ไม่พบผลการค้นหา
ศาสตราจารย์อังกฤษตั้งข้อสังเกตเรื่องสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 'น้อยผิดปกติ' ขณะที่ตัวแทนหลายประเทศเพิ่งร่วมประชุมกับจีนเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว หวั่นเกิดการแพร่ระบาดแล้วอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะประเทศที่ใกล้ชิดกับจีน

นิตยสารไทม์ สื่อของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความชื่อ A Silent Epidemic? Experts Fear the Coronavirus Is Spreading Undetected in Southeast Asia เมื่อ 28 ก.พ.2563 อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ริชาร์ด โคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์เขตร้อน วิทยาลัยลอนดอน ที่ระบุว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ตัวแทนหลายประเทศได้ร่วมประชุมกับรัฐบาลจีนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อผนึกกำลังความร่วมมือในการต่อสู้และควบคุมโรคติดต่อ

โคเกอร์ระบุว่า รูปแบบการแพร่ระบาดของโควิด-19 คล้ายกับไข้หวัด ซึ่งหยุดยั้งได้ยาก แต่ในช่วงแรกที่ทราบข่าวเรื่องไวรัสดังกล่าว รัฐบาลหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยระบุว่าเชื้อโรคดังกล่าวไม่ได้ร้ายแรงและไม่เป็นภัยคุกคาม แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่าอาจเป็นเพราะรัฐบาลเหล่านี้ไม่ต้องการขัดแย้งกับจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค และเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19

ไทม์รายงานว่า ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น้อยมากจนน่าสงสัย โดยเฉพาะเมียนมาและลาวที่มีพรมแดนบางส่วนติดกับประเทศจีน แต่กลับไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อเลย เช่นเดียวกับบรูไน ติมอร์เลสเต และอินโดนีเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน

แม้อินโดนีเซียจะประกาศห้ามเที่ยวบินและนักเดินทางจากจีนเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นมา แต่ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียมีเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผู้เดินทางจากจีนเข้าอินโดนีเซียในช่วงนั้นไม่ได้ผ่านการตรวจสอบหรือคัดกรองใดๆ

ขณะที่ 'ทีเอช ชาน' นักวิจัยด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งข้อสังเกตว่า กัมพูชาและไทยพบผู้ติดโควิด-19 ไม่มากนัก แต่กัมพูชานั้นมีจุดยืนเข้าข้างจีนอย่างชัดเจน เพราะนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา เป็นคนหนึ่งที่ออกมาต่อต้านมาตรการสั่งแบนเที่ยวบินและนักเดินทางจากจีนเข้าประเทศต่างๆ ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ 


AFP-บรรยากาศเงียบเหงาในเมืองอู่ฮั่นที่ถูกปิดเพราะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ 23 ม.ค.2563.jpg

'โสภาล เอีย' ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของกัมพูชา ระบุ กัมพูชาอาจเป็นจุดอ่อนในภูมิภาค เพราะระบบสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพ มาตรการคัดกรองอ่อนแอ ทั้งยังมีประวัติ 'รัฐ' ปกปิดข้อเท็จจริง และหากรัฐบาลปิดบังเรื่องผู้ติดเชื้อจริง ประชาชนกัมพูชาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีกรณีของเรือสำราญเวสเตอร์ดัม ที่หลายประเทศ รวมถึงไทย ปฏิเสธไม่ให้เข้าเทียบท่า เพราะเรือเคยแวะจอดที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงแรกๆ แต่กัมพูชาอนุญาตให้เรือดังกล่าวเทียบท่าที่จังหวัดพระสีหนุ หรือสีหนุวิลล์ พร้อมทั้งระบุว่าตรวจคัดกรองผู้โดยสารและลูกเรือแล้ว ไม่พบผู้ใดติดเชื้อ แต่เมื่อผู้โดยสารชาวอเมริกันของเรือเวสเตอร์ดัมเดินทางไปต่อเครื่องบินที่สนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เจ้าหน้าที่กลับพบว่าหญิงคนดังกล่าวติดโควิด-19 จนต้องส่งตัวไปรักษาอาการที่โรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ASEAN Briefing รายงานว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บังคับใช้มาตรการควบคุมและระงับการเดินทางเข้าออกของเที่ยวบินและนักเดินทางจากประเทศจีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยบางประเทศห้ามผู้เดินทางจากจีนทั้งหมด แต่บางประเทศห้ามเฉพาะผู้เดินทางจากพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด ส่วนประเทศเมียนมา ลาว ไทย บรูไน ไม่มีคำสั่งห้ามหรือยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศของนักเดินทางจากจีน แต่ระบุว่าจะตรวจสอบและคัดกรองผู้เดินทางจากจีนอยางเข้มงวด

ขณะเดียวกัน The New York Times รายงานว่า กลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อในหลายประเทศแถบเอเชีย รวมถึงในไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ต้องเจอกับนักท่องเที่ยวจากจีนบ่อยครั้ง เช่น กรณีคนขับรถแท็กซี่ในไทย หรือคนขับรถทัวร์ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ต่างเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ของประเทศ จึงควรมีมาตรการตรวจสอบ คัดกรอง และป้องกันการติดเชื้อแก่คนกลุ่มนี้ด้วย