ไม่พบผลการค้นหา
หนังที่สะท้อนความฉาบฉวยของโลกยุครวดเร็วแบบทวิตเตอร์ และสวยเปลือกแบบอินสตาแกรม แต่ไม่ใช้น้ำเสียงเชิดชูหรือจิกกัด เพียงยอมรับว่าโลกของเราก็เป็นเช่นนี้แหละ

หากว่าถึงหนังแนว ‘นักร้องค้นฟ้าคว้าดาว’ เหมือนจะเป็นมุกตลกในวงการภาพยนตร์เลยว่าหนังจะมีสูตรค่อนข้างตายตัว ชนิดที่สามารถแยกเป็นข้อๆ ได้อย่างชัดเจน เช่นว่า หนึ่ง-ตัวเอกต้องฐานะยากจน มักอยู่ในชนบทแสนไกล สอง-พ่อแม่ของตัวเอกต้องไม่เห็นด้วยกับการเป็นนักร้อง แต่ลึกๆ แล้วก็แอบเชียร์ลูก สาม-จะต้องมีตัวละครตาลุงขี้เมาน่ารังเกียจมาเป็นโค้ชให้ตัวเอก มักเคยเป็นอดีตศิลปินดังผู้มีอดีตอันเจ็บปวด สี่-ต้องมีฉากตัวเอกหลงระเริงไปกับความสำเร็จจนหลงลืมบุคคลในข้อสาม และห้า-ไม่ว่าจะแข่งแพ้หรือใช้ชีวิตผิดพลาดแค่ไหน สุดท้ายตัวละครนำต้องชนะรางวัลใหญ่หรือได้เป็นศิลปินดัง

ภาพยนตร์เรื่อง Teen Spirit มีการดำเนินเรื่องทุกอย่างเหมือนห้าข้อที่กล่าวมา จนบทความนี้ไม่มีความจำเป็นต้องติดคำเตือน Spoiler alert แต่ประการใด ยอมรับกันตรงๆ กันว่าตอนที่ผู้เขียนดูตัวอย่างหนังเรื่องนี้ก็แอบปรามาสในใจไว้พอสมควรว่า โอ้โห ยุคนี้แล้วยังทำหนังประกวดร้องเพลงอยู่อีกหรือ พวกรายการอย่าง American Idol หรือ The Voice มันดรามาติกไปไกลถึงไหนต่อไปแล้ว แถมรายการพวกนั้นก็เหมือนจะหมดยุคไปแล้วด้วย

อย่างไรก็ดี Teen Spirit เป็นหนังที่ถูกจับตาพอสมควร หนังเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ แม็กซ์ มิงเกลล่า นักแสดงที่หลายคนอาจคุ้นหน้าจากซีรีส์ The Handmaid's Tale และเป็นลูกชายของ แอนโธนี มิงเกลล่า (The English Patient) ผู้ล่วงลับ ส่วนนักแสดงนำคือ แอล แฟนนิ่ง ดาราสาวที่แม้อายุเพียง 21 ปี แต่ก็ได้การยอมรับนับถือพอสมควร เสียงวิจารณ์ของ Teen Spirit ออกมากลางๆ ทำนองว่า “เป็นเรื่องที่ทุกคนเดาได้อยู่แล้ว” และส่วนใหญ่ก็ชื่นชมการแสดงของแฟนนิ่ง

ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ดังกล่าว แต่ก็คิดว่าหนังที่ดูซ้ำๆ เดิมๆ เรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่บางประการ สิ่งที่ผู้ชมหลายคนบ่นกันพอสมควรคือการที่ฉากร้องเพลงของหนังเกือบทั้งเรื่องถ่ายทำและตัดต่อเหมือนมิวสิกวิดีโอ ซึ่งนี่อาจจะเป็นหัวใจหลักของเรื่องก็ได้ เพราะฉากร้องเพลงพวกนี้ไม่ต้องการโชว์ว่านางเอกเสียงเทพหรือตั้งใจร้องเพลงแค่ไหน แต่เป็นการถ่ายทอดห้วงอารมณ์ความรู้สึกของเธอเสียมากว่า ดังนั้นฉากร้องเพลงจึงมีการแทรกทั้งฉากแฟล็ชแบ็กหรือแฟนตาซีเข้ามา

ฉากร้องเพลงอันหวือหวานี้สอดคล้องกับบรรดาเพลงที่หนังเลือกมาที่ล้วนเป็นเพลงอิเล็กทรอนิกเกือบทั้งหมด โดยปกติแล้วหนังประกวดร้องเพลงจะต้องมีฉากร้องเพลงบัลลาดซาบซึ้ง (มีการแซวประเด็นนี้ด้วยในฉากที่นางเอกบ่นกับตัวเองว่า “รู้งี้เลือกเพลงช้าดีกว่า”) แต่นักร้องใสซื่อเสียงบริสุทธิ์มันตกยุคไปแล้ว นี่คือยุคของนักร้องหญิงเซอร์ๆ เหวอๆ ไม่ทำตัวร่าเริงบนเวทีเอาใจคนดู ประเภท Lorde หรือ Lana del Rey หรือบรรดาเพลงของศิลปินหญิงที่หนังเลือกมาอย่าง Grimes หรือ Robyn ที่แนบสนิทไปกับคาแรกเตอร์ของนางเอก

หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง Vox Lux ที่เป็นหนังร้องเพลงเหมือนกัน (เข้าฉายบ้านเราเมื่อเดือนมีนาคม) ในเรื่องนั้นเป็นการรวมมิตรเหตุการณ์วายป่วงมากมาย ทั้งเหตุกราดยิงโรงเรียนโคลัมไบน์และโศกนาฎกรรม 11 กันยายน จน Vox Lux กลายเป็นหนังเพลงที่สะท้อนความฉิบหายของศตวรรษที่ 21 ส่วน Teen Spirit นั้นเป็นหนังที่สะท้อนถึงความฉาบฉวยของวงการเพลงและป๊อปคัลเจอร์ยุคทศวรรษ 10 ได้ดี โลกที่เคลื่อนไหวเร็วเป็นห้วงแบบทวิตเตอร์และสวยเปลือกแบบอินสตาแกรม ซึ่งดูเหมือนผู้กำกับไม่ได้จะทั้งเชิดชูหรือจิกกัด เพียงแต่นำเสนอว่ามันก็เป็นเช่นนี้แหละ

ถึงกระนั้นสิ่งที่ไม่ฉาบฉวยแน่นอนคือการแสดงของแฟนนิ่ง เธอเรียนร้องเพลงและเต้นอยู่ถึงสามเดือน เป็นนักแสดงอเมริกันที่ต้องแสดงเป็นคนอังกฤษเชื้อสายโปแลนด์ ดังนั้นทั้งการพูดและร้องเพลงเธอต้อง ‘สร้าง’ น้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา ยังไม่นับว่าเธอร้องเพลงได้ไพเราะพอสมควร รวมถึงการร้องเพลงยากๆ อย่าง Light ของ Ellie Goulding (ที่น่าจะใช้โพสต์โปรดักชันช่วยพอสมควร)

อาจไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงว่า แอล แฟนนิ่ง ถือเป็นใบหน้าโฉมหนึ่งของวงการภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 10 เธอปรากฏตัวในหนังสำคัญมากมาย เรื่องบังเอิญคือเธอมักจะอยู่ในหนังที่ถูกวิจารณ์ว่าผิวเผินหรือตื้นเขินอยู่บ่อยๆ อาทิ Somewhere (2010), The Neon Demon (2016) หรือ The Beguiled (2017) ซึ่งหลายครั้งความตื้นของหนังพวกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ราวกับผู้สร้างรู้ตัวดีว่าประเด็นของหนังมีขอบเขตเท่าไร และเลือกทำให้ดีในศักยภาพที่ตัวเองทำได้ แต่ในบรรดาหนังที่ว่ามานั้นแฟนนิ่งดูจะเป็นส่วนที่ ‘ลึกซึ้ง’ ของหนังอยู่เสมอ


** Teen Spirit เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป