วันที่ 6 กันยายน กระทรวงอาหารและสุขภาพ เสนอปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำพินัยกรรมชีวิต (living will) หรือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข (advance directive) ซึ่งเป็นการแสดงความประสงค์จะจากไปอย่างสงบ โดยแพทย์ไม่ต้องยื้อชีวิตเมื่อตัวเองป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงแก้กฎหมายอำนวยให้ประสงค์จะเสียชีวิตที่สถานดูแลผู้สูงอายุได้โดยสะดวกขึ้นด้วย
อัลเบิร์ต หล่ำ ที่ปรึกษากระทรวงอาหารและสุขภาพ กล่าวว่าการทำพินัยกรรมชีวิตเป็นมาตรการสำคัญที่เคารพของผู้ที่ใกล้จะเสียชีวิต เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยผู้ป่วยควรมีสิทธิตัดสินใจเองได้ว่าจะรับหรือปฏิเสธการรักษา
ทั้งนี้ การแสดงความประสงค์จะตายดีด้วยหนังสือแสดงเจตนาฯ คือความประสงค์จะตายตามธรรมชาติ เป็นคนละเรื่องกับการุณยฆาต (euthanasia หรือ mercy killing) ซึ่งเป็นการเร่งให้ตาย
ตามร่างกฎหมายที่เสนอปรับแก้นี้ ชาวฮ่องกงผู้ประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสติสัมปชัญญะปกติดี และจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ โดยมีพยาน 2 คน ซึ่งไม่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมรดกของผู้ป่วย และหนึ่งในนั้นต้องเป็นแพทย์
หนังสือแสดงเจตนาฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อผู้ป่วยกลายเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย อยู่ในสภาวะโคม่าที่ไม่สามารถเยียวยาได้ หรืออยู่ในสภาพผักถาวร (persistent vegetative state)
เมื่อแพทย์ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่ผู้ป่วยระบุไว้ จะได้รับการงดเว้นไม่ต้องรับโทษทางแพ่งและอาญาฐานฐานงดเว้นการรักษา ถึงแม้ว่าสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยจะคัดค้านก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ทว่าผู้ป่วยไม่สามารถปฏิเสธการดูแลรักษาพื้นฐาน การรักษาแบบประคับประคอง หรือร้องขอการุณยฆาตได้
ในฮ่องกงนั้น สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาฯ โดยถูกต้องตามกฎหมายได้มาตั้งแต่ปี 2006 ทว่าแม้จะทำได้ไม่ผิด แต่ก็ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย สำนักข่าวเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานว่าในปี 2018 โรงพยาบาลรัฐได้ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาฯ ของผู้ป่วยเพียง 1,557 คนเท่านั้น
หล่ำ ชี้ว่ามาตรการในในปัจจุันมีกฎระเบียบไม่ชัดเจน และยากต่อการจัดการ
"การทำให้แนวทางปฏิบัตินี้จะให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับบุคลากรทางการแพทย์ และเคารพต่อเจตนารมณ์ของผู้ป่วยที่ทำไว้ก่อนจะสูญเสียความสามารถในการแสดงความประสงค์ไป" หล่ำกล่าว
นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายใหม่ได้เอื้อให้ผู้ป่วยแสดงความประสงค์จะเสียชีวิตที่สถานดูแลคนชราได้สะดวกขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน หากมีการเสียชีวิตใดๆ ที่เกิดในบ้านพักคนชรานั้นจะต้องมีการรายงนาต่อเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ ขณะที่การเสียชีวิตที่บ้านนั้นไม่ต้องรายงาน หากผู้ป่วยได้รับการตรวจโดยแพทย์ในช่วง 14 วันก่อนเสียชีวิต
ทางกระทรวงฯ ต้องการลดความยุ่งยากในเรื่องนี้ ให้สถานดูแลผู้สูงอายุไม่ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ หากมีแพทย์ตรวจในช่วง 14 วันก่อนเสียชีวิตเช่นเดียวกับกรณีการเสียชีวิตที่บ้าน โดยหล่ำชี้ว่าว่า ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงในปี 2017 ระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุ ประสงค์จะใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่สถานดูแลคนชรามากกว่าที่โรงพยาบาล
อีกทั้งในปัจจุบัน ประชากรจำนวน 7.4 ล้านคนของฮ่องกงกำลังสูงอายุขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการประเมินว่าในปี 2066 ฮ่องกงจะมีผู้เสียชีวิคประมาณ 98,000 คนต่อปี เพิ่มจาก 46,700 ต่อปีในปี 2016 หากผู้ป่วยหนักชาวฮ่องกงทั้งหมดใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในโรงพยาบาล ปัญหาเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอจะย่ำแย่ขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
ทางกระทรวงฯ ได้เปิดรับการหารือสาธารณะให้ประชาชนส่งความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ผ่านทางเว็บไซต์ อีเมล แฟ็กซ์ หรือจดหมายได้จนถึงวันที่ 16 ธันวาคมนี้
สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีกฎหมายลักษณะนี้อยู่ โดย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”
เว็บไซต์ไทยลิฟวิงวิลล์ (ThaiLivingWill.in.th) เว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องสิทธิในวาระสุดท้ายโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้ว่าการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายกรณีไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วย และอาจทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานจากการใช้เครื่องกู้ชีพต่างๆ เช่น การเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการใช้อุปกรณ์อื่นๆ ยืดการตายออกไป แต่ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ จึงมีข้อดีทำให้ผู้ป่วยได้อยู่กับคนในครอบครัว ญาติมิตร หรือคนใกล้ชิด และเสียชีวิตอย่างสงบตามธรรมชาติ
คนไทยสามารถใช้สิทธิการตายตามธรรมชาตินี้ได้โดยเขียนความต้องการเป็นลายลักษณ์อักษรได้เลยว่าต้องการให้ทำ หรือไม่ให้ทำอะไรกับร่างกายบ้าง โดยไม่มีแบบฟอร์มตายตัว
ที่มา: SCMP / News.Gov.HK
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: