ไม่พบผลการค้นหา
ผลพวงจากการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ จากยุค ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผบ.ทบ. หลังเกิดเหตุการณ์จ่าคลั่งกราดยิง จ.นครราชสีมา นำมาสู่การจัดระเบียบ ‘สวัสดิการเชิงธุรกิจ’ ของ ทบ. ที่เป็นเงินนอกงบประมาณ

หนึ่งในนั้นคือ ‘สนามม้าแข่งโคราช’ ที่อยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ที่ถูกปิดมาตั้งแต่ ก.พ. 2563 ภายหลังโควิดระบาด ปิดยาวมาถึง ส.ค. 2565 หลัง ‘ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงม้าแข่ง’ กดดัน ทบ. หลังประกาศเตรียมบุก บก.ทบ.ราชดำเนิน ยื่นหนังสือถึง ‘บิ๊กบี้’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตติแก้วแท้ ผบ.ทบ. ขออนุญาตเปิด ‘สนามม้าแข่งโคราช’ ชั่วคราว ระหว่างรอสนามแห่งใหม่สร้างเสร็จอีก 2 ปี หลัง ทบ. ได้เสนอให้ใช้ ‘พื้นที่ราชพัสดุ’ ที่กรมพลาธิการ ทบ. ใช้ประโยชน์อยู่ ประมาณ 170 ไร่ ที่ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ทำให้ทาง ทบ.ส่วนกลาง มอบหมายให้ ทภ.2 เข้าพูดคุยกับผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงม้าแข่ง จากพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ จ.นคราชสีมา จ.ขอนแก่น ซึ่งทางผู้ประกอบการฯ ได้ยื่นข้อเสนอจัดกิจกรมที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งม้าใน 3 ข้อ 1.จัดวิ่งทดสอบเวลาของลูกม้าใหม่ 2.จัดแข่งม้ากีฬาชิงแชมป์ประเทศไทย และ 3.การจัดแข่งม้าตามวงรอบปกติที่ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ให้มีการพนันม้าแข่งได้

ซึ่งในฝั่ง ทบ. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ แม้จะอนุญาตให้ใช้ ‘สนามกีฬาทหาร’ เฉพาะจัดแข่งม้ากีฬาชิงแชมป์ประเทศไทย และจัดวิ่งทดสอบเวลาของลูกม้าใหม่ โดยสามารถขออนุญาตใช้สนามได้เป็นกรณีๆไป และขอยกเว้นการ ‘จัดแข่งม้า’ ตามวงรอบปกติ ที่ไม่สามารถสนับสนุนให้ดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ไม่สนับสนุน การพนัน และสอดคล้องกับการดำเนินงานของสมาคมม้าแข่ง ที่ต้องการทำให้กีฬาม้าแข่ง เป็นเกมของกีฬา ยุติธรรม โปร่งใส และไม่มีการพนันมาเกี่ยวข้อง

ดังนั้นเท่ากับว่า ‘ข้อเสนอ’ ของผู้ประกอบการฯ ไม่ได้รับการตอบสนองทั้งหมด ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดคือการ ‘จัดแข่งม้า’ นั้นไม่ได้รับการตอบรับ ยังคงต้อง ‘ต่อรอง-วัดพลัง’ กันต่อไป ซึ่ง ทบ. เตรียมนำพื้นที่ไปทำสวัสดิการ ทบ. ทำสนามกีฬา ทภ.2 ให้กำลังพล-ประชาชนมาใช้ออกกำลังกาย ใช้ในโครงการอาชาบำบัด ใช้ในการฝึกทางทหาร เป็นต้น ตามที่ ทบ. ยืนกรานมาตั้งแต่ต้นว่าต้องปลอดการพนัน

ณรงค์พันธ์ ผบทบ  กองทัพบก ทหาร  58FB7372.jpeg

อย่างไรก็ตามหากย้อนไปเมื่อ 17 พ.ย. 2564 ภายหลังกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่ง ‘ผ่อนคลาย’ มาตรการโควิดจาก ศบค. สำหรับกิจกรรมการเล่นหรือแข่งขันชนไก่ กัดปลา แข่งม้า ชนโค ชกมวย และแข่งนก ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แต่สนามแข่งม้าโคราช ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดแข่งขันได้

ทำให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงม้าแข่งฯ เข้าร้องให้ ‘บิ๊กน้อย’พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายกสมาคมกีฬาม้าแข่งไทย เข้าช่วยเหลือ โดย พล.อ.วิชญ์ ได้ลงนามในหนังสือขออนุเคราะห์ใช้สนามม้าแข่งโคราช หรือ สนามกีฬา ทภ.2 ไปเมื่อ 8 ธ.ค.64 มายัง ทบ. ผ่าน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.จัดแข่งทดสอบม้าใหม่ 2.จัดการแข่งขันชิงแชมป์แห่งประเทศไทย 3.ขอบริหารสนามม้าเพื่อเป็นการจัดแข่งในระหว่างรอสนามม้าแห่งใหม่สร้างเสร็จ

ซึ่ง ทบ. ก็ได้รับเรื่องมา และมีการเดินเรื่องภายใน ระหว่าง กรมกำลังพล ทบ. - กรมส่งกำลังบำรุง ทบ. - กองทัพภาคที่ 2 ช่วงเดือน ธ.ค. 2564-ก.พ. 2565 จากนั้นได้ส่งไปยัง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. เพื่อทำการพิจารณาขั้นสุดท้าย แต่สุดท้ายเรื่องก็ไม่ได้รับการตอบรับ แม้ว่าทั้ง ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ กับ พล.อ.วิชญ์ จะเคยพูดคุยกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในเรื่องดังกล่าวก็ตาม

จึงถูกมองว่าเป็นการวัดพลังระหว่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับขั้ว พล.อ.ประวิตร เพราะจุดยืนของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ นั้นชัดเจน ที่ต้องการให้พื้นที่ทหารต้องปลอดการพนัน

หากย้อนดูเส้นทางการเติบโต พล.อ.ณรงค์พันธ์ เติบโตมาจาก ร.31 รอ. ไม่ได้เติบโตมาจากสายบูรพาพยัคฆ์ ไม่ได้ใกล้ชิดขั้วอำนาจ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ทำให้ภาพของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่มีเงา 3ป. หากเทียบกับ ผบ.ทบ. เมื่อครั้งยุค คสช. ที่ล้วนเป็นสายบูรพาพยัคฆ์ ทำให้ไม่ต้อง ‘เกรงใจ’ ในการตัดสินใจใดๆมากนัก

สำหรับ พล.อ.วิชญ์ อยู่ในวงการม้าแข่งมานาน โดยเฉพาะกับสนามม้านางเลิ้ง ซึ่ง พล.อ.วิชญ์ เคยมีตำแหน่งเป็น เลขาธิการราชตฤณมัยฯ ที่ขึ้นมาแทน ‘เสธ.อ้าย’พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ซึ่งในเวลานั้นมีการมองว่าขั้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ายึดอำนาจ ‘เสธ.อ้าย’ ก่อนที่สนามม้านางเลิ้งจะถึงจุดอวสาน

ย้อนไปสมัย พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา บิดาของ พล.อ.วิชญ์ เมื่อครั้งเป็น รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เคยเป็น ประธานคณะกรรมการอำนวยการแข่งม้า สนามม้านางเลิ้ง ทั้งนี้ พล.อ.ยศ คือผู้ที่ผลักดันให้ ‘เสธ.อ้าย’ มาเป็น ‘กรรมการแข่งม้า’ ก่อนได้รับเลือกจากคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้เป็น เลขาธิการกิตติมศักดิ์ และ ประธานอำนวยการแข่งขันม้า 

สำหรับ ‘เสธ.อ้าย’ เป็นเพื่อนกับ ‘เสธ.หนั่น’ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่เข้ามาสนามม้านางเลิ้ง เมื่อครั้งยศ ‘พันโท’ ย้อนกลับไปเมื่อครั้ง พล.ต.สนั่น เป็นนายทหารคนสนิทของ ‘เสธ.หลาด’ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ที่เข้ามาดูแลสนามม้านางเลิ้งช่วงปี 2518

ต่อมา ‘สนามม้านางเลิ้ง’ ถูกใช้เป็นที่วางแผนการยึดอำนาจ 26 มี.ค. 2520 ที่สุดท้ายกลายเป็น ‘กบฏ 26 มีนา’ จากนั้นได้รับการนิรโทษกรรม โดย พล.อ.ยศ ได้ให้ ‘เสธ.หนั่น-เสธ.อ้าย’ เข้ามาเป็น ‘กรรมการแข่งม้า’ 

วิชญ์ รวมแผ่นดิน  จำลอง 9419DA5B3D3.jpegวิชญ์ รวมแผ่นดิน  บุญญาพร 9-BC3F-DE06F1BD11F4.jpeg

ปัจจุบัน พล.อ.วิชญ์ ได้มาสร้างรังใหม่ ‘พรรครวมแผ่นดิน’ หลังเข้าเทกโอเวอร์ ‘พรรคพลังชาติไทย’ ของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคพลังชาติไทย ที่ล่วงลับไปเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่า พล.ต.ทรงกลด จะไม่ได้จบ ร.ร.นายร้อย จปร. แต่จบจากคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เคยเป็นสารวัตรทหาร เป็นนายทหารพระธรรมนูญ เคยทำงานอยู่กับ ‘เสธ.อ้าย’ มาก่อน จึงได้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายสนามม้านางเลิ้ง

ทั้งหมดนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ พล.อ.วิชญ์ ด่านแรก หลังขึ้นเป็น ‘หัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน’ ด้วยประสบการณ์ใน ‘วงการม้าแข่ง’ มายาวนาน จากเลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมฯ นายกสมาคมกีฬาม้าแข่งไทย ในการช่วยเหลือ ‘คนเลี้ยงม้า’

โดยเฉพาะการพูดคุยกับ ทบ. ในฐานะคนกลาง จนกว่าจะได้สนามใหม่ รวมทั้งช่วงเปลี่ยนผ่าน ‘วงการม้าแข่ง’ ที่เป็นกิจกรรมของ ‘คนสูงวัย’ มากกว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ต้อง ‘ปรับตัว’ ให้เข้ากับยุคสมัย เป็นเรื่องเชิงพาณิชย์มากขึ้น ลบภาพสีเทาในวงการนี้ ไม่เช่นนั้น ‘วงการม้าแข่ง’ ก็จะถูกตีวงแคบลง และทำให้ ‘ม้าแข่งไทย’ เป็นเพียงตำนานเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง