้สึกไม่ดี และไม่รู้จะติดต่อนายกฯ ยังไง เพราะในช่วงบ่ายที่ประเทศไทย ก็เป็นเวลาพักผ่อนที่สหรัฐฯ และเราก็ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง จะเหมือนกระต่ายตื่นตูมหรือไม่ เช็คไม่ได้ แต่ผมก็เชื่อว่านายกฯมีเส้นสายอดีตนายทหารซึ่งเป็นเพื่อนของท่านอยู่ ท่านก็คงเช็คได้

ผมมาติดต่อท่านชิดชัย ได้ประมาณ 1 ทุ่ม พอดีกับคุณทักษิณโทรศัพท์มาบอกว่า ท่านได้แฟกซ์คำสั่งปลด ผบ.ทบ.มาแล้ว และให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รักษาการแทน ซึ่งเป็นการทำอย่างถูกต้อง โดยมีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน และ ปลด ผบ.ทบ. เอาอำนาจต่างๆมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี

เอกสารนั้นแฟกซ์มาที่ทำเนียบรัฐบาล ผมก็กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลประมาณ 2 ทุ่ม พร้อมกับเชิญท่านชิดชัยมาอยู่ด้วยกัน แล้วจะประสานฝ่ายความมั่นคง คือ รมว.กลาโหม

และเนื่องจากคำสั่งบอกว่าแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ เป็นรักษาการ ผบ.ทบ.เราก็เลยย้ายไปที่กองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ ไปรออยู่พักหนึ่งก็ได้เข้าพบ และผมก็พยายามหาทางที่จะออกอากาศคำสั่งนายกฯ ผมก็เลยติดต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ที่ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ท่านสุรนันทน์ บอกว่าทหารยึดกรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ช่องทางนี้จึงเสียหายแล้ว ช่อง 5 ไม่ต้องพูดถึง ผมก็เลยติดต่อ อสมท.ตอนนั้นท่านเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อีกท่านหนึ่ง ผมบอกว่าขอ อสมท ช่วยออกอากาศหน่อย ขอให้เอารถออกอากาศไปที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพราะเราจะตั้งกองบัญชาการที่นั่นสู้กัน ถ้าท่านเนวินบอกว่า ‘พี่ทหารเต็มบ้านผมแล้ว’ ผมถามว่ากี่คน เขาบอกว่า 30 คน

ระหว่างนั้นผมได้พูดคุยกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้ใหญ่ของกองบัญชาการกองทัพไทย ระหว่างที่คุยกันอยู่นั้น มีการออกอากาศประกาศของท่านนายกฯ ทักษิณจากสหรัฐฯ เป็นการอ่านประกาศด้วยเสียงของท่านเอง ผ่านช่อง 9 แต่ถูกตัดตอนสุดท้าย

AFP รัฐประหาร ทักษิณ 620099.jpg

ตอนนั้นผมได้มีการประชุมหารือกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และมีการติดต่อกับรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ และผู้ใหญ่ในกองทัพไทย ทั้ง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เสนาธิการทหารขณะนั้น เราได้นั่งประชุมหารือกัน และเช็คว่ากำลังของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ที่สุดก็ตัดสินใจเพื่อให้ข้อยุติ ต้องไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเราไม่ต้องการเผชิญหน้าหรือสู้กัน เพราะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ติดต่อผู้บัญชาการทหารบก แล้วบอกว่า ผบ.ทบ.สู้ตาย

จากนั้น พล.อ.เรืองโรจน์ ก็เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ และผมเองก็จะออกไปข้างนอก แต่ทหารก็มาบอกว่าออกไม่ได้ พล.อ.ท่านหนึ่งบอกกับผมว่า ออกไปก็ตาย ซึ่งผมก็รู้อยู่ว่าแนวโน้มเราถูกรัฐประหารแล้ว ผมก็ต่อสายคุยกับท่านทักษิณครั้งหนึ่ง ท่านก็บอกว่าให้ผมกลับบ้าน ผมบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงผม

ประมาณ 5 ทุ่มครึ่ง จึงมีข่าวการเข้าเฝ้าฯของคณะรัฐประหาร พล.ท.วรเดช ภูมิจิตร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) ในขณะนั้น รับตัวผม ท่านชิดชัย และท่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นรถหุ้มเกราะ วิ่งจากถนนแจ้งวัฒนะ ขึ้นทางด่วน ไปยังกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.)

ประมาณตี 2 ผมเดินทางมาถึงห้องรับรองของ บก.ทบ. ซึ่งก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากห้องรับแขกที่ตั้งเตียงสนามไว้ 2 ตัว มีโต๊ะข้างเตียง 2 ชุด มีผ้าขาวม้า สบู่ ขัน รองเท้าแตะ ผ้าห่มแบบทหารให้นอน

  • นาทีเผชิญหน้า ผู้นำรัฐประหารครั้งแรก

ไม่มีใครจะบอกอะไรกับเรา เราไม่ได้นอนถึงเช้า ประมาณ 8 โมง ของวันที่ 20 ก.ย. 2549 ประตูห้องรับรองเปิดออกมา นายทหารแต่งชุดคล้ายจะออกรบได้เข้ามา เขามีปืนยาวเก็บเสียงมาด้วย คนที่ตามมาด้วยคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อเดินเข้ามาห่างกันประมาณ 5 เมตร เราต่างคนต่างทำความเคารพให้กัน ผมยืนขึ้นยกมือไหว้ ท่านก็ตะเบ๊ะ

เราคุ้นเคยกันดี คำแรกที่ผมทักคือ "ท่านทำจนได้นะ" พล.อ.สนธิ ตะเบ๊ะแล้วตอบมาว่า "มันเป็นหน้าที่" ผมสวนไปทันทีว่า "ท่านอย่าลืมนะครับ ผมเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

ผมจำได้ว่าได้พูดประโยคหนึ่งกับ พล.อ.สนธิว่า "ยึดไปแล้วคืนให้เร็วที่สุด ไม่งั้นประเทศจะลำบาก" หลังจากนั้นก็เป็นคำสนทนาส่วนตัว

AFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ 325874.jpg
  • ก่อนรัฐประหารมีเสียงเตือนหรือไม่

ผมก็ถูกเตือนอยู่เหมือนกันว่า นายทหารรุ่น พล.อ.สนธิ ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์วงสุวรรณ ที่ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานั้น พวกเขาเป็นรุ่นเดียวกันหมด แม่ทัพทุกเหล่า รวมถึงปลัดกระทรวง เป็นรุ่นเดียวกันหมด ปกติเขาจะไม่ตั้งกันอย่างนี้ เพราะนั่นเท่ากับการเปิดโอกาสให้พวกเขาแพ็คกัน เพื่อรัฐประหารได้ แต่เราก็เชื่อว่าเรามีประชาชนเป็นฐาน

  • คือไม่คาดคิดว่าจะมีรัฐประหารอีก

ผมผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาหลายครั้ง เริ่มรับรู้เหตุการณ์รัฐประหารครั้งแรกปี 2514 กระทั่งมาถึงหลังปี 2535 ผมก็นึกว่า น่าจะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายแล้ว

แต่ผมคิดว่าที่สุดแล้ว มันหลีกเลี่ยงลำบาก แต่เราก็ป้องกันไว้ดีที่สุด ผมถือว่าผมทำหน้าที่ปกปักรักษารัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงวินาทีสุดท้าย ผมทำดีที่สุดแล้ว แต่มันได้แค่นี้ เพราะเกมมันเปลี่ยน คุณเล่นปืนกับผม ผมไม่ถนัด เราเดินเกมที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าปืนต่อปืนซัดกัน ก็ทำให้เสียหาย

หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐประหาร 19 กันยายน _Voice_Patipat_006.jpg
"ที่สุดก็ตัดสินใจเพื่อให้ข้อยุติ ต้องไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเราไม่ต้องการเผชิญหน้าหรือสู้กัน"


หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 19 กันยายน รัฐประหาร _Voice_Patipat_010.jpg
  • นาทีที่ถูกรัฐประหารมีความกลัวหรือไม่

แน่นอนสถานการณ์นั้นมันมีความตื่นเต้น แต่ชีวิตผมผ่านอะไรมาเยอะ แต่ในนาทีนั้นผมเชื่อว่าเขาไม่กล้าเอาผมถึงชีวิต แน่นอนการถูกยึดอำนาจไปแล้ว มันรู้สึกเสียดายประโยชน์ของประชาชน ตอนนั้นผมคิดว่าผมคุมสติอยู่ และไม่ใช่ครั้งแรกของผม ผมอยู่ในสถานการณ์ 6 ตุลา 2519 เห็นเพื่อนตาย พูดตรงๆคือผมเดนตายแล้ว นั่นหมายความว่าผมควรจะไปตั้งแต่ 6 ตุลาแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น ชีวิตที่ผมมีอยู่นี้ ก็จะพยายามทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และผมได้ทำประโยชน์ฐานะรัฐบาลจนถึงที่สุด ผมก็คิดว่ายังมีศักดิ์ศรีอยู่ ถ้าถามว่ากลัวตายหรือเปล่า ผมก็คิดว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

  • มองย้อนกลับไปรัฐบาลตอนนั้น ถือว่าประมาทหรือไม่ เพราะสิ่งบอกเหตุหลายเรื่องก็ปรากฎให้เห็นอยู่

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผมรู้สึกไม่พอใจและโกรธตัวเองอยู่พักหนึ่ง ว่าทำไมถึงประคองสถานการณ์ไม่อยู่ แต่ที่สุดแล้วก็คิดว่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็อาจจะมีเหตุการณ์อื่นๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเขาต้องการทำ และเขาเป็นฝ่ายกุม กรณีนี้ก็เหมือนกัน ผมมีหน้าที่ดึงให้ยาวขึ้น พ้นได้ก็พ้น แต่เขาเป็นฝ่ายกำหนดเกม เพราะถือปืน ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงการรัฐประหารยาก

  • 15 ปีที่ผ่านมาการรัฐประหารครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอะไรบ้าง

หลังจากล้มรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ก็ไม่สามารถเอาวิญญาณประชาธิปไตยมาใส่ได้ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 ส.ว. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง มีอายุ 6 ปี แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ใช่อย่างนั้น และเขานึกว่าจะสำเร็จแล้ว เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบ แต่พรรคพลังประชาชน ยังชนะการเลือกตั้ง แต่เขาก็ยังใช้เทคนิค เช่น เอานายกฯออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลเพราะทำกับข้าวออกทีวี  แล้วตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร แต่พรรคเพื่อไทย ก็กลับมาชนะการเลือกตั้งในปี 2554 และแม้รัฐธรรมนูญปี 2560 พรรคเพื่อไทยก็ได้ ส.ส.มากที่สุด นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะวิธีการใด แต่ถ้ายังยืนดูบนผลประโยชน์ของประชาชน ก็จะยังดำรงอยู่ตลอด

ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ประชาชน พรรคไทยรักไทยทำให้ประชาชนได้สัมผัสว่าประชาธิปไตยกินได้นั้นเป็นอย่างไร หมายความว่าการเลือกตั้ง การเลือกผู้แทนสร้างประโยชน์ให้เขาได้อย่างแท้จริง แต่ 7 ปีที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารปี 2557 ชี้ให้เห็นว่าถ้าเกิดคุณไม่ได้อำนาจที่มาจากประชาชน แล้ว มันสร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง ทำให้ประเทศถอยหลังอย่างไรบ้าง วันนี้เหมือนประเทศถอยหลังไปไกลมาก ตัวชี้ขาดคืออำนาจของประชาชน

หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 19 กันยายน รัฐประหาร _Voice_Patipat_005.jpg
  • ทำไมเรายังมีรัฐประหารอีก แล้วเราจะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร

ผมใช้คำว่ารัฐพันลึก ซึ่งหมายถึงกระบวนการอำนาจรัฐและวัฒนธรรมต่างๆ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่ต้องเข้าไปถึงวัฒนธรรม หลายคนบอกว่าเราต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม คืออยู่ในใจคน แม้ความแตกต่างในความคิดก้าวหน้าของคนอายุ 60 ถึง 70 ปีอย่างผม กับเด็กนั้นตีความไม่เหมือนกัน เด็กอาจจะต้องการทะลุเพดาน แต่เราบอกไม่เป็นไร  แต่เราต้องมาหาจุดร่วมกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกที่ก้าวหน้า

  • ถ้าไม่มีรัฐประหาร 19 ก.ย.ก่อน รัฐบาลตอนนั้นเตรียมอะไรบ้าง

ตอนนั้นเราประกาศสงครามกับความยากจน ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน ย้อนไปปี 2544 ประเทศเหมือนกับจะล้มละลายอยู่แล้ว เรากู้เงินมาจนกระทั่งสร้างรายได้ให้กับประชาชน ทำให้สามารถเก็บภาษีแล้วเมื่อคืนหนี้ IMF ของประเทศได้ในปี 2546

หลังจากนั้นเราทะยานสู่การสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน เช่น เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และเปลี่ยนงานด้านการต่างประเทศเพื่อรองรับงานด้านเศรษฐกิจ ทำให้โลกเป็นตลาด สามารถค้าขายได้กับทั่วโลก สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้

เมื่อเดือน ม.ค.ปี 2549 เรากำลังทำ ‘Modernize Thailand’ (ทำประเทศไทยให้ทันสมัย) คือเรากำลังจะเหยียบคันเร่ง โดยให้เอกชนและนักลงทุน มาหารือกันเพื่อเปลี่ยน เช่น โครงสร้างการคมนาคม ตอนนั้นเราตัดสินใจแล้วว่าจะมีรถไฟฟ้าทั้งหมด 333 กิโลเมตรในกรุงเทพ ภายใน 7 ปี ยาวกว่านิวยอร์ก ทั้งที่เวลานั้น รถไฟฟ้าในไทยยังไม่ถึง 40 กิโลเมตร ผมเสียดายโอกาสประเทศไทย

การรัฐประหารไม่เพียงแต่หยุดการพัฒนาประเทศไทย แต่ยังลากประเทศถอยหลังกลับไป เช่น สภาพของสภาแบบนี้ มันเกิดขึ้นเมื่อผมอายุ 20 ปี

AFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ นิวยอร์ก ar930844.jpgAFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ g325776.jpg


AFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ เสื้อเหลือง 3000.jpg


AFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ ทำเนียบรัฐบาล สนธิ รถถัง 2674.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง