“การใช้อำนาจไม่เป็นธรรมอย่างนี้สุดท้ายมันจะเป็นเหมือนการจุดไม้ขีดไฟ คือ เชื้อเพลิงที่มันทิ้งไว้ด้วยความไม่เป็นธรรม เชื้อเพลิงของการไม่พอใจวางอยู่เยอะในสังคมไทย มันรอไม้ขีดบางก้าน แล้วการตัดสินการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ แต่มันเกี่ยวตรงที่ว่ามันเป็นการจุดไฟที่ทำให้คนรู้สึกว่าการไม่เป็นธรรมมันเห็นชัดขึ้น”
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนถึงปรากฏการณ์แฟลชม็อบที่กำลังลุกขึ้นทั่วประเทศตามสถาบันการศึกษาหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563
ในฐานะอดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์หลังยุค 14 ต.ค. 2516 ที่ขบวนนิสิต นักศึกษา และประชาชนโค่นล้มรัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจ และยังผ่านเหตุการณ์เคยตกเป็นผู้ต้องหาในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 บอกว่า เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 กระแสขบวนนักศึกษาก่อตัวมาจากกรณีเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งสามารถที่จะพอเทียบเคียงกับเหตุการณ์อารมณ์และความรู้สึกของผู้คนภายหลังเกิดการยุบพรรคอนาคตใหม่
“ผมไม่กล้าเปรียบเทียบว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่เปรียบได้กับกรณีทุ่งใหญ่หรือไม่ แต่อย่างน้อยในความรู้สึกที่ผมอย่างเปรียบก็คือทั้ง 2 กรณีมันเป็นจุดเริ่มที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าระบบการเมืองที่เป็นนั้นไม่เป็นธรรมแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น”
ปรากฏการณ์สองยุคที่ห่างกันถึง 47 ปี คือ ยุคแรก 14 ต.ค. 2516 กับยุคปัจจุบัน ปี 2563 จะสามารถเกิดเป็นการชุมนุมของพลังนักศึกษาเพื่อเคลื่อนไหวให้ประสบชัยในทางการเมืองเหมือนเช่นอดีตหรือไม่
ศ.ดร.สุรชาติ วิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ก่อตัวของนักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชนเป็นพลังแฟลชม็อบ ในปัจจุบันผ่าน ‘วอยซ์ออนไลน์’
หลังเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 หลายฝ่ายเชื่อว่าการต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบการชุมนุมการประท้วง คงไม่ขยับมากเกินกว่าที่เราเห็น แต่ผมคิดว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยตัดสินใจเปิดเวทีและจัดแฟลชม็อบแม้รูปแบบจะต่างจากเดิม เป็นลักษณะแกนนอนไม่ได้เป็นแกนนำ และตอบไม่ได้ว่าใครเป็นแกนนำที่แท้จริง สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือการเปิดเวทีของนิสิตนักศึกษาครั้งนี้ไม่อยู่ในจินตนาการของรัฐบาลรวมทั้งฝ่ายผู้นำทหาร
ผมว่าวันนี้ ปีกอนุรักษนิยมฝ่ายรัฐและฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารคงต้องเลิกคิดที่จะถามคำถามแบบเก่าว่าใครอยู่เบื้องหลัง การจัดชุมนุมแฟลชม็อบต่างจากขบวนนักศึกษาในอดีตมาก เพราะขบวนนักศึกษาในอดีตมีลักษณะของการจัดตั้งที่ค่อนข้างชัดเจน การที่มีคำถามว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง ผมว่าเป็นจินตนาการเก่าที่พยายามจะใส่ร้ายป้ายสี
กว่าจะถึง 14 ตุลาคม 2516 มันมีกระแสการเคลื่อนไหวเข้ามาก่อนหลายระลอก เช่น กระแสการต่อต้านรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่พยายามจะเข้าไปควบคุมระบบศาลหรือกฎหมายโบว์ดำในยุคนั้น การที่รัฐบาลจอมพลถนอมไม่ประสบความสำเร็จในทางการเมือง คือการทำรัฐประหารตัวเองในเดือน พ.ย. 2514 เริ่มเห็นชัดว่ารัฐบาลตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบเทียบความคล้ายคลึงระหว่างรัฐบาลจอมพลถนอมที่ยึดอำนาจตัวเองและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกับรัฐบาลปัจจุบัน ผมคิดว่ามีส่วนคล้ายแล้วศูนย์กลางของการวิจารณ์ตกอยู่กับผู้นำทหาร อยากจะเปรียบเทียบแบบล้อเล่นมากกว่า
ยุคนั้นข้อวิจารณ์อยู่กับผู้นำทหาร 3 คน คือ 2 จอมพล 1 พลเอก คือ จอมพลถนอม จอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผมเรียกเสมอว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาล 3 ทหารหรือ 3 ป. ก็จะมีเป้าวิจารณ์ไม่ต่างกัน เป็นแต่เพียงมีตัวละครเข้ามาเพิ่ม ในยุคจอมพลถนอมเราจะเริ่มเห็นวิกฤติที่มากับปัญหาพลังงานครั้งแรกของโลกในปี 2516 วิกฤติที่มาจากปัญหาสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำ รวมถึงวิกฤติที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจภายในสังคมไทย ปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกัน
ผมเชื่อว่าวิกฤติปัจจุบันทั้ง ฝุ่น PM2.5 วิกฤติที่มาจากเชื้อโรคที่มาจากจีน วิกฤติภัยแล้งที่เกิดในบ้าน วิกฤติที่เป็นสืบเนื่องระยะยาวตั้งแต่ประเทศไทยเกิดรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 ผมคิดว่า 4 วิกฤติใหญ่ๆ สะสมมาพอสมควร
แล้วยังมีวิกฤติในเวทีโลกคือปัญหาสงครามการค้า ซึ่งเปรียบเทียบกับยุคจอมพลถนอม ที่เจอวิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองรอบนี้น่าจะใหญ่กว่า เพียงแต่ผมไม่รู้ว่าถ้าเปรียบเทียบเหตุการณ์พรรคอนาคตใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นคล้ายคลึงกับเครื่องบินของกองทัพบกที่ไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรตก มันจะใช่ประเด็นหรือไม่
ผมคิดว่าวันนี้การจัดตั้งมันทำผ่านไลน์ ผ่านยูทูบ และทำผ่านทวิตเตอร์เหมือนอย่างที่พูดกันในอาหรับสปริงว่าการจัดตั้งทำผ่านเครื่องมือ 3 อย่างก็คือ ยูทูบ ทวิตเตอร์ การสื่อสารใหม่ๆ และใช้ยูทูปกับทวิตเตอร์เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหว เมื่อเป็นอย่างนี้ผมกำลังนั่งมองแฟลชม็อบในไทย ผมเชื่อว่าแฟลชม็อบในไทยเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับอาหรับสปริงมากๆ เป็นแต่เพียงวันนี้เรายังไม่เห็นชนชั้นกลางออกมา แต่อย่างน้อยเราเห็นเครื่องมือไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ เข้ามามีบทบาทมาก แล้วก็กลายเป็นการนำเสนอสาระ เป็นการนำเสนอประเด็นการเมือง
การจัดแฟลชม็อบข้อดีคือไม่ต้องกังวลเรื่องการค้างคืน เพราะว่าในสมัยก่อนเรามักจะชอบคิดว่า ถ้าจัดม็อบจะมีพลังก็ต่อเมื่อม็อบอยู่ค้างคืน แต่ผมว่าปัจจุบันคำว่าม็อบค้างคืนจะเป็นปัญหา เพราะว่ามันมีภาระเรื่องของการดูแลพี่น้องประชาชน มีภาระกรณีที่จัดในมหาวิทยาลัยเองก็มีภาระระหว่างมหาวิทยาลัยว่าจะอนุญาตให้นักศึกษาสามารถจัดอย่างนั้นได้หรือไม่ แต่ผมคิดว่าแฟลชม็อบมันเป็นการส่งสัญญาณที่ง่าย ชัดและเร็ว
“ถ้าพลังสองส่วนคือพลังคนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษา กับพลังของชนชั้นกลางที่เป็นฐานหลักของสังคมไทยส่วนหนึ่ง เข้ามาร่วมกันเมื่อไหร่ ผมว่าเมื่อนั้นจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจน อย่างตอน 14 ตุลาก็เป็นพลังของชนชั้นกลาง แต่พอถึงในปี 2519 ก็ตอบชัดพลังชนชั้นกลางเปลี่ยนไปเป็นพลังแบบขวาก็กลายเป็นว่าพลังชนชั้นกลางเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจล้มขบวนนักศึกษา”
ต้องคิดใน 2 ระดับ ผมคิดว่าในเบื้องต้นเราเห็นแฟลชม็อบในหลายมหาวิทยาลัยความน่าสนใจ แฟลชม็อบลามลงไประดับโรงเรียนนี้คืออาการของฮ่องกง ขบวนนักศึกษาในฮ่องกงไม่ได้เคลื่อนในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เคลื่อนในระดับมัธยมฯ เราเห็นผู้นำอย่างโจชัว หว่อง เคลื่อนตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมฯ
วันนี้ต้องถือเป็นปรากฏการณ์ใหญ่สังคมไทยที่ไม่เคยเห็นมาก่อนหลัง 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 ที่ไม่เคยเคลื่อนไหวลงมาถึงระดับโรงเรียนมัธยมฯ ในขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าถ้าแฟลชม็อบลามไปทั่วประเทศ สุดท้ายจะลงถนนหรือไม่ลงถนน แต่มันก็ตอบชัดว่าสัญญาณทั่วประเทศเอาหรือไม่เอารัฐบาล
ผมไม่กล้าตอบทั้งหมด เพราะว่าหลายอย่างที่เราพูดถึงสังคมไทย พูดได้แค่ในระยะสั้นๆ การตอบมันแทบจะเป็นเหมือนหมอดู สมมติถ้าเราย้อนกลับไปดูว่าที่จริงเวลาล้มรัฐบาลมันมาจากพลังสองส่วน คือ พลังของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษา อีกส่วนผมว่าปฏิเสธไม่ได้คือพลังของชนชั้นกลางแล้ว พลังสองส่วนนี้ต้องพึ่งซึ่งกันและกัน
สิ่งที่ผมดูในฐานะของอดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงปี 2516 - 2519 และในฐานะของอดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ผมยังสนใจว่าตกลงชนชั้นกลางไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนนักศึกษาในอนาคตหรือไม่ เมื่อขบวนนักศึกษาเปิดการเคลื่อนไหวในลักษณะที่มากขึ้น แปลว่าเราอาจจะพูดเกินแฟลชม็อบแล้ว หมายถึงการเคลื่อนไหวที่อาจจะก่อตัวมากขึ้นกว่านี้ในอนาคต
ถ้าพลังสองส่วนคือพลังคนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษา กับพลังของชนชั้นกลางที่เป็นฐานหลักของสังคมไทยส่วนหนึ่ง เข้ามาร่วมกันเมื่อไหร่ ผมว่าเมื่อนั้นจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจน อย่างตอน 14 ตุลาก็เป็นพลังของชนชั้นกลาง แต่พอถึงในปี 2519 ก็ตอบชัดพลังชนชั้นกลางเปลี่ยนไปเป็นพลังแบบขวาก็กลายเป็นว่าพลังชนชั้นกลางเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจล้มขบวนนักศึกษา
ผมคิดว่าแทบจะทั่วโลก ถ้าเราเห็นลักษณะของการเปลี่ยนในความหมายแบบเปลี่ยนด้วยการล้ม เพราะเนื่องจากเราพูดบนเงื่อนไขที่ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านการเลือกตั้ง แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านการเลือกตั้งมันก็มีบริบทของชนชั้นกลางอยู่เป็นแต่เพียงการเมืองโลกในปัจจุบันมันมีบริบทของชนชั้นล่าง อีกส่วนหนึ่ง คือกระแสขวาในยุโรป กระแสขวาในตะวันตกอาศัยชนชั้นล่าง
ส่วนในไทยผมคิดว่ากระแสคนชั้นกลางยังเป็นกระแสที่อาจจะต้องให้ความสนใจแล้วดูทิศทาง เช่น วันนี้คำถามใหญ่ชนชั้นกลางไทยยินดีที่จะอยู่กับรัฐบาลที่ไม่ประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจหรือไม่ หรือว่าวันนี้เราอาจจะต้องแยกชนชั้นกลางเป็นสองปีกเหมือนกันคือปีกที่เป็นปีกอนุรักษ์แล้วยอมที่จะอยู่กับฝ่ายทหาร ฝ่ายอำนาจนิยม กับชนชั้นกลางที่มีพัฒนาการมากขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้นแล้วตัดสินใจอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย
กรณีสลิ่ม ผมว่าสลิ่มคือตัวแทนชนชั้นกลางปีกขวา เวลาเราพูดชนชั้นกลางต้องตระหนักว่า ชนชั้นกลางเองก็สองปีก ในหลายปีชนชั้นกลางมีส่วนหนึ่งก้าวหน้ามากขึ้นเห็นปัญหามากขึ้น แต่แน่นอนชนชั้นกลางปีกอนุรักษ์วันนี้ความชัดเจนคือปีกนี้แหละ คือ สลิ่มและพร้อมที่จะเป็นกองเชียร์ทหาร พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนแม้กระทั่งการปราบปราม
พูดง่ายๆ ชนชั้นกลางปีกขวาเป็นฐานล่างที่กลุ่มอนุรักษนิยมใหญ่พยายามจะช่วงชิงหรือกลุ่มทหารพยายามจะช่วงชิงเพื่อดึงไว้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ชนชั้นกลางเทเป็นปีกที่ก้าวหน้าทั้งหมด ผมว่าคนที่ลำบากที่สุดคือปีกทหาร แต่ปีกทหารในปัจจุบันที่อยู่ได้ไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงบางส่วน ฐานล่างในทางสังคมทำให้ทหารมีพลังกลายเป็นการสนับสนุนของชนชั้นกลางปีกขวา หรืออาจจะเรียกว่าเป็นชนชั้นกลางสายอนุรักษนิยม ผมคิดว่าปีกนี้แหละที่เป็นปัญหา
ผมไม่เชื่อว่าปัจจุบันเป็นรัฐบาลเลือกตั้งนะครับ ผมคิดว่าเป็นรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง หรือถ้าจะเรียกอีกแบบหนึ่ง คือรัฐบาลทหารนอกเครื่องแบบ อาศัยกระบวนการการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนรูปแบบตัวเท่านั้น แต่โดยสาระไม่ได้เปลี่ยน แต่สิ่งที่เราเห็นชัด ปีกนี้ยังได้เสียงสนับสนุนโดยเฉพาะฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐ และนั่นทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนนไป ถ้าพูดแบบวิเคราะห์การเมืองปีกชนชั้นกลางที่เป็นขวาจัดมองว่าประชาธิปัตย์ขวาไม่พอ จึงตัดสินใจเลือกพลังประชารัฐที่พวกเขาเชื่อว่าขวากว่าแล้วพร้อมที่จะยืนในกระแสอุดมการณ์ชุดเดียวกัน
"พูดง่ายๆ สลิ่ม คือภาพของตัวแทนขวาที่ล้าหลังเพียงแต่พยายามสวมเสื้อคลุมความเป็นขวาที่น้อยลงเท่านั้นเอง"
ชนชั้นกลางก็แตกแยกในสงครามปฏิวัติย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคสงครามปฏิวัติในจีนก็มีชนชั้นกลางปีกที่ก้าวหน้ากับปีกที่ล้าหลัง เผอิญในสังคมไทยชนชั้นกลางที่ล้าหลังยังมีอยู่พอสมควรแล้วชนชั้นกลางที่ล้าหลังส่วนนี้ แสดงท่าทีชัดก็คือการสนับสนุนระบอบอำนาจนิยม แล้วพร้อมที่จะยืนยันเพื่อให้ระบอบอำนาจนิยมสืบทอดอำนาจต่อ พูดง่ายๆ ประเทศไทยจะเผด็จการยังไงประเทศไทยจะระบอบเศรษฐกิจพังด้วยเผด็จการยังไงก็ยังจะเชียร์ระบอบอำนาจนิยมไม่เลือก
ขณะที่หลายประเทศที่เราเริ่มเห็นวันนี้เศรษฐกิจที่พังมันทำให้คนชั้นกลางแตกออกมาเป็นปีกที่ก้าวหน้ามากขึ้น หรือยอมรับว่าระบอบเก่ามันพาประเทศไปไม่ได้ แต่ในกรณีของไทยผมคิดว่าเรายังซอยเท้าอยู่ที่จุดเดิมจนกว่าชนชั้นกลางพวกนี้จะเริ่มเห็นอนาคตของประเทศในอีกแบบหนึ่งไม่ใช่อนาคตที่แขวนไว้กับระบอบอำนาจนิยม โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ของประเทศ
ถ้าเปรียบเทียบในกรณีของฟิลิปปินส์ตอนล้มเฟอร์ดินาน มาร์กอส ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งเทลงบนถนนเข้าร่วมกับกระบวนนักศึกษานั้นคือตัวอย่างที่ชัด แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2549 และหลังรัฐประหาร 2557 ด้วยการปลุกกระแสขวาจัดทั้งหลาย มันทำให้ชนชั้นกลางหลายส่วนเปลี่ยนท่าทีหลังจากที่ชนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนประชาธิปไตย จากชนชั้นกลางที่เราเชื่อว่าในทางทฤษฎีเป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างเสรีภาพในสังคมพวกเขากลายเป็นชนชั้นกลางในกระแสอนุรักษ์ หรือถ้าไม่แสดงบทบาทออกเป็นชนชั้นกลางที่ขวาจัดมากก็จะกลายเป็นสลิ่ม คือพยายามแสดงอะไรที่เป็นขวาน้อยลง แต่โดยสาระแล้วเป็นขวาที่ล้าหลัง พูดง่ายๆ สลิ่ม คือภาพของตัวแทนขวาที่ล้าหลังเพียงแต่ พยายามสวมเสื้อคลุมความเป็นขวาที่น้อยลงเท่านั้นเอง
มันตอบไม่ได้ว่าในการเมืองมันจะพลิกเมื่อไหร่ แล้วพลังที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยมันถึงจุดไหนที่มันพลิกสังคมในระบอบอำนาจนิยมที่สืบทอดอำนาจนิยมมันล้มลง เพราะว่าฝั่งรัฐเองก็อาจจะจะมีวิธีที่จะเล่นเกม เช่น วิธีเล่นเกมง่ายๆ คือเปิดเวทีให้นักศึกษาเจรจากับรัฐบาล ถามว่าถ้าข้อเรียกร้องที่เปิดเวทีให้นักศึกษาเจรจากับรัฐบาล ผมคิดมันว่าแทบจะเป็นข้อเรียกร้องเหมือนกันอำพรางตัวเพื่อให้ระบอบเก่ามันอยู่ได้เท่านั้นเอง
เหมือนย้อนกลับไปวันนี้ใครจะเชื่อว่ายุบพรรคอนาคตใหม่จะตามมาด้วยแฟลชม็อบ ผมคิดว่าในปีกขวาจัดทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลหรือนอกรัฐบาลเชื่อว่ายุบแล้วนักศึกษาคงจะไม่มีปฏิกิริยาอะไร หรือผู้เห็นต่างกระแสประชาธิปไตยบางส่วนอย่างมากก็คงวิจารณ์อยู่ในเฟซบุ๊ก อยู่ในโลกโซเชียล
ผมคิดว่านี่เป็นกลเม็ดทางการเมือง ส.ว.ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าตัวแทนของรัฐบาลทหารเก่า การเสนออย่างนี้เป็นข้อเสนอเพื่อทำให้รัฐบาลอยู่ได้นานขึ้น เพราะวันนี้ผมเชื่อสิ่งที่รัฐบาล ส.ว. และบรรดาผู้นำทหารกลัวที่สุดคือกลัวจะมี 14 ตุลาครั้งที่ 2 ในสังคมไทย
ถ้ามี 14 ตุลารอบสอง ไม่แต่เพียงรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ ไม่แต่เพียงทหารจะถูกจำกัดบทบาท แต่แน่นอนบรรดา ส.ว.ที่หากินในสภามานานอาจจะไม่มีโอกาสเป็น ส.ว.ต่อ
"ชนชั้นกลางปีกขวาเป็นฐานล่างที่กลุ่มอนุรักษนิยมใหญ่พยายามจะช่วงชิงหรือกลุ่มทหารพยายามจะช่วงชิงเพื่อดึงไว้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ชนชั้นกลางเทเป็นปีกที่ก้าวหน้าทั้งหมด ผมว่าคนที่ลำบากที่สุดคือปีกทหาร"
ต้องคิดอีกมุมหนึ่งผมคิดว่าวิธีที่สุดโต่งของปีกขวาจัดทั้งหลายตอบได้อย่างเดียวถ้าฝ่ายประชาธิปไตยเรียกร้องมากอาจจะใช้วิธีปราบเหมือนปี 2519 ถ้ากระแสการเคลื่อนไหวใหญ่และมีพลังมากเราอาจจะเปลี่ยนสังคมได้ เราอาจจะล้มเผด็จการได้นั่นคือ 14 ต.ค. 2516
แต่ถ้าปีกขวากลัวแล้วพาชนชั้นกลางให้กลัวตามไปด้วย คำตอบมีอย่างเดียวคือปราบและปราบใหญ่เหมือนปี 2519 ผมคิดว่าข้อนี้ก็เตือนใจบรรดานักเคลื่อนใจ เตือนใจปีกประชาธิปไตยเหมือนกันว่าอาจจะต้องคิดถึงประเด็นพวกนี้ คือมองปัญหาด้านเดียวไม่ได้
การยุบพรรคครั้งนี้มีประเด็นในคิดต่อได้หลายอย่าง ผมเชื่อว่าชุดวิธีคิดของปีกขวาจัดทั้งหลายที่เชื่อว่าวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำลายพรรคฝ่ายประชาธิปไตยคือการยุบพรรค แต่ผมคิดว่าอย่างที่เราคุยกันตอนต้นว่า ปีกนี้คงลืมไปอย่างนึงว่าการยุบคือการจุดไฟ ผมเชื่อว่าไม่มีใครคิดเพราะฉะนั้นพรรคนี้ที่ถูกยุบในด้านหนึ่งมันทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ชัดเจนว่าบรรดาผู้นำปีกขวาบรรดาชนชั้นนำที่มีอำนาจมีวิธีคิดอย่างเดียวคือการยุบพรรค
หรือพูดง่ายๆ คือวันนี้ถ้าเปรียบเทียบรัฐบาลทหารหลังการยุบอำนาจมีอำนาจพิเศษคือมาตรา 44 วันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจพิเศษ คือ องค์กรอิสระแปลว่าวันนี้องค์กรอิสระคล้ายมาตรา 44 เปลี่ยนรูป ที่สามารถใช้องค์อิสระจัดการฝ่ายประชาธิปไตย จัดการกับฝ่ายค้านในทุกรูปแบบและการจัดการที่ใหญ่ที่สุดคือการยุบพรรค การยุบพรรคครั้งนี้ได้ก่อกระแสการตื่นตัวให้คนรุ่นใหม่อย่างมาก รวมถึงกระแสความรู้สึกที่พี่น้องประชาชนหลายส่วนที่รู้สึกว่าการตัดสินที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรม
ถ้าพรรคถูกยุบแล้วเขาแปลงตัวเป็นกระบวนการทางการเมือง แน่นอนมันพาประเด็นหลายอย่างอยู่นอกสภา ถ้าปีกขวาจัดตระหนักแล้วปล่อยพรรคอนาคตใหม่อยู่ในสภาทุกคนก็รู้ว่าวันนี้สภาคุมโดยปีกขวาทั้งหลาย หรือพูดง่ายๆ สภาถูกคุมโดยกลุ่มทหารที่มีอำนาจมาตั้งแต่การยึดอำนาจปี 2557
แต่เมื่อดันการเมืองส่วนหนึ่งออกไปนอกสภา พวกเขาก็คงต้องตระหนักว่าการเมืองอยู่นอกสภา ประเด็นการเคลื่อนไหวหนึ่ง มิติการเคลื่อนไหวอีกหนึ่ง อย่างไรก็คงอยู่นอกสภา อันนี้โทษใครไม่ได้นอกจากเป็นความไม่เข้าใจการเมืองของปีกขวาจัดเท่านั้นเองที่เชื่อว่ามีอำนาจแล้วยุบพรรคแล้วเดี๋ยวฝ่ายที่ยุบพรรคก็คงไม่ทำอะไร
ถ้าวันนี้ผู้นำปีกขวาจัดไทยจะมีจินตนาการและความเข้าใจหลงเหลือมากพอให้คิดได้บ้าง ต้องตระหนักว่าความขัดแย้งทางการเมืองไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ต้องไม่ทำให้ความขัดแย้งชุดนี้ไปจบลงด้วยวิธีคิดแบบทหาร คือรัฐประหาร ถ้ามองว่าความขัดแย้งข้อโต้แย้งในสังคมไทยเป็นเหมือนความตีบตันยิ่งเถียงกันจะยิ่งทำให้การเมืองตัน
แล้วพอบอกการเมืองตันก็จะมีคำขวัญมาใหม่ ถ้าการเมืองตันต้องให้ทหารมาเป็นคนล้างท่อ ทหารไม่ใช่เทศบาล แต่ว่าจริงๆ แล้วระบบรัฐสภาไม่เคยตัน ระบบรัฐสภามีปัญหามากก็ปรับ ครม. ปรับแล้วยังรู้สึกไม่พอก็ยุบสภาคืนอำนาจให้พี่น้องประชาชนเลือกตั้งตามข้อเสนอนโยบายที่พรรคได้หาเสียง เป็นกลไกที่ลดแรงกดดันทางการเมืองในเวทีสาธารณะ
ผมพูดตั้งแต่ปลายปี 2562 มวยชุดนี้ชกไม่ครบ 12 ยก ส่วนจะชกกี่ยกผมว่าติดตามดู ยกแรกคือแฟลชม็อบที่สวนรถไฟ ยกที่สองคือกรณียุบพรรค ยกที่สามคืออภิปรายไม่ไว้วางใจ มวยเพิ่งชกได้แค่สามยก แต่ว่าในอนาคตสิ่งที่น่าคิดต่อคือมวยที่ชกอย่างนี้เราอยากเห็นกรรมการบนเวทีเป็นกลางบ้าง ไม่ใช่กรรมการชกไปชกไปจะจับมือให้ฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายค้านแพ้อยู่เรื่อย ถ้ากรรมการยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลบนเวทีการต่อสู้ไม่เลิก ผมเชื่อว่าวันหนึ่งคนจะไม่ไล่แค่รัฐบาล คนอาจจะลุกขึ้นมาไล่กรรมการด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง