นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และในฐานะแพทยสภา มีความเห็นว่า ร่างพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังวิพากษ์ วิจารณ์กันอยู่นี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือปกป้องผู้บริหารสาธารณสุข ปกป้องคณะผู้จัดหาหรือบริหารวัคซีนโควิด โดยอ้างความจำเป็นที่ต้องปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขหรืออาสาสมัครหรือผู้ที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด
ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เคยสอบถามความเห็นไปยังสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุขเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองบุคลากรผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับคนไข้โควิด ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นว่าการมีกฎหมายเช่นนี้จะทำให้บุคลากรซึ่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องโควิด ทำงานหนักจนล้นมือในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ จะสามารถทุ่มเททำงานตามวิชาชีพหรือสายงานที่รับผิดชอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนโดยไม่ต้องกังวลต่อการถูกฟ้องร้องกล่าวหาใดๆ
นพ.สุรวิทย์ กล่าวด้วยว่า การจัดทำกฎหมายฉบับนี้ ไม่เคยสอบถามหรือกล่าวถึงการนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กับผู้จัดหาหรือบริหารวัคซีนกับสภาวิชาชีพต่างๆ เลย แต่เมื่อมีการเปิดเผยร่างพระราชกำหนดออกมา พบว่ามีการสอดแทรกเรื่องนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กลุ่มผู้จัดหาหรือบริหารวัคซีนมาด้วยในข้อที่ 7 ทำให้สภาวิชาชีพและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่พอใจ เหมือนถูกใช้เป็นเครื่องมือปกป้องฝ่ายบริหารหรือจัดหาวัคซีน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวถึงความผิดพลาดในการจัดหาหรือบริหารวัคซีนมากมาย
"ความผิดพลาดหรือบกพร่องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีนดังกล่าวไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมล่วงหน้า เพื่อให้มีการตรวจสอบถึงความโปร่งใส ความคุ้มค่าและมีธรรมาภิบาล รัฐบาลจึงควรตัดกลุ่มที่จะได้รับนิรโทษกรรมล่วงหน้า กลุ่มที่ 7 คือผู้จัดหาหรือบริหารวัคซีนโควิดออกไปจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้" นพ.สุรวิทย์ กล่าว