กระสือกลางวันมันเป็นหญิง มีทุกสิ่งธรรมด๊า ธรรมดา เสียงเพลงที่อยู่ในใจใครหลายคน และมักจะร้องเวลานึกถึง ผีกระสือ
ผีกระสือ ผีที่ทุกคนรู้จัก ว่า มีหัวกับไส้ มีดวงไฟส่องแสง ลอยในท้องฟ้า เพื่อออกหากินของเน่าเหม็น นี่คือ ภาพจำที่ทุกคนคิดว่า ผีกระสือมีรูปลักษณ์แบบนี้ จากภาพยนตร์ และ ละคร กระสือสาว
ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ สัมภาษณ์ คุณภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการโครงการนิยายภาพผีไทยของ ทวี วิษณุกร ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของผีกระสือ เล่าว่า "จริงๆแล้วถ้าพูดถึงลักษณะรูปลักษณ์ของกระสือ ที่มีหัวกับไส้ น่าจะเพิ่งมามี ในสมัยรัตนโกสินทร์ ในอดีต กระสือ ได้ถูกพูดรวมกับผีชนิดอื่นๆ คือ ผีชะมบ ผีจะกระ แล้วก็ผีกระสือ กระหัง พวกนี้จะรวมอยู่ด้วยกัน ลักษณะชัดๆของพวกนี้ คือ มีพฤติกรรมการกินที่แปลกประหลาด กินสิ่งสกปรก กินสิ่งคาว กินอะไรดิบๆ ถ้าสืบตามร่องรอยจากเอกสาร เราจะเห็นว่า มันมีชื่อเรียก มาเชื่อมโยงกัน ผีชนิดเดียวกัน อย่างทางเหนือ เรียกผีกระสือ ว่า ผีสือ อางอีสาน เรียก ผีโพง ภาคกลาง เรียก ผีกระสือ ทางใต้ เรียก ผีจะกระ ในบรรดาผีทั้งหลายที่บอกมา มันเป็นผีชั้นต่ำ มันมีแค่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องถูกบันทึกไว้ในลักษณะของพฤติกรรมการกินที่น่ารังเกียจ ไม่อยากไปคบหาสมาคม แล้วก็ทำให้เหมือนว่ามีบทลงโทษสำหรับคนที่เป็นผีชนิดนี้ด้วยครับ"
คุณภาคภูมิเล่าว่า ที่มาดั้งเดิม ผีกระสือ มีลักษณะเป็นคน รูปร่างเป็นคนแน่ๆ เพราะว่ามีบันทึกไว้ในวรรณกรรมหลายเรื่อง ที่พูดถึงผีกระสือในลักษณะเวลาออกไปหากิน เดินไป ไม่ได้เหาะไป ซึ่งได้ถูกบันทึกไว้ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยธนบุรี ที่ในวรรณกรรมจะพูดถึงลักษณะกระสือแบบนี้ อย่างในกฎหมายตราสามดวง แค่ว่ามีลักษณะเป็นยังไง แต่ไม่ได้บอกว่ามีหัวกับไส้ เท่าที่สืบค้นมา จากสมัยอยุธยาถึงสมัยธนบุรี ผีกระสือยังเดินอยู่ ยังไม่มีการถอดหัวลอยไปแน่ๆ
"มีเรื่องเล่าของคนโบราณในครอบครัวผม สมัยก่อนผีกระสือ คนจะชอบไปจับตัวเหมือนเรียกค่าไถ่ เพราะมีทองติดตัว เขามีวิธีที่จะจับผีกระสือ ด้วยการเอาสุ่มไก่ ครอบไว้ แล้วให้เอาไม้คานของแม่หม้ายพาดไว้ข้างบน ผีกระสือจะหนีไปไหนไม่ได้ เหมือนติดคุกเลย แล้วถ้าผีกระสืออยากให้ปล่อยตัว จะต้องเอาทองมาแลก อันนี้เป็นวิธีที่ชาวบ้านจะสามารถ เรียกค่าไถ่จากกระสือได้ ว่าเอาทองมาแลกเดี๋ยวจะปล่อยไป นอกจากนี้คุณปู่ยังเคยเล่าให้คุณพ่อของผมฟังว่า สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน มีเรื่องเล่าว่าสามารถจับผีกระสือได้ที่ กาญจนบุรี ซึ่งผีกระสือมีรูปลักษณ์หัวกับไส้ และมีแขน"
"ที่มาพูดเป็นลายลักษณ์อักษร ว่ามีหัวกับไส้ นี่คือสมัย พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ ท่านเป็นนักวิชาการที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ท่านทำหนังสือ เรื่อง ผีสางเทวดา ท่านใช้วิธีการแบบมานุษยวิทยา คือ เข้าไปสัมภาษณ์ หาข้อมูลจากชาวบ้านหลายๆถิ่น เป็นการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่เชื่อเรื่องผีกระสือ แต่ก็ต้องบอกว่ามันไม่ใช่ข้อมูลทั่วไปที่คนจะรู้ เพราะสมัยนั้นหนังสือจะมีการอ่านแค่กลุ่มคนเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น"
"แต่จุดเริ่มต้นที่คนทั่วไปมีภาพจำ ผีกระสือว่ามีหัวกับไส้จริงๆ มาจาก อ.ทวี วิษณุกร ที่วาดเป็นภาพการ์ตูนขึ้นมา ซึ่งได้วาดครั้งแรก ในการ์ตูนเรื่อง กระสือสาว ปี พ.ศ.2511 โดยเริ่มต้นตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือการ์ตูน หนูจ๋า"
"อ.ทวี เล่าให้ผมฟังว่า แรงบันดาลใจที่เขียนเรื่อง กระสือสาว นั่นมาจาก สมัยที่ อาจารย์เด็กๆอยู่ที่ จ.ลพบุรี ตอนกลางคืนออกมาปัสสาวะหน้ากระท่อม แล้วก็บังเอิญมองไปบนยอดต้นไผ่ เห็นเหมือนหน้าผู้หญิงอยู่บนนั้น อาจารย์ตกใจมาก และเป็นเรื่องที่กลัวมาก กับอีกเรื่อง ที่คุณพ่อของ อ.ทวี เคยเล่าให้ฟัง ว่าตอนไปเป็นทหารไปรบในเขมร มันมีเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเรื่องหนึ่ง ทหารเขมรเอามีดฟันคอภรรยาตัวเองจนตายหัวขาด เมื่อจับทหารคนนั้นมาสอบสวน ทหารให้การว่า เห็นดวงไฟเขียวๆลอยเข้าไปในตัวภรรยาของเขา เขาก็เลยเอามีดฟันลงไป อ.ทวี เลยเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน สร้างสรรค์เป็นการ์ตูนภาพ กระสือ แต่กระสือของอาจารย์ ไม่ใช่กระสือเฉยๆ เป็นกระสือสาว เนื่องจากในเอกสารของ พระยาอนุมานราชธน ท่านเขียนไว้ชัดเจนว่าผีกระสือในความเชื่อคนส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิงแก่ อันนี้คือสิ่งที่ อ.ทวี สร้างสิ่งแตกต่างออกไป"
"แนวคิดสำคัญ ในกระสือสาว ของ อ.ทวี คือ อาจารย์ต้องการสร้างโศกนาฏกรรมของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ชะตากรรมเล่นตลก ต้องมารับความเป็นกระสือจากยายของตนเอง ซึ่งในเรื่องการสืบทอดเป็นกระสือ ผ่านการมอบแหวนที่ทำจากเส้นผมของผีตายโหง ที่ยายของนางเอกได้มอบให้ เพื่อเป็นตัวสื่อวิญญาณไปสิงร่างของนางเอก โดยในการ์ตูน ยังเน้นเรื่องการทำความดี คุณธรรม จริยธรรม เพื่อสื่อไปยังเด็กๆที่ได้อ่านอีกด้วย"
"ดังนั้น กระสือที่ทุกคนจดจำ ก็คือกระสือในแบบ ที่ อ.ทวี วิษณุกร ได้วาดขึ้นมา"
เมื่อผีกระสือ กลับมาโลดแล่น บนจอเงิน พร้อมกันถึง 2 เรื่อง โดยไม่ได้นัดหมาย ซึ่งต่างตีความการกลับมาของผีกระสือแตกต่างกันไป แต่ยังคงรูปแบบ หัวกับไส้ และอาหารที่พวกมันมักจะกินของเน่าเสีย
แสงกระสือ ภาพยนตร์ระทึกขวัญแต่แฝงความโรแมนติก ผลงานการกำกับโดย สิทธิศิริ มงคลศิริ กระสือในภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงมีหัวกับไส้ แต่ไส้ได้ถูกออกแบบแตกต่างไปจากภาพจำที่ผ่านมา
สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับ ภ.แสงกระสือ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบผีกระสือ ว่า
"แต่ก่อนผีกระสือจะเป็นกระสือที่มีหัวกับเครื่องใน ผมยังรักษาหัวใจไว้ หัวใจที่มันส่องแสง เพราะ แสงกระสือ เป็นหนังรัก อวัยวะที่สำคัญที่สุดคือ หัวใจ และนอกนั้น จะเป็นเส้นเลือดเส้นประสาท นั่นคือ ความคิดและแรงบันดาลใจครับ
"คาแรคเตอร์ทุกอย่างผมยังเก็บไว้ กระสือยังถอดหัวอยู่เหมือนเดิม กระสือยังกินวัวกินควายอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่ากระสือจะไม่กินขี้แหละ(หัวเราะ) ก็จะกินของเสีย กินวัวกินควายกินไก่ มันทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
"เขาถอดหัวไหม ถอด น้ำลายเหมือนเดิมไหมเหมือนเดิม เพียงแต่เราแค่เปลี่ยนมันนิดหนึ่ง เราบิดมันหน่อย เป็นน้ำลายแทนที่มันจะคายลงขันใช่ไหมครับ ในเมื่อพอเป็นหนังวัยรุ่น ผมก็ให้มันจูบกัน การจูบกันมันก็เป็นการที่น้ำลายมันแลกกัน
“แม้ร่างกายเธอจะเปลี่ยนไป แต่หัวใจยังเป็นเหมือนเดิม”
แสงกระสือ จะเป็นการตีความใหม่ เราไม่มองกระสือเป็นสิ่งที่เรากลัว หนังเรื่องนี้คนจะสงสารกระสือ
"ผมตั้งคำถามว่า ถ้าคนเรารูปร่างหน้าตามันเปลี่ยนไป วันหนึ่งเราจะไม่สวยเหมือนเดิม เราจะต้องเป็นสัตว์ประหลาด เราจะต้องเป็นคนที่แปลกแยกจากคนอื่น คำถามคือ แต่หัวใจเรายังเป็นมนุษย์ คนอื่นมองเราว่า เราเป็นสัตว์ประหลาด แต่จริงๆแล้วข้างในหัวใจเราก็เป็นมนุษย์ ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป ในขณะที่มนุษย์เอง ข้างนอกเป็นมนุษย์ แต่ข้างในมีหัวใจที่ไม่ต่างจากสัตว์ประหลาดบางตน"
ในขณะที่ ภาพยนตร์ กระสือสยาม ภาพยนตร์แอคชั่น แฟนตาซี ระทึกขวัญ ผลงานของผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ยังคงรูปร่าง หัวกับไส้ แต่กระสือถูกตีความเป็น สปีชีส์หนึ่งของสิ่งมีชีวิต
ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ กระสือสยาม เล่าถึงการสร้าง ผีกระสือ อีกครั้ง ว่า สนใจผีชนิดนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นผีที่รูปร่างแปลกมาก ตอนดูหนังก็กลัวมากๆ แล้วก็ไม่เคยคิดว่า ผีกระสือมีหัวกับไส้ที่เราเห็นในการ์ตูนนั้น พอมันเป็นหนัง แล้วทำให้เรากลัวได้ขนาดนั้น ซึ่งเวอร์ชั่นนี้
"ผมทำคล้ายกระสือเดิมนะ ถ้ามองรวมๆ แต่ถ้ามองในรายละเอียด เราจะเห็นว่ามันมีความแตกต่าง การตีความกระสือที่อยู่ในกรุงเทพ อยู่กันยังไงตอนกลางวัน เขาเป็นยังไง และในความเป็นจริง ถ้าเราสมมติว่า เขาทำอาชีพอะไร เขามีรายได้จากอะไร มันนำไปสู่ การอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ซึ่งบางเผ่าพันธุ์เขาก็มีชีวิตของเขา เขาเป็นเผ่าพันธุ์กระสือ เขาต้องหาทางอยู่ได้ในสังคม แล้วจะว่าไป กระสือในตำนาน เป็นผีที่ไม่น่ากลัวด้วย เป็นผีที่ไม่ทำร้ายคนด้วย"