วันที่ 17 เม.ย. 2567 พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติไม่ลดดอกเบี้ยนนโยบาย ทั้งที่สภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังย่ำแย่ จีดีพีในไตรมาสแรกของปีนี้จะออกมาไม่ดี และจะทำให้ต้องปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีลดลง และเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่แล้วต่ำกว่าไตรมาส 3 แล้ว และเงินเฟ้อติดลบ 6 เดือนติดกัน ทำประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว
.
"แม้แบงก์ชาติจะอ้างว่าตั้งแต่พฤษภาคมปีนี้เงินเฟ้อจะดีขึ้น ซึ่งก็เพราะตั้งแต่พฤษภาคมปี 66 ที่ผ่านมา เงินเฟ้อไทยก็เริ่มย่ำแย่แล้วที่ 0.53% และก็อยู่ระดับต่ำมาตลอดจนกระทั่งติดลบในเดือนตุลาคมที่ - 0.31% และติดลบต่อเนื่องมาอีก 6 เดือน ดังนั้นถ้าครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะดีขึ้นก็เพราะปีที่แล้วเงินเฟ้อตั้งแต่พฤษภาคมก็ย่ำแย่อยู่แล้วไม่ได้แปลว่าสภาวะดีขึ้น" รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยกล่าว
.
พิชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้การที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อ้างว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายที่ 2.6% และ ปีหน้าจะขยายได้ 3% เป็นที่น่าพอใจ ทำให้สงสัยว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะกำหนดมากกว่า ธปท. จะมากำหนดและจะบอกว่าพอใจหรือไม่พอใจใช่หรือไม่ ธปท. ควรจะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางรัฐบาลมากกว่าที่จะตัดสินเองว่าเศรษฐกิจขยายตัวขนาดไหนถึงเหมาะสม เพราะรัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ 5% ตามศักยภาพที่น่าจะทำได้ แต่ ธปท. กลับเห็นว่าศักยภาพไทยอยู่เพียง 3% หรือลดศักยภาพไทยลงมาซึ่งไม่ตรงกับแนวทางของรัฐบาลและหากเป็นแบบนี้ไทยจะไม่สามารถเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้เลย
.
"เพราะขนาดขยายตัวปีละ 5 % ประเทศไทยต้องเวลาถึงประมาณ 20 ปีถึงจะเป็นประเทศรายได้สูงได้ ถ้าขยายตัวปีละ 2-3 % คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นประเทศรายได้สูง และการปรับโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายและการลดช่วงห่างของดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝาก (NIM) จะเป็นการปรับโครงสร้างของประเทศตามที่ ธปท. แนะนำเองด้วย" รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยกล่าว
.
พิชัยกล่าวอีกว่า ในหลายประเทศที่ธนาคารกลางเป็นอิสระ แต่ก็ต้องทำงานสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล อาจจะขัดกันได้บ้างในบางเรื่องแต่ไม่ใช่เรื่องหลัก หรือเรื่องที่เป็นนโยบาย โดยยืดประโยชน์ของประเทศและการกินดีอยู่ดีของประชาขนเป็นหลัก หากจะยึดความเป็นอิสระโดยไม่ได้มองเห็นประโยชน์ของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้สงสัยว่าธนาคารกลางยังควรจะเป็นอิสระต่อไปอีกหรือไม่ และควรต้องขึ้นกับรัฐบาลหรือไม่ เพราะจะได้ทำงานสอดคล้องกัน อย่างเช่นประเทศจีน ที่ธนาคารกลางประเทศจีนคงไม่ขวางแนวทางของรัฐบาลจีน เศรษฐกิจจีนก็ขยายตัวได้ดีมาตลอด หรือแม้กระทั่งประเทศสิงค์โปร์ที่เป็นประเทศรายได้สูงแล้วก็เป็นเช่นกัน
.
"ดังนั้นจึงอยากให้ ธปท. ได้ตั้งหลักคิดใหม่โดยยึดประโยชน์ของประเทศและความสุขประชาชนเป็นหลัก อย่าเพียงคิดแค่เพียงว่าเป็นอิสระแต่ประชาชนเดือดร้อนและเศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวไปถึงไหนเลย" รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยกล่าว
.
รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เสถียรภาพทางการเงินที่ ธปท. ชอบอ้างถึง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำมาตลอดเป็นเวลานาน ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ สุดท้ายปัญหาทางสังคมจะตามมาโดยเฉพาะอาชญกรรม การจี้ ปล้น เรียกค่าไถ่ ฯลฯ เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศในอเมริกาใต้ เมื่อถึงตอนนั้นเสถียรภาพก็จะไม่เกิด จะมีแต่ปัญหาทางเศรษฐกิจและอาชญกรรมตามมา
.
"ดังนั้นจึงอยากให้ ธปท. พิจารณาให้ครบทุกด้านอย่าเพียงอ้างเพียงกรอบคิดเดียวหรือเป็นอิสระอย่างเดียว ปัญหามากมายจะเกิดขึ้นตามมาได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นการขยายตัวเศรษฐกิจที่สูงจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น" รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยกล่าว
.