ไม่พบผลการค้นหา
หนทางในสภาปิดลง เมื่อสมาชิกรัฐสภานำโดย ส.ว.และส.ส.พลังประชารัฐโหวตคว่ำวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเรียกร้อง เหมือนการตบหน้าประชาชนฉาดใหญ่ หลังจากตบมาแล้วหลายต่อหลายหน

17 มีนาคม 2564 ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอันสิ้นสุดลงโดยการโหวตคว่ำของสมาชิกรัฐสภา นำโดย ส.ว.แต่งตั้งและส.ส.พลังประชารัฐ 

แก้รัฐธรรมนูญ

1.สรุปกระบวนการ ‘มวยล้มต้มคนดู’  

  • การโหวตวาระ 3 เริ่มขึ้นท่ามกลางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่คลุมเครือแบบที่ทำให้ทุกฝ่ายตีความเข้าข้างตนเองได้ ศาลชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องทำประชามติถาม ‘ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’ เสียก่อนว่าต้องการฉบับใหม่ไหม แต่ไม่ได้บอกว่าให้ทำตอนไหน?
  • ก่อนหน้านี้คนวิจารณ์กันหนักที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน – สมชาย แสวงการ และพรรคพวกใช้เทคติกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนโหวตวาระ 3 เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่แล้วว่า ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ในช่วงปลายน้ำก่อนทูลเกล้าฯ
  • เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมา เวอร์ชั่นสั้น 4 บรรทัดตีความไม่ตรงกัน อีก 3-4 วันมีคำวินิจฉัยกลาง 15 หน้าออกมาแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความชัดเจนขึ้น ส.ว.หลายคนบอกต้องทำประชามติตั้งแต่แรก ร่างที่ผ่านการโหวตวาระ 1 และ 2 มาแล้วนี้ต้องตกไป ขณะที่ฝ่ายค้านบอกว่า ทำประชามติหลังโหวตผ่านวาระ 3 ได้ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่แล้วและสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาล
  •  เมื่อเปิดประชุมสภา จึงมีควาเห็นต่างกันและมีการเสนอทางออกสรุปได้เป็น 4 แนวใหญ่

1.ให้สภาเดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อไป (ฝ่ายค้าน)

2.ให้สภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่ (ประชาธิปปัตย์)

3.ให้ร่างตกไปเลย ไม่ลงมติวาระ 3 (ส.ว.)

4.ให้ชะลอการพิจารณาแล้วไปทำประชามติ (ชาติไทยพัฒนา)

  • จุดพลิกเกมอันน่าตื่นเต้น ก็คือ หลังอภิปรายถกเถียงยาวเหยียดหลายชั่วโมง มีการพักยก 20 นาที เมื่อกลับมาตอนราวๆ 3 ทุ่ม ไพบูลย์ นิติตะวัน ตัวพลิกเกมแห่งชาติ จากที่เคยขวางการแก้ไขในทุกขั้นตอนได้เสนอญัตติใหม่ให้สภาโหวตวาระ 3 ไปเลย ประธานสภาเปิดให้โหวตญัตติของไพบูลย์ ผลที่ออกคือ 473 ต่อ 127 เสียง เห็นชอบลุยโหวตวาระ 3 ทำให้ทางเลือกอื่นที่เถียงกันมาทั้งวันตกไปทันที
  • นั่นทำให้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยนำทีมวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.ภูมิใจไทย กล่าวกลางที่ประชุม "ผมคงไม่ร่วมสังฆกรรมกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหก ปลิ้นปล้อน แล้วก็ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก” ส.ส.ชาติไทยพัฒนาก็วอล์กเอาต์ด้วย ทั้งนี้ แนวทางที่ภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาต้องการคือ แนวทางที่ประชาธิปัตย์เสนอ > ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกรอบว่าลงมติวาระ 3 ได้หรือไม่ (แต่ประชาธิปัตย์ไม่วอล์กเอาต์ด้วย)
  • จากนั้นสภาเดินหน้าโหวตวาระ 3 ผลลัพธ์คือ ไม่ผ่าน

Ø เห็นชอบมี 208 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.206  ส.ว.2  

Ø ไม่เห็นชอบ 4 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 0   ส.ว. 4

Ø งดออกเสียง 94 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.10  ส.ว.84

Ø ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 แบ่งเป็น ส.ส. 9 ส.ว. 127

ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เสียงโหวตเห็นชอบต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา นั่นคือ 369 เสียง

(เสียงสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมี 750 เสียง แต่กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นส.ส.ถูกตัดสิทธิไป 12 คนจึงเหลือ 738 คน) 

แก้รัฐธรรมนูญ

2.จะเดินอย่างไรต่อ  

  • ภูมิใจไทยระบุว่า ที่วอล์กเอาต์ไม่ยอมโหวตตามเกมไพบูลย์ (ลุยต่อวาระ 3) เพราะต้องการรักษาร่างนี้ไว้ก่อน ขอส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกที อย่างน้อยยังมีเวลา ‘หาทางออกอื่น’ เพราะโหวตวาระ 3 ไปยังไงก็แพ้ จะดึงดันทำไม
  • เพื่อไทยโต้แย้งว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นการยื้อเวลา ในที่สุดก็ต้องวนมาโหวตวาระ 3 ซึ่งก็จะแพ้อยู่ดีเพราะรัฐธรรมนูญล็อคว่า ส.ว.ต้องโหวตเห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 3  และเพื่อไทยยังคาดหมายว่าศาลจะไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะนี่ไม่ใช่การถามเรื่องการขัดกันของอำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับบริหารตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือหากศาลรับก็ไม่รู้จะมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อไร อย่างน้อยการแพ้ตอนนี้ จะทำให้ 1.สังคมได้เห็นชัดเจนว่าใครถ่วงรั้งการแก้รัฐธรรมนูญ 2. จะได้นำเสนอร่างแก้ไขใหม่ได้ทันการประชุมสภาสมัยหน้าในเดือนพฤษภาคม 2564
  • ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ องค์กรที่ติดตามเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดให้ความเห็นว่า

1.     เป็นไปไม่ได้ที่ผู้มีอำนาจจะยอมแก้รัฐธรรมนูญให้ลดอำนาจตนเอง หากเขาไม่ได้กำลังพ่ายแพ้ทางการเมือง แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะถูกยื้อด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 2 รอบ และในชั้นกรรมาธิการก็มีการปรับแก้เนื้อหาจนฝ่ายรัฐบาลพอใจแล้วก็ตาม ผู้มีอำนาจยังคงไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงของการตั้ง ส.ส.ร.ที่ควบคุมไม่ได้ 100%

2.     จึงเป็นสิ่งที่คาดหมายได้อยู่แล้วว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะต้องตกไป เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าจะไม่ผ่านโดยกระบวนการใด ซึ่งดีกรีความย่ำแย่แบ่งได้ดังนี้  

(1)   อันดับหนึ่ง – ตกโดยศาลรัฐธรรมนูญ

หากศาลมีคำวินิจฉัยให้ตกกลางทางจะเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด เพราะจะสร้างบรรทัดฐานตลอดไปว่าสภาไม่สามารถริเริ่มการแก้ไขเพื่อให้มีการยกร่างใหม่ได้

(2)   อันดับสอง - ตกโดยการทำประชามติ

รัฐบาลมีแทคติกมากมายที่จะทำให้การลงประชามติได้รับชัยชนะอีกครั้งโดยเฉพาะการปิดกั้นการรณรงค์คัดค้าน นอกจากนี้ฝ่ายประชาชนก็ต้องทะเลาะกันอีกถึงยุทธศาสตร์การโหวต การโหวตโนอาจมีความหมายหลายแบบ เมื่อเสียงแตก รัฐจะฉวยอธิบายการโหวตโน-โนโหวต ว่าเป็นเพราะประชาชน “ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

(3)   อันดับสาม - ตกโดยการโหวตของ ส.ว.แต่งตั้ง และส.ส.ฝ่ายผู้มีอำนาจ

กลไกนี้เป็นกลไกพิทักษ์ คสช.2 ที่ประชาชนรับรู้และคาดหมายได้อยู่แล้ว และจะยิ่งแสดงให้เห็นปัญหาของกลไกเหล่านี้ และทำให้สามารถดันเรื่องนี้ได้อีกครั้งในสมัยประชุมหน้า

  • ยิ่งชีพ วิเคราะห์แนวทางการโหวตคว่ำในวาระ 3 ด้วยว่า

1. ส.ว.ใช้เทคติก ‘งดออกเสียง’ เป็นหลัก อ้างว่าติดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้งที่ศาลไม่ได้ห้ามโหวตวาระ 3 อาจเพื่อลดแรงวิจารณ์แต่นั่นก็ให้ผลเท่ากับ “ไม่เห็นชอบ” เพราะเสียงเห็นชอบส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84

2. ส.ส.พลังประชารัฐใช้เทคติก ไม่เข้า/ไม่ขานว่าโหวตอะไร

3. ส.ส.ภูมิใจไทยใช้แทคติกวอล์กเอาต์ จริงๆ หากมีความจริงใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ควรทำคือ การถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพลังประชารัฐและส.ว.อีกต่อไป เพื่อยืนยันจุดยืนดังกล่าวและกดดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริง

  • ยิ่งชีพ กล่าวอีกว่า หนทางข้างหน้าที่เหลือแบ่งได้เป็น หนทางทางกฎหมายและทางการเมือง

1.ทางกฎหมาย เกิดได้ทุกเมื่อทุกเวลา ผ่านกระบวนการแบบเดิมและอาจถูกขัดขวางแบบเดิม

1.1 ประชาชน-ส.ส.สามารถเสนอร่างแก้ไขเข้าไปใหม่ในการประชุมสภาสมัยหน้า

1.2 ให้ประธานสภาหยิบร่างแก้ไขที่อยู่ในสภาอยู่แล้วกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ก็ได้

2. ทางการเมือง

สร้างแรงกดดันหรือทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้ทางการเมืองก่อน อาจเป็นการประท้วง การเลือกตั้งใหม่ครั้งหน้า ฯลฯ “ประเด็นคือ ต้องทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ในอำนาจแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป เขาถึงจะยอมแก้ไข”

  • ถามว่า หากการเคลื่อนไหวของม็อบกลับมาใหม่และมีแรงกดดันเพียงพอ กระบวนการพิจารณา 3 วาระของสภาจะทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ (รัฐบาลมีอายุถึงมีนาคม 2564) ยิ่งชีพตอบว่า ทัน ดูจากรอบนี้เราใช้เวลาทั้งสิ้น 7 เดือน 
แก้รัฐธรรมนูญ

3.ใครๆ ก็สัญญาจะแก้รัฐธรรมนูญ คสช.

  • 25 ก.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ (สมัย 2) แถลงนโยบายต่อสภา โดยนโยบายเร่งด่วนมี 12 เรื่อง เรื่องที่ 12 คือ "การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ยังไม่นับรวมว่านี่คือนโยบายหาเสียงของประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พรรคฝ่ายค้าน
  • รัฐธรรมนูญนี้มีที่มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน อ้างว่ามีเวทีรับฟังความเห็นประชาชนกว่า 40 เวที แต่ระหว่างการยกร่างเป็นแบบ “ปิดประตูร่าง” โดยแท้จริงแม้แต่สื่อมวลชนก็แทบไม่รู้ความคืบหน้า
  • กรรมการยกร่างชุดนี้เป็นชุดที่สอง หลังจากผลงานของชุดแรกนำโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ถูกใจ คสช.และถูกคว่ำโดยสภานิติบัญญัติที่ คสช.แต่งตั้ง จนบวรศักดิ์ออกมาให้สัมภาษณ์กลายเป็นวาทะอมตะ “เขาอยากอยู่ยาว”
  • ระหว่างทางมีการต่อรองระหว่าง คสช. กับ กรธ. แต่ กรธ.ไม่กล้าพอจะเขียนให้อำนาจ ส.ว.ไว้ในรัฐธรรมนูญ มันจึงถูกนำมาเป็น ‘คำถามพ่วง’ อันเข้าใจยากเย็นในการประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

  • ประชามติ ดูเหมือนจะกลายเป็น ‘ทางออกสำเร็จรูป’ ของเมืองไทย แต่เท่าที่เคยทำประชามติรัฐธรรมนูญไทยมา 2 ฉบับ ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามเกมของผู้กุมอำนาจในขณะนั้นและมีคำถามเรื่อง ‘free and fair’ อย่างยิ่ง
  • ถ้ายังจำกันได้ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ตอนทำประชามติ แม้แต่ผู้ยกร่างเองก็ยังยอมรับว่ามีข้อบกพร่องเยอะ แต่ “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” เพื่อให้การเมืองเดินหน้าได้ ไม่นับการข่มขู่ประชาชนว่า หากไม่รับฉบับนี้อาจเจอฉบับที่แย่กว่านี้ ต่อมาประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีการปิดกั้นการรณรงค์โหวต “ไม่รับ” อย่างชัดเจน การให้ข้อมูลตรงข้ามกับรัฐเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่ง มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายประชามติอย่างน้อย 64 ราย และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอื่น 131 ราย  
แก้รัฐธรรมนูญ

4.ประชาชนไม่ต่อต้านรัฐประหาร-ศาลช่วยประทับตรา

  • หากประชาชนจะถอดบทเรียน อาจต้องย้อนไปอย่างน้อยตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ที่มีฉีกรัฐธรรมนูญที่กล่าวได้ว่ามีความชอบธรรมมากที่สุดฉบับหนึ่งของไทย นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในบรรยากาศที่ประชาธิปไตยค่อนข้างเบ่งบาน เมื่อเกิดการรัฐประหารโดย คมช. การต่อต้านมีไม่เพียงพอ ประชาชนยังคงถกเถียงกันหนักเรื่อง ‘ระบอบทักษิณ’ คนจำนวนมากยังเห็นว่าการรัฐประหารคือหนทางในการสร้างสมดุลตรวจสอบรัฐบาลที่เข้มแข็ง  
  • อีก 8 ปีต่อมา มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งโดย คสช. ยึดอำนาจอยู่นาน 5 ปี การต่อต้านมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ระหว่างนั้นมีการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังหนักยิ่งกว่าเดิม และสร้างความชอบธรรมในภายหลังผ่านพิธีกรรมประชามติ
  • ในยุค คสช. การต่อต้านของประชาชนมีทั้งบนถนนและในกระบวนการยุติธรรม มีผู้ยื่นฟ้อง คสช.ฐานเป็นกบฏ ตามมาตรา 113 แต่ศาลพิพากษาว่า ไม่ใช่ โดยเดินตามบรรทัดฐานที่มีมาแต่เดิมว่า หากการปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารย่อมมีสถานะเป็นรัฐฏาธิปัตย์

 ความตอนหนึ่งของคำตัดสินศาลฎีการะบุว่า

“สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้น จะต้องประกอบไปด้วยดินแดนอาณาเขตแน่นอนและมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้น โดยมีรัฐบาลปกครองและมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ แม้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิบห้าที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่ชอบในลักษณะที่เป็นกฏหมายก็ดี แต่การตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ตามที่กล่าวไปแล้ว และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน ……..เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรีและวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยดังที่โจทก์ทั้งสิบห้ากล่าวอ้าง และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย”

นอกจากนี้ศาลยังอ้างอิงมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นด้วย ระบุว่า

“……มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 นั้น ประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”