ไม่พบผลการค้นหา
ศาลไซเบอร์ หรือ Cyber Court ของจีน ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI พิจารณาคดีเกี่ยวกับดิจิทัลแทนผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์จริงๆ โดยช่วง มี.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาจากปัญญาประดิษฐ์พิจารณาคดีตลอด 24 ช.ม. - 7 วันต่อสัปดาห์ รวมแล้วกว่า 3.14 ล้านคดี

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลประชาชนสูงสุดของจีน เผยผลสรุปการทำงานของศาลไซเบอร์ในเมืองหางโจว พบว่าศาลแห่งนี้ช่วยรับเรื่อง พิจารณา และไต่สวนคดีดิจิทัลทั่วประเทศไปแล้วกว่า 3.14 ล้านคดี ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ต.ค. 2019 ที่ผ่านมา โดยอาศัยเทคโนโลยีสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์สมาร์ตโฟน เช่น WeChat เป็นช่องทางให้โจทก์และจำเลยยื่นเอกสาร รวมถึงรับฟังการไต่สวน-พิจารณาคดีโดยไม่ต้องเดินทางไปยังศาลจริง

นอกจากนี้ ศาลไซเบอร์ยังใช้เทคโนโลยี 'บล็อกเชน' ในกระบวนการรับคำร้อง รวมถึงการยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการไต่สวนคดี ซึ่งช่วยให้ขั้นตอนต่างๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังบันทึกข้อมูลการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาปัญญาประดิษฐ์ที่มีต่อโจทก์และจำเลยอย่างละเอียด สามารถตรวจสอบข้อมูลภายหลังได้ จึงถูกยกย่องว่าเป็นการส่งเสริมความโปร่งใส ยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้เข้ากับโลกยุคใหม่

หนี่เต๋อเฟิง รองประธานศาลอินเทอร์เน็ตของจีน ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ซึ่งได้รับเชิญเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของศาลไซเบอร์เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "การปิดคดีอย่างรวดเร็วเป็นความยุติธรรมอย่างหนึ่ง เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม"  

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 850 ล้านคน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คดีความไซเบอร์เพิ่มจำนวนขึ้น โดยคดีที่ถูกยื่นต่อศาลไซเบอร์ส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในสื่อออนไลน์ ข้อพิพาททางการค้าในธุรกิจออนไลน์ รวมถึงการขัดแย้งกันเรื่องสินค้าที่วางจำหน่ายในเว็บไซต์ด้านอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ

ผู้ที่ต้องการยื่นฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถลงทะเบียนต่อศาลไซเบอร์ผ่านทางแอปพลิเคชันสมาร์ตโฟนต่างๆ ได้ จากนั้นผู้ลงทะเบียนจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นฟ้อง-ดำเนินคดี รวมถึงการส่งหลักฐานและเอกสารประกอบ จากนั้นจะมีการส่งข้อความนัดหมายผู้เกี่ยวข้องในคดีมาให้ปากคำ โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านวิดีโอคอล

หลังจากนั้น ผู้พิพากษาที่เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะไต่สวนและพิพากษาคดีตามข้อมูลที่ได้รับ แต่ก็ยังมีผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์คอยให้คำปรึกษาและตรวจสอบกระบวนการตัดสินอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ยื่นเรื่องทั้งสองฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรม แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้พิพากษาเอไอสามารถพิจารณาและปิดคดีได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และ 7 วันต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ ศาลไซเบอร์ในเมืองหางโจว ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2017 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระงานของบุคลากรที่เป็นคนจริงๆ ในกระบวนการยุติธรรม และสาเหตุที่ตั้งศาลที่เมืองหางโจว เพราะเมืองนี้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ขึ้นชื่อเป็นอันดับต้นๆ ของจีน ทั้งยังตอบสนองความมุ่งมั่นของจีนที่ต้องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของโลก 

ปัจจุบัน รัฐบาลกลางของจีนได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานของศาลไซเบอร์ไปยังเมืองและเขตปกครองอื่นๆ ในอีก 12 มณฑลทั่วประเทศ

ที่มา: Japan Times/ VOA/ Xinhua/ Yahoo News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: